แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ก่อนเป็นออแพร์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ก่อนเป็นออแพร์ แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เลือก Host Family ที่ใช่ (4) สถานที่ตั้ง บ้าน อากาศ กฏของแต่ละครอบครัว

“…don’t worry as much about the family’s location in the United States…..  Au pairs find quickly that they fall in love with their new community no matter where it is…..”
https://www.aupaircare.com/stories/choosing-your-host-family

          บางเอเจ้นซี่จะบอกออแพร์อยู่เสมอว่า อย่ากังวลเรื่องจะไปอยู่ที่ไหน ให้ดูที่โฮสต์แฟมิลี่เป็นหลักว่าเราคุยแล้วถูกคอไหม จริงที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” แต่จะว่าปัจจัยด้าน Location จะไม่มีผลเลยก็ไม่ใช่ ขึ้นกับอยู่กับออแพร์ว่าเป็นคนแบบไหนด้วยนะคะ ถ้าออแพร์เป็นคนที่ชิลๆ และปรับตัวเก่ง หรือมีประสบการณ์ในการอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมาก่อนก็ดีไป แต่บางคนมีข้อจำกัด เช่น ขับรถไม่ได้ ไม่ชอบอยู่เมืองหนาว หรือไม่ชอบชีวิตเรียบง่ายแบบชนบท ฯลฯ ก็อาจจะทำให้เกิดการรีแมชขึ้นภายหลังได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะรีแมชบ่อยๆ หรอก ดังนั้นก็อย่าลืมพิจารณาปัจจัยข้อนี้ด้วยนะคะ

สภาพบ้านเมือง
1. City ในเมือง
https://specials-images.forbesimg.com/imageserve/5a8d8e084bbe6f2652f61ae9/960x0.jpg?fit=scale

         เช่น เมืองหรือรัฐที่มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น New York, Boston, Chicago, California, Miami (ในย่าน Downtownหรือ City นะ ไม่ใช่บอกอยู่นิวยอร์ก แต่เป็นเกาะLong islandไกลๆ) ฯลฯ ก็คงเปรียบได้คล้ายกับความเป็นกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ที่เมืองมีความทันสมัย เจริญ มีนักท่องเที่ยวมากมาย มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ พิพิธภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารนานาชาติ(รวมทั้งร้านอาหารไทย) มีการเดินทางที่สะดวกสบาย รถสาธารณะเข้าถึงทุกที่ หรือสามารถเดินเท้าได้ มีกิจกรรมสนุกสนานให้ทำตลอดปี มีแสงสีเมืองกรุงให้สัมผัส มีจำนวนออแพร์ในพื้นที่เยอะมาก สามารถชวนกันไปแฮงเอ้าท์ได้ตลอดเวลา ได้อารมณ์สีสันแห่งเมืองกรุง หางานเสริมทำง่าย เช่น ไปเลี้ยงเด็กบ้านเพื่อนออแพร์เป็นครั้งคราว (แต่ผิดกฏนะจ๊ะ อย่าให้จับได้ล่ะ) หาคลาสเรียนก็ง่ายด้วยเพราะมีจำนวนโรงเรียนมาก
https://i.pinimg.com/originals/e3/4f/0c/e34f0c4406d40a455d526494678aaeb3.jpg

          แต่ขณะเดียวกัน ค่าครองชีพก็สูงมาก (อย่าลืมว่าออแพร์ได้ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ) ค่าเรียนก็สูงมากด้วย หลายๆคลาสเกิน $500 ที่โฮสต์ให้ ออแพร์ต้องจ่ายส่วนที่เกินเอง การดำเนินชีวิตของผู้คนมีความรีบเร่ง วุ่นวาย รถติด มีhomelessและอาชญากรรมเยอะ (เพราะนักท่องเที่ยวมาก เป็นที่ต้องตาของมิจฉาชีพ) และขนาดบ้านในเมืองก็เล็กมากๆ หรือโฮสต์อาจจะอยู่เป็น Apartment/Condominium เราเคยไปนอนค้างบ้านโฮสต์ของเพื่อนใน Washington DC ทำเลดีมาก อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟเลย เดินทางสะดวก แต่บ้านเล็กมากๆ ขนาดห้องนอนออแพร์คือแค่เตียงนอนเล็กๆ 1 เตียงและมีพื้นที่ข้างเตียงให้เดินเป็นซอกเล็กๆเท่านั้นเอง กับอีกบ้านหนึ่งอยู่ใน Cambridge ใกล้ Harvard square มี 3 ชั้น แต่เป็นบ้านแบ่งเช่า ในหนึ่งหลังจึงมีครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกันถึง 3 ครอบครัว (ชั้นละ 1 ครอบครัว) บ้านเล็กมากจริงๆ (แต่ค่าเช่าแพงมาก) อาจไม่มีGarage จอดรถ ต้องจอดริมถนนหน้าบ้านเอา ดังนั้นถ้าออแพร์คนไหนต้องขับรถในเมืองต้องฝึกการจอดรถแบบถอยหลังเข้าซองไว้

2. Suburban กึ่งชนบท
https://www.newsmax.com/CMSPages/GetFile.aspx?guid=1b06b007-ad1e-467a-9d47-025a1ee83419&SiteName=Newsmax

          ที่นี่คือจะออกนอกเมืองมาหน่อย มีความผสมผสานระหว่างความเมือง-ชนบท บ้านก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นไปจนถึงใหญ่มากๆ บางบ้านก็จะอยู่ในหมู่บ้านเป็น gate community ก็จะดีที่มีความปลอดภัย เพราะมีรั้วหมู่บ้านที่ต้องใส่รหัสเข้า-ออก อาจมีClub house สระว่ายน้ำ หรือFitnessส่วนกลางให้ทำกิจกรรม การจราจรก็จะดีขึ้นกว่าในเมือง อาจจะติดแค่ช่วงRush hour ตอนคนไปทำงานและเลิกงาน มีลานจอดถกว้างขวาง สามารถจอดแบบเอาหน้ารถหรือหลังรถเข้าได้เลย ค่าครองชีพจะถูกกว่าในเมือง ค่าเรียนก็ถูกกว่า (เคยเรียนESL ที่ฟลอริด้าเทอมละ $30 แต่ที่บอสตัน $600-$1000) วิถีชีวิตผู้คนมีความสบายๆ ไม่ค่อยเร่งรีบ และเฟรนด์ลี่มากกว่าในเมือง มีoutletมากมายให้ซื้อสินค้าแบรนด์เนมได้ในราคาถูก

         แต่ข้อเสียคือ อาจจะไม่ได้สะดวกสบายเท่าในเมือง เช่นระบบขนส่งสาธารณะอาจไม่ถึง หรือมีรอบรถน้อย นานๆจะมาที สถานที่แต่ละแห่งอยู่ไกลกันไม่สามารถเดินถึงกันได้เหมือนในเมือง อาจจำเป็นต้องขับรถหรือนั่ง Uber ซึ่งจะแพง (ควรคุยกับโฮสต์ว่าเขาจะ support การเดินทางของออแพร์อย่างไร เพราะออแพร์ต้องไปเรียนด้วย ไปมีทติ้งประจำเดือนด้วย และอาจต้องพาเด็กๆไปทำกิจกรรมนอกบ้านด้วย) โรงเรียนอาจมีน้อยและอยู่ไกล Eventต่างๆ ไม่ค่อยมี

3. Urban ชนบท
https://i.pinimg.com/originals/cc/86/48/cc864837c59c72bdd7ee9528f8dec5cc.jpg

          คือพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ บางบ้านก็ตั้งอยู่บนเนินเขาเลย อากาศสดชื่นและวิวทิวทัศน์สวยงามมากๆ ใครรักสัตว์ รักธรรมชาติ และชอบชีวิตแบบ Slow life คงจะถูกใจ พื้นที่กว้างขวาง บ้านใหญ่โตมากๆ กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำได้ก็จำเป็นกิจกรรม Out door เช่น Hiking, ว่ายน้ำ, Apple picking, สกี เป็นต้น ค่าครองชีพก็ถูกมากๆ ผู้คนใจดี friendly ออแพร์ก็จะมีเงินเก็บเยอะ เพราะไม่ค่อยได้ออกไปสังสรรค์เท่าไร (ถ้าไม่หมดไปกับการช้ออปปิ้งออนไลน์นะ)

         แต่ถ้าใครไม่ชอบชีวิตชนบทอาจจะเบื่อ เพราะไม่ค่อยมีeventอะไรมากมาย มองไปทางไหนก็มีแต่ทุ่งหญ้า ป่าไม้ สายลม ภูเขา ทะเล และวัวควาย หรือทะเลทราย ใครที่อยู่ในชนบทจำเป็นมากที่จะต้องขับรถได้และโฮสต์ควรมีรถให้ออแพร์ใช้ส่วนตัว เพราะการเดินทางด้วยรถสาธารณะจะไม่ทั่วถึง และสถานที่แต่ละแห่งตั้งอยู่ไกลกัน

สถานที่สำคัญใกล้บ้าน
          ควรถามโฮสต์ถึงสถานที่สำคัญ สิ่งอำนวยความสะดวก และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน โรงเรียนของออแพร์และเด็ก สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ YMCA ห้างสรรพสินค้า ออแพร์ในละแวกใกล้เคียง สถานีรถไฟ/ป้ายรถบัส ร้านอาหาร Asian market Grocery โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา เป็นต้น

สภาพอากาศ  ยิ่งสูงยิ่งหนาว
https://graphical.weather.gov/images/conus/MaxT1_conus.png

         ภาพนี้เป็นแผนที่ในหน้าร้อน จะเห็นว่าทางตอนเหนือมีอุณหภูมิต่ำ (เย็น) กว่าทางใต้ ถ้าหน้าหนาวอุณหภูมิของรัฐทางตอนเหนือจะติดลบเลย
         รัฐที่หนาวมากๆ ได้แก่ Minensota, Wisconsin, Main, New Hamshire, Alaska เป็นต้น ใครจะไปอยู่ที่นี่ต้องเตรียมหาซื้อเสื้อโค้ท ถุงมือ ถุงเท้า หมวกกันหนาวไว้เลย เหมาะกับคนชอบสกี ฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้จะเปลี่ยนสีสวยงาม บางคนอาจจะไม่ชอบอากาศหนาวๆ ท้องฟ้าครึ้มๆ บางครั้งก็ทำให้ซึมเศร้าได้ และต้องระมัดระวังในการขับรถบนหิมะมากๆด้วย เพราะมันลื่นมาก
         ทางใต้จะร้อนกว่า รัฐที่ร้อนมากๆ ได้แก่ Texas, Arizona, Nevada มีทะเลทรายกว้างใหญ่
         ส่วน California และ Florida อยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก อากาศกำลังดี (ตอนบนจะเย็นกว่าตอนล่างหน่อย) คนเอเชียอยู่เยอะมาก ใครชอบทะเลสายลมแสงแดดก็มาได้
         ทางริมฝั่่งตะวันออก และตอนกลางบางส่วนจะเป็นแถบโซนภูเขา พื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ความกดอากาสต่ำ โดยเฉพาะColorado ทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่อยู่ไปนานๆ ร่างกายจะปรับตัว แล้วจะรู้สึกแข็งแรงกว่าคนอื่น พวกนักกีฬาที่อยากเก่งๆ ก็ต้องไปฝึกที่นี่แหละ เหมาะกับคนชอบHiking
         แต่ละรัฐก็จะมีปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติแตกต่างกัน เช่น รัฐทางเหนือก็จะเจอพายุหิมะ รัฐทางชายฝั่งทะเลก็จะมีเฮอริเคน แคลิฟอร์เนียมีไฟป่าทุกปี เป็นต้น

รูปแบบของบ้าน
1. บ้านเดี่ยว
          ข้อดีคือมีความเป็นส่วนตัว มีบริเวณกว้าง  ยิ่งบ้านอยู่ไกลเมืองเท่าไร ก็ยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่านั้น บ้านเดี่ยวมีทั้งแบบชั้นเดียว ไปถึง 3-4 ชั้น บางบ้านที่มีพื้นที่หน่อยจะมีสวนเล็กๆ บริเวณหน้าบ้าน และพื้นที่สวนหลังบ้านให้วิ่งเล่น บ้านเดี่ยวมีทั้งแบบอยู่ในซอยริมถนน อยู่ในหมู่บ้าน และเป็นบ้านสไตล์ย้อนยุคหรือคฤหาสน์ ขนาดห้องนอนของออแพร์จะมีตั้งแต่ขนาดเล็ก-ใหญ่ บางคนอาจจะได้ห้องนอนเป็นชั้นใต้หลังคา หรือครองชั้นใต้ดิน (Basement) ทั้งชั้นก็ได้ บางบ้านอาจมีประตูหลัง หรือประตูอีกบานสำหรับให้ออแพร์เข้าออกบ้านกรณีกลับดึกเพื่อไม่เป็นการรบกวนคนในบ้าน

2. อพาร์ทเม้นต์ หรือคอนโดมิเนียม 
          ส่วนใหญ่จะเป็นในเมือง และใกล้สถานีรถไฟฟ้า จะมีพื้นที่เล็กกว่าบ้านเดี่ยวมาก มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่ข้อดีคือมีความปลอดภัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สระว่าน้ำ fitness ลิฟต์ ห้องจัดกิจกรรม/งานเลี้ยง และด้วยพื้นที่เล็กจึงใช้เวลาทำความสะอาดไม่นาน และบางที่ไม่ต้องขนขยะลงมาทิ้ง เพราะจะมีปล่องสำหรับทิ้งขยะให้โยนขยะลงมาได้เลย แต่ข้อเสียสำหรับเราคือ ไม่สะดวกที่จะมาเพื่อนออแพร์มาบ้าน เพราะกว่าจะผ่าน Front desk หรือ Concierge เพราะเขาไม่ให้คนนอกเข้า และเสียงดัง ทำอะไรในบ้านได้ยินหมด ห้องนอนออแพร์ก็จะมีขนาดเล็กกว่า ห้องน้ำอาจเป็นห้องน้ำรวมกับโฮสต์ และไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเท่าไร เพราะต่างคนต่างอยู่แต่ในห้องของตัวเอง

จำนวนสมาชิกในบ้าน ญาติ
         เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะขนาดของบ้านและจำนวนสมาชิกในบ้านก็มีผลกระทบต่อกัน และบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของออแพร์ด้วย เช่น โฮสต์อยากให้ออแพร์เลี้ยงเด็กแบบหนึ่ง แต่ปู่ย่าตายายมาบอกให้ออแพร์ทำอีกอย่างหนึ่ง หรือสปอยล์เด็ก เป็นต้น
          ส่วนตัวเราไม่ชอบบ้านที่มีญาติอยู่ แต่ชอบที่มีญาติอยู่บ้านใกล้ๆ เพราะเผื่อเกิดต้องการความช่วยเหลือ และหากญาติอยู่ใกล้ๆ เขาจะสามารถมาเยี่ยมเด็กได้โดยไม่ต้องนอนค้าง และแต่ถ้าเขาอยู่ต่างรัฐ ต่างประเทศ เราจะต้องเดินทางไปหรือเขาจะเดินทางมาค้างที่บ้านโฮสต์ ซึ่งบางครั้งการมาค้างนานๆ หลายวันก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัดเหมือนกัน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของแต่ละคนด้วยนะคะ
          บางบ้านจ้างออแพร์สองคน มีพี่เลี้ยงเด็ก มีแม่บ้านอยู่ประจำ หรือมีเพื่อนมาค้างบ้านบ่อยๆ ต้องดูว่าเรารับได้ไหม อาจต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน หรืออาจอึดอัดเวลาเลี้ยงเด็ก แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีห้องส่วนตัวโดยเฉพาะสำหรับเราเท่านั้น

สัตว์เลี้ยง
          มีทั้งแบบไม่มีเลย หรือเลี้ยงแค่ปลาทองหนึ่งตัว, เลี้ยงหมา แมว สัตว์เลี้ยงทั่วไป, บ้านเป็นฟาร์ม ปศุสัตว์ และเลี้ยงสัตว์แปลกๆ เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลาน ออแพร์ต้องถามให้ละเอียดว่ามีสัตว์อะไรบ้าง และใครเป็นคนดูแล  เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบสัตว์ และ ถึงแม้โฮสต์จะบอกว่าออแพร์ดูแลแค่เด็กนะ ไม่ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงเขา (เป็นกฏด้วยนะคะ) แต่ด้วยความที่อยู่บ้านเดียวกัน ก็เลยต้องช่วยดูแลบางครั้ง แต่บางคนก็บอกว่าดีจะได้มีเพื่อน ได้พาหมาออกไปเดินเล่น ขึ้นอยู่กับความชอบแต่ละคน แต่ก็มีเหมือนกันโฮสต์ที่ถือโอกาสให้ออแพร์ช่วยเลี้ยงสัตว์ ทำฟาร์มฟรีๆ เช่น ต้องให้อาหารและเปลี่ยนน้ำดื่มให้สุนัข และพาออกไปเดินเล่นวันละ 2 ครั้ง เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่งคือสัตว์แปลกๆหรือสัตว์อันตราย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและตัวออแพร์เองด้วย บางทีเด็กไปเปิดกรง งูเลื้อยออกมาเข้าห้องนอนก็น่ากลัวนะ

ห้องนอน ห้องน้ำของออแพร์ เด็ก โฮสต์
         ตอนคุยสไกป์กันออแพร์สามารถขอดูห้องนอนของออแพร์ได้นะคะ ดูขนาดเตียงนอน ขนาดห้องนอน ของอำนวยความสะดวกในห้อง เช่น เครื่องปรับอากาศ(ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบส่วนกลาง คือปรับทีทั้งชั้นเลยเหมือนห้างสรรพสินค้า ไม่ได้เป็นแอร์แยกห้องละตัว) เครื่องทำความร้อน (heater) เครื่องพ่นละอองฟองน้ำ (humidifier) เพราะว่าอากาศที่นั่นต่างจากเมืองไทยมาก เวลาหนาวก็หนาวมากๆ และทำให้ผิวแห้ง บางครั้งอากาศแห้งจนเลือดเกาเดาไหลเลย เวลาร้อนก็ร้อนจริงๆ ต้องบอกให้โฮสต์เข้าใจถึงความจำเป็นไม่ใช่ว่าเราจะเรียกร้องมากเกินไป บางบ้านก็จะมีโทรทัศน์ส่วนตัวให้ออแพร์ด้วย ส่วนเรื่องเตียงนอน จริงๆเราเป็นคนไม่ซีเรียสนอนตรงไหนก็ได้ แต่พอได้มาเป็นออแพร์เป็นปีเราก็ตระหนักได้ว่า เตียงนอนก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเราทำงานกับเด็กมาทั้งวัน เหนื่อยๆ ก็อยากพักผ่อนบนเตียงที่นอนสบาย ช่วยให้หายเหนื่อยล้า ไม่ใช่เตียงแข็งๆ เล็กๆ ยิ่งนอนยิ่งปวดเมื่อย เคยกลิ้งตกจากเตียงด้วย
https://decor.mthai.com/app/uploads/2018/05/800_thumbnail_attic_great_ideas_05_2018.jpg

          ห้องใต้หลังคา ขึ้นอยู่กับลักษณะของบ้าน บางบ้านชั้นใต้หลังคาจะเตี้ยกว่าชั้นอื่นๆ หน่อย บางบ้านก็จะสูงโปร่งกว่าชั้นอื่นๆ มีหน้าต่างกระจกมองเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืน นอนดูดาวได้เลย โรแมนติกมาก ตอนกลางวันห้องก็สว่างไสวด้วยแสงแดดที่ส่องเข้ามา ไม่ต้องเปิดไฟเลย
http://decoration.leadsgenie.us/wp-content/uploads/2018/08/basement-ideas-with-low-ceilings-basement-lighting-ideas-unfinished-ceiling-finished-basement-ideas.jpg

          ชั้นใต้ดิน ส่วนใหญ่ออแพร์จะได้สิทธิครองชั้นใต้ดินทั้งชั้นหรือบางส่วน มีอุปกรณ์อำนายความสะดวกต่างๆ และแบ่งเป็นหลายๆห้อง เหมือนชั้นบน อาจไม่มีหน้าต่าง
          ห้องน้ำ ต้องถามโฮสต์ด้วยนะคะว่าห้องน้ำนี้เป็นส่วนตัวเฉพาะสำหรับออแพร์ หรือว่าต้องใช้รวมกับเด็กและโฮสต์ ส่วนใหญ่ออแพร์จะได้ใช้ห้องน้ำที่รวมกับเด็กเท่านั้น (โฮสต์ใช้อีกห้องหนึ่ง) หรือใช้รวมกับแขกเท่านั้น กรณีมีแขกมาบ้าน มีน้อยมากที่จะให้ใช้รวมกับโฮสต์ ซึ่งเราว่าก็ไม่ค่อยสะดวกเท่าไร แต่ถ้าไม่ซีเรียสก็ได้จ้า เพื่อนเราอยู่บ้านเล็กๆ มีห้องน้ำห้องเดียวใช้รวมกันทั้งบ้านเลย

กฏต่างๆ ของบ้าน
ก่อนแมตช์อย่าลืมคุยข้อตกลงเรื่องกฏต่างๆ ของบ้านให้ดี เช่น

  1. บางบ้านเน้นความสะอาดและความเป็นระเบียบมากๆ ทำอะไรเสร็จต้องเก็บไว้ที่เดิม หลังใช้อ่างล่างมือต้องเช็ดให้แห้ง ไม่ให้มีน้ำหยดรอบๆ อ่าง บางบ้านจะมีแม่บ้านมาทำความสะอาดที่บ้าน1-3อาทิตย์/ครั้ง บางบ้านไม่มีออแพร์ก็ทำความสะอาดแค่ส่วนที่เกี่ยวกับเด็กและห้องนอนออแพร์เท่านั้น (ออแพร์มาเลี้ยงเด็กนะจ๊ะ ไม่ได้มาเป็นแม่บ้าน)
  2. กำหนดเวลาเคอร์ฟิวว่าห้ามกลับบ้านเกินกี่โมง เช่น ห้ามเกินเที่ยงคืน หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเวลาเริ่มงาน หรือมีกฏว่าหลังกี่โมงห้ามส่งเสียงดัง 
  3. การให้เพื่อนมาค้างที่บ้าน และการที่ออแพร์ไปค้างบ้านเพื่อน
  4. เรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะบ้านที่แพ้อาหาร หรือมีข้อห้ามทางศาสนา บางบ้านจะบอกไว้เลยว่าห้ามทำอาหารที่มีกลิ่นแรง
            ตามกฏโฮสต์จะต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน แต่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม บางบ้านจะกำหนดเลยว่าออแพร์ต้องทำอาหารไทยให้โฮสต์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ส่วนวันที่เหลือโฮสต์จะเป็นคนทำ ถ้าโชคดีหน่อยคือออแพร์ไม่ต้องทำอาหารเลยหรือทำแค่ส่วนสำหรับตนเองและเด็กเท่านั้น บางบ้านจะมีธรรมเนียมว่าถ้าโฮสต์ทำอาหาร ออแพร์จะช่วยเก็บจานชามล้าง ถ้าออแพร์ทำ โฮสก็เป็นคนเก็ยล้างสลับกัน ควรถามด้วยว่าโฮสต์ไปซื้อวัตถุดิบทำอาหาร(Grocery)เข้าบ้านอย่างไร บ่อยแค่ไหน บางบ้านสั่งออนไลน์ บางบ้านขับรถไปซื้อทกอาทิตย์ บางบ้านให้ออแพร์ไปซื้อแล้วเอามาเบิก(จริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เพื่อนออแพร์บางคนก็แฮปปี้ที่จะทำ) บางบ้านโฮสต์ายเป็นbudget money ให้สัปดาห์ละเท่าไรก็อยู่ที่ตกลงกัน หรือให้บัตรเครดิตออแพร์มาไว้ใช้ซื้ออาหารสำหรับตัวเองและเด็กๆ และเติมน้ำมันเลยไม่ต้องคอยมาเบิก
  5. การใช้รถ บางบ้านที่ต้องขับรถให้เด็ก หรือแถวนั้นรถสาธารณะเข้าถึงไม่สะดวก โฮสต์ควรจะมีรถให้ออแพร์ไว้ขับเพื่อไปทำกิจกรรมกับเด็ก ไปmeetingประจำเดือน ไปโรงเรียน เป็นต้น ควรถามว่าโฮสต์มีรถให้ใช่แค่กรณีในเวลางานเท่านั้นหรือให้ใช้ส่วนตัวด้วยได้ เป็นรถแบบไหน ให้ออแพร์ใช้โดยเฉพาะ หรือต้องแชร์กับโฮสต์ เบิกค่าน้ำมันอย่างไร (กรณีใช้ส่วนตัวออแพร์ควรจ่ายค่าน้ำมันเอง) โฮสต์จะต้องเพิ่มชื่อออแพร์เข้าในประกันรถยนต์ให้ เรื่องใบขับขี่ขึ้นอยู่กับกฏหมายแต่ละรัฐ บางรัฐสามารถใช้ใบขับขี่สากลได้เลย บางรัฐต้องไปสอบใบขับขี่ของรัฐ
  6. การใช้โทรศัพท์มือถือขณะเลี้ยงเด็ก บางบ้านจะมีกฏบอกไว้ชัดเจนว่าห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะเลี้ยงเด็ก บางบ้านก็ไม่เข้มงวดมาก แต่คงไม่ดีถ้าออแพร์จะมัวแต่ก้มหน้าเล่นมือถือไม่สนใจลูกเขา เรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก บางบ้านโฮสต์จะใจดีมีโทรศัพท์มือถือให้ยืมและจ่ายค่าโทรศัพท์ให้ด้วย
            *ระวัง โฮสต์บางคนจะติดตั้งโปรแกรมตรวจจับและเช็คข้อมูลโทรศัพท์ที่ให้ออแพร์ใช้เพื่อติดตามดูพฤติกรรมและข้อมูลส่วนตัว
  7. กล้องวงจรปิดในบ้าน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย โฮสต์บางบ้านจะมีกล้องวงจรปิดติดไว้นอกบ้านและในบ้าน เช่น ในห้องเด็ก ห้องนั่งเล่น แต่ก็มีบางบ้านที่ไม่ไว้ใจออแพร์และติดกล้องไว้ในบ้านเพื่อคอยจับตาดูพฤติกรรมออแพร์ ซึ่งLCCเคยบอกเราว่าผิดกฏหมายเพราะโฮสต์แอบดูและดักฟังเสียงของเรา และไม่ได้บอกเราก่อนแมตช์ แต่เราไม่ได้อะไรมากเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถ้าโฮสต์ติดกล้องในห้องน้ำหรือห้องนอนของออแพร์สามารถแจ้งตำรวจจับได้เลย

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เลือก Host Family ที่ใช่ (2) ตารางงานและหน้าที่รับผิดชอบ

https://cdn1.vectorstock.com/i/thumb-large/29/25/mother-and-father-with-children-happy-family-vector-9922925.jpg

ปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาก่อนแมตช์ (match) กับโฮสต์

1. ปัจจัยเกี่ยวกับเด็ก (Host Kid) : จำนวนเด็ก อายุเด็ก เพศของเด็ก เด็กพิเศษ
         👉อ่านต่อที่ https://aupairniceinusa.blogspot.com/2018/04/choosehostfamily.html

2. ตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบของออแพร์
อย่างที่บอกอยู่เสมอคือเราต้องแม่นเรื่องกฏนะคะ จะได้ไม่ถูกโฮสเอาเปรียบ
          (1) ออแพร์ทำงานไม่เกินวันละ 10 ชม. รวมกันไม่เกินสัปดาห์ละ 45 ชม. ทำน้อยกว่านี้ได้ แต่ทำเกินไม่ได้จ้า ผิดกฏ
การนับชั่วโมงการทำงานคือนับทุกเวลาที่เราต้องทำงาน และเวลาที่เราอยู่กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะนอนกลางวัน (nap) เพราะถ้าเราต้องอยู่บ้านกับเด็ก ออกไปไหนไม่ได้ ก็ถือว่านั่นอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของเราอยู่ คือเวลาทำงานค่ะ
          ออแพร์บางคนต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียน ถ้าโรงเรียนอยู่ไกลกว่า 5-10 นาที เราควรนับเป็นชั่วโมงทำงานค่ะ ตัวอย่างเช่น ต้องขับรถไปโรงเรียน 30 นาที ตอนขับไปส่งถึงโรงเรียนตอน 8:00 am ส่งเสร็จได้พัก ออแพร์จะไปไหนก็ได้ บางคนก็อาจนับชั่วโมงทำงานสุดถึงแค่ 8:00 am ตอนบ่ายต้องไปรับน้องให้ทัน 3:00 pm แสดงว่าต้องออกจากบ้านเวลา 2:30 pm ก็นับเวลาทำงานตั้งแต่ 2:30 pm เป็นต้นค่ะ แต่บางบ้านโฮสต์ที่ดีๆจะนับเวลาเผื่อในการขับรถส่งเด็กทั้งไปและกลับให้เลย
          (2) มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1.5 วัน วันไหนก็ได้ติดกัน ไม่จำเป็นต้องตรงเสาร์อาทิตย์ ตัวอย่างเช่น ทำงานถึงเย็นวันพุธ ได้หยุดวันพฤหัสเต็มวันและวันศุกร์ครึ่งวันเช้า เริ่มทำงานอีกทีศุกร์บ่าย เป็นต้น
          (3) การนับชั่วโมงทำงาน นับเป็นสัปดาห์ๆ ไป จบ ไม่มีการเอาชั่วโมงทำงานสัปดาห์นี้ไปทบสัปดาห์หน้า เช่น สัปดาห์นี้ทำงานแค่ 30 ชั่วโมง จะเอา 15 ชั่วโมงไปเพิ่มให้สัปดาห์หน้าาทำงาน 60 ชั่วโมงไม่ได้นะคะ
          (4) ใน 1 เดือนต้องได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ (Full weekend) อย่างน้อย 1 ครั้ง
          (5) วันหยุดพักร้อน (Vacation) รวมวันหยุดที่หยุดปกติทุกสัปดาห์แล้ว 14 วัน/ปี และได้เงินรายสัปดาห์ปกติเหมือนตอนทำงาน ซึ่งจะได้หยุดวันไหนก็แล้วแต่ตกลงกับโฮสต์ ถ้าจะให้ยุติธรรมเลยคือให้โฮสต์เลือก 1 สัปดาห์ ออแพร์เลือก 1 สัปดาห์ และขอให้โฮสต์แจ้งล่วงหน้าด้วยนะคะ เพราะเวลาจองงตั๋วกระทันหันมันแพงมากกกก โฮสต์บางบ้านก็จะแบ่ง Vacation เป็นย่อยๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับตกลงกัน
          ถ้าสมมุติตกลงเรื่อง Vacation เรียบร้อยแล้ว แต่โฮสต์ไปเที่ยวต่างรัฐ ต่างเมืองในวันอื่นๆ นอกเหนือจากวันที่ตกลงกันไว้แล้วไม่เอาออแพร์ไปด้วย ถือว่านั่นคือ Extra vacation ของออแพร์ค่ะ และโฮสต์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ เพราะโฮสต์ไม่อยากเอาออแพร์ไปเอง ออแพร์ไม่ได้ขอ โฮสต์อาจจะมาขอว่าให้สัปดาห์นั้นเป็น Vacation แทนวันที่ออแพร์เลือกไว้ได้ไหม ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนก็บอกไปเลยว่าไม่ได้ Plan เที่ยวทุกอย่างไว้หมดแล้ว ไม่ต้องเกรงใจค่ะ
          เราชอบถามโฮสต์ว่าถ้าออแพร์ต้องไป Vacation ใครจะเลี้ยงเด็ก อันนี้ช่วยให้เราประมาณได้ว่าเราควรบอกโฮสต์เรื่อง Vacation ของเราล่วงหน้านานเท่าไร เพราะถ้าโฮสต์ต้องลางานมาเลี้ยงลูก เราก็ควรจะแจ้งล่วงหน้านานๆ บางทีโฮสต์ก็จะบอกเองว่าให้แจ้งล่วงหน้าเมื่อไร
          (6) วันหยุดนักขัตฤกษ์ (Holiday) ไม่มีกฏว่าออแพร์จะได้หยุด แต่ถ้าโฮสต์น่ารักก็จะให้ออแพร์ได้หยุดค่ะ เช่น 4th of July, Labor day
          (7) วันที่ออแพร์ป่วย โฮสต์ห้ามหักเงินนะคะ ต้องจ่ายปกติ ไม่มีกำหนดว่าลาป่วยได้กี่วัน แต่ถ้าหลายวันมากๆ มีผลกระทบกับโฮสต์ โฮสต์ต้องเสียเงินจ้างพี่เลี้ยง (Nanny) ด้วย แล้วยังต้องเสียเงินให้ออแพร์ที่ลาป่วยด้วยหลายวัน โฮสต์คงพิจารณาเปลี่ยนออแพร์ค่ะ หรือถ้าป่วยหนักมาก เอเจ้นซี่จะพิจารณาให้ออกจากโครงการและกลับประเทศค่ะ
          (8) กรณีบางบ้านโฮสต์จำเป็นต้องให้ออแพร์ทำงานเกิน 45 ชั่วโมง และออแพร์ยินยอม (ผิดกฏแต่ก็แอบทำได้นะคะ แบบไม่ให้ที่ปรึกษาและเอเจ้นซี่รู้) โดยต้องตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะจ่าย Extra / OT ชั่วโมงละเท่าไร ซึ่งไม่ควรน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ 
         👉 คลิกดูรายละเอียดค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละรัฐได้ที่นี่ 
          (9) อันต่อมาคือพิจารณาว่าตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ดูความเป็นไปได้ด้วย เพราะบางบ้านมีเด็กหลายคน ต่างวัยกัน แล้วอย่าลืมว่าออแพร์รับผิดชอบแค่เฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และงานบ้านเล็กน้อยที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้น 
           บางบ้านให้ออแพร์ทำทุกอย่าง เป็นทั้งพี่เลี้ยงเด็กด้วย ครูสอนภาษาด้วย ทำอาหารให้ทุกคนในบ้านด้วย ทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วย อย่างใช้ให้ออแพร์เสื้อผ้าโฮส หรือล้างจานชามให้โฮสต์ทุกมื้อทั้งๆ ที่ออแพร์ก็ไม่ได้กินด้วย หรืองานบางอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจโครงการและความเห็นแก่ตัวของโฮส อย่างเช่น ให้ออแพร์ดูดฝุ่นทั้งบ้านเพราะเด็กเดินไปทั่วทั้งบ้าน (อ้างว่าเป็นงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก) ให้ล้างของเล่นเด็กทุกวัน (อาทิตย์ละครั้งพอว่า) ให้ล้างจานและซักผ้าด้วยมือเท่านั้น เป็นต้น แบบนี้เราจะรีบปฏิเสธทันที
          ตัวอย่างตารางงานที่เราไม่ชอบมากๆ คือ ตารางงานแบบโฮสต์เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย นับทุกนาทีไม่ให้ขาดให้เกิน 45 ชั่วโมง หรือให้ตื่นเช้ามาก แล้วพักกลางวัน 1 ชั่วโมง แล้วทำงานต่อจนครบ 10 ชั่วโมง เพราะออแพร์จะไปไหนไม่ได้เลย เหมือนไม่ได้พักเลยด้วย แค่กินข้าวเสร็จก็หมดเวลาเดี๋ยวต้องทำงานต่ออีกละ
          (10) อย่าลืมว่าต้องมีเวลาให้ออแพร์ไปเรียน และไป Meeting แต่ละเดือนด้วย โฮสต์จะมาอ้างว่าต้องดูแลเด็กไม่ได้ ต้องให้เวลากับออแพร์ในการเรียนและมีทติ้ง
          (11) ที่ไม่ชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ตารางงานเปลี่ยนบ่อย ไม่แจ้งล่วงหน้า เอเจ้นซี่ชอบโฆษณาให้โฮสต์ว่าข้อดีของออแพร์คือ Flexible 
          มีเพื่อนออแพร์ที่โฮสต์ให้ทำงานสัปดาห์ละไม่ถึง 30 ชั่วโมง แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกอาทิตย์ เพราะโฮสต์ทำงานเป็นกะ ซึ่งถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ตอนแรกๆ เพื่อนก็มีความสุขดี พออยู่ๆไป ด้วยหน้าที่การงานของโฮสต์ ทำให้โฮสต์ไม่มีเวลาดูแลลูก จึงให้ออแพร์ทำงานเพิ่มขึ้นๆ สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เพื่อนไม่แฮปปี้แล้ว เพราะ 45 ชั่วโมงนี่ถือว่างานหนักเลยนะมากกว่ากฏหมายแรงงานของอเมริกาอีก แล้วตารางานยังเปลี่ยนบ่อย บางครั้งไม่รู้ล่วงหน้าเลยด้วยซ้ำ จะนัดเพื่อนไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ จู่ๆวันนี้โฮสต์กลับเร็วให้เลิกเลย แล้วเอาเวลาไปโปะวันเสาร์อาทิตย์แทน ทั้งๆที่โฮสต์ให้หยุด Full weekend แค่เดือนละครั้งเท่านั้น 
          อีกกรณีหนึ่ง เพื่อนออแพร์คนนี้ได้หยุดทุกวันเสาร์อาทิตย์เป็นประจำ แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกสัปดาห์และโฮสต์ไม่ยอมบอกตารางงานของสัปดาห์ถัดไปจนวินาทีสุดท้าย บางครั้ง ดึกๆดื่นๆวันอาทิตย์เพิ่งจะส่งข้อความมาบอกว่าพรุ่งนี้ทำงานกี่โมง เป็นแบบนี้ทุกสัปดาห์
          เราจะชอบตารางงานที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เราจะถามโฮสว่าตารางเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน (How often do you change the schedule?) ถ้าต้องการเปลี่ยนสามารถบอกล่วงหน้าได้นานแค่ไหน (If you need to change my shcedule, how long can you tell me in advance?) 
          (12) ที่ต้องระวังอีกอย่างคือ โฮสต์ที่ใส่ตารางงานมามั่วๆ ให้มันไม่เกิน 45 ชั่วโมงพอ ใส่เหมือนกันทุกวัน ไม่ใส่รายละเอียดงานให้ ตัวอย่างเช่น 7:00am – 4:00 pm Monday – Friday : Take care 2 kids and do light households จบ แบบนี้ต้องซักให้ละเอียดเลยว่าหน้าที่ตั้งแต่ 7โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็นต้องทำอะไรบ้าง ตารางงานบางครั้งก็เปลี่ยนแปลงตามเด็ก เช่น เดือนนี้เด็กปิดเทอม เดือนนั้นมีคลาสเสริม เราต้องถามให้ละเอียดมากๆ ช่วงเด็กปิดเทอมอยู่บ้านเป็นอะไรที่เหนื่อยที่สุดแล้ว
          (13) และด้วยวัฒนธรรมของฝรั่งคือจะมีวันที่พ่อแม่ไปเดทกันสองต่อสอง ให้ออแพร์ดูแลลูกอยู่บ้าน ที่เรียกว่า Date Night ส่วนใหญ่จะเป็นคืนวันศุกร์ เราจะต้องถามเผื่อไว้ด้วยว่าโฮสต์ไปเดทไนท์บ่อยแค่ไหน ถ้าให้ออแพร์ดูเด็กระหว่างที่โฮสต์ไปเดทจะนับชั่วโมงทำงานอย่างไร หน้าที่ที่ต้องทำก็จะต่างไปจากตอนกลางวันด้วย โฮสต์ต้องอธิบายว่าออแพร์ต้องทำอะไรบ้าง โฮสต์จะกลับกี่โมง
          (14) สุดท้าย ถ้าโฮสต์มีความจำเป็นต้องกลับบ้านช้าหรือให้ออแพร์ทำงานเกินชั่วโมง เช่น กรณีเด็กป่วยไม่ได้ไปโรงเรียน ออแพร์ต้องดูแลเด็กทั้งวันจนกว่าโฮสต์จะกลับบ้าน จะให้หักลบชั่วโมงทำงานของวันอื่นอย่างไร เช่น วันต่อไปเริ่มงานช้า หรือเลิกงานเร็วขึ้นได้ไหม หรือว่าจะจ่ายเป็นextraเท่าไร (ทำ OT ผิดกฏนะคะ แต่แอบทำไม่ให้เอเจ้นซี่รู้ได้) หรือว่าไม่เกินแน่นอนเพราะมีญาติ/พี่เลี้ยงประจำคอยดูแล

หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเรา บางคนบอกว่าเราควรถามทุกอย่างให้เคลียร์ ถ้าให้โฮสต์พิมพ์มาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ยิ่งดี เวลาทำงานแต่ละวันก็ให้บันทึกชั่วโมงทำงานไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง 
          แต่บางคนก็เห็นว่าไม่ควรถามขนาดนี้ เพราะอะไรอลุ่มอล่วยได้ก็ควร เพราะอยู่กันเป็นครอบครัว โฮสต์อาจจะมองว่าเราเอาแต่ได้ไม่ยอมเสียเปรียบหรือเปล่า 
          ในความคิดเรา เราคิดว่าแต่ละคนจะมีเทคนิคการถามคำถามเหล่านี้ที่ทำให้ไม่ดูน่าเกลียดจนเกินไป และการป้องกันดีกว่าต้องมาแก้ไขภายหลัง คำถามพวกนี้เป็นการประเมินด้วยว่าโฮสต์เข้าใจโคงการดีแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยอมให้เขามาเอาเปรียบง่ายๆ นะ  มีโฮสต์หลายบ้านที่ละเมิดกฏพวกนี้โดยอ้างว่า “Part of Family” และมีออแพร์หลายคนที่ยอมให้โฮสต์เอาเปรียบเพราะความกลัว กลัว LCC จะว่าว่าไม่อดทน กลัวว่าโฮสต์จะรีแมช กลัวว่าโฮสต์จะเปรียบเทียบกับออแพร์คนเก่า กลัวว่าโฮสต์จะไม่ช่วยเรื่องเปลี่ยนวีซ่า ฯลฯ ทนจนจบโครงการ แล้วทำให้โฮสต์เข้าใจว่าสิ่งที่โฮสต์ทำนั้นถูกต้อง เป็นปัญหาให้ออแพร์คนใหม่อีก


วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2562

ไอเดีย Keep in touch with host family ง่ายๆ

        ออแพร์บางคนจะมีปัญหาว่า match กับโฮสต์ล่วงหน้านาน 3 เดือน 6 เดือนก่อนบิน ก่อนแมตช์ก็อิเมล์ หรือโทรคุยกับโฮสต์บ่อยมาก เพราะต้องสัมภาษณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่หลังจากแมตช์แล้วไม่รู้จะคุยอะไรดี โฮสต์เองก็เงียบหายไป

pixabay.com

        ต้องบอกก่อนว่าโฮสต์ส่วนใหญ่ที่ต้องการออแพร์เพราะเขางานยุ่งมาก ไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้(เลยต้องจ้างเราไง) ตอนก่อนแมตช์เค้าต้องใช้เวลาอย่างมากในการหาและสัมภาษณ์ออแพร์หลายคน เวลาแต่ละประเทศก็ต่างกันอีก ไหนจะต้องทำงานอีก เป็นช่วงที่ยุ่งมากๆเลย ดังนั้นพอเค้าแมตช์เรียบร้อยแล้ว เค้าก็เลยกลับไปใช้ชีวิตปกติของตัวเอง หรือกำลังจัดการความเรียบร้อยเตรียมพร้อมรับออแพร์ใหม่เข้าบ้านอยู่ ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เค้าจะคุยกับเราน้อยลง

         แต่เราก็ไม่อยากให้เค้าหายไปเลย อยากชวนคุยแต่ก็ติดตรงภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง นอกจากถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไปแล้วก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี?

มาลองดู 8 ไอเดีย keep in touch with host family ง่ายๆ คุยบ้างนานๆที ไม่ต้องบ่อยแต่ได้ใจโฮสต์เต็มๆ

1. อวยพรเนื่องในเทศกาลสำคัญ เช่น วันเกิดเด็ก วันคริสมาสต์ วันสำคัญทางศาสนา วันหยุดฮอลิเดย์สำคัญต่างๆ ทั้งของฝั่งไทย อเมริกา และของ original country ของโฮสต์ (กรณีโฮสต์ไม่ได้เกิดในอเมริกา) เช่น วันตรุษจีน วันสงกรานต์ ฯลฯ

         โดยอาจะเขียนคำอวยพร ส่งรูปการ์ดน่ารักๆ ไปให้ หรือออแพร์อาจส่งรูปกิจกรรมที่ทำในวันสงกรานต์ ลอยกระทง วันเกิด ไปให้โฮสต์ พร้อมเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่ได้ทำในวันสำคัญของไทย อาหารไทย ชวนมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น นอกจากจะดู nice & sweet แล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัวด้วย

https://www.officeholidays.com/countries/usa/index.php

        นอกจากนี้ยังมีวันฮอลิเดย์เฉพาะรัฐ เช่น 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน Texas Independence Day หรือ วันจันทร์ที่สามของเดือนเมษายนจะเป็นวัน Patriots Day ที่ฉลองกันเฉพาะในรัฐ Maine และ Massachusetts เป็นต้น
        👉 ดู Federal&State Holiday เพิ่มเติม

ตัวอย่างคำถาม
What did you do in...........holiday?
Did you celebrate............day?
How was your..................day?
What activities do American people do in..................holiday?
What kind of special food do people eat in....................in USA?

2. ถามถึงกิจกรรมที่เด็กๆและโฮสต์ทำในช่วงโรงเรียนปิดเทอม
         โฮสต์ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ช่วงนี้ อาจพาไปเที่ยว หรือสมัครคลาสต่างๆ summer camp ให้ เราก็ชวนคุยถึงกิจกรรมที่โฮสต์กับเด็กๆ ทำว่าเป็นไงบ้าง สนุกไหม ชอบไหม ยิ่งเด็กเล็กจะชอบเล่าเรื่องมากๆ
https://www.edarabia.com/school-holidays-united-states/
*ตารางวันหยุดของแต่ละโรงเรียน แต่ละวัยอาจจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย 

3. เมื่อออแพร์ หรือโฮสต์กำลังไปหรือกลับมาจากการท่องเที่ยวพักผ่อน
         ถ้าออแพร์ได้ไปเที่ยวไหน สามารถส่งรูปถ่ายและเล่าเรื่องราวความประทับใจในทริปให้โฮสต์ฟัง อาจถามว่าโฮสต์เคยมาเที่ยวที่นั่นไหม ชวนโฮสต์มาเที่ยวเมืองไทย มาลองอาหารไทย
         ถ้ารู้ว่าโฮสต์ไปเที่ยว ก็ชวนคุยได้ว่าไปที่ไหน ไปนานเท่าไร เป็นอย่างไรบ้าง อากาศที่นั่น ได้ทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ประทับใจ ไปที่นั่นบ่อยไหม กลับเมื่อไร เด็กๆ ชอบไหม จะกลับเมื่อไร ช่วยส่งรูปให้ดูบ้าง เป็นต้น

4. ถามคำถามเพิ่มเติม
         ออแพร์สามารถถามคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโฮสต์ เด็ก บ้าน เมือง/รัฐที่อยู่ สภาพอากาศ หน้าที่ความรับผิดชอบ ตารางงาน หรือแม้กระทั่งขอให้โฮสต์ช่วยส่งคู่มือกฏระเบียบต่างๆ ข้อควรรู้สำหรับออแพร์มาให้อ่านล่วงหน้าก่อนจะบินไป

5. ชวนคุยเรื่องที่ชอบ งานอดิเรกที่เหมือนกัน เช่น หนังที่ชอบ ตัวการ์ตูน สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ งานศิลปะต่างๆ อาจพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รูปภาพ, ถามว่าได้ดูภาคใหม่ของหนังเรื่องนี้หรือยัง, สิ่งที่เหมือน-แตกต่างในการเลี้ยงสุนัขในอเมริกากับไทย, ขอคำแนะนำในการดูแลสวน เป็นต้น

6. อัพเดทข้อมูลของออแพร์ เช่น วันนี้ฉันกำลังจะไปร่วม workshop เตรียมความพร้อมก่อนบินกับเอเจนซี่ เจอเพื่อนๆ มากมาย มีคนจะบินพร้อมฉันด้วย มีคนที่จะไปอยู่รัฐเดียวกับฉันกี่คน, ฉันสัมภาษณ์วีซ่าผ่านแล้ว ตื่นเต้นที่จะได้พบคุณและเด็กๆ มาก, ฉันกำลังไปซื้อของและจัดกระเป๋า มีอะไรที่ฉันจำเป็นต้องเอาไปบ้าง, หรือวันนี้ฉันมางานเลี้ยงส่งของฉันกับเพื่อนที่บริษัท, ฉันกำลังฝึกขับรถและภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เป็นต้น เล่ารายละเอียดและความรู้สึกให้โฮสต์ฟัง

7. ชวนคุยเรื่องข่าวสารบ้านเมือง ในที่นี้ก็สามารถคุยได้ทุกอย่าง ยกเว้น "ข่าวการเมือง" เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้เช่น การแข่งกีฬา Superbowl คุณได้ดูการแข่งนี้ไหม คุยเชียร์ทีมไหน, สภาพอากาศ ภัยพิบัติ ช่วงนี้ฝนตกหนักไหม ฉันได้เห็นข่าวพายุหิมะ คุณเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม?
         👉 Super Bowl คืออะไร

8. คิดถึง ขอดูรูปหน่อย
         สำหรับใครที่ไม่รู้จะคุยอะไรจริงๆ ก็แค่ทักไปถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป บอกว่าคิดถึง ไม่ได้คุยกันสักพักแล้ว ตื่นเต้นที่จะใกล้บินแล้ว อยากอัพเดทชีวิต ขอดูรูปเด็กๆ หน่อยได้ไหม เบบี้โตขนาดไหนแล้ว กิน-นอนเก่งไหม เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 ขั้นตอนการเป็นออแพร์
👉 สัมภาษณ์กับโฮสต์แฟมิลี (Au Pair Interview)
👉 สัมภาษณ์วีซ่าออแพร์ อเมริกา (แบบละเอียด)
👉 ตัวอย่าง คำถาม-คำตอบ สัมภาษณ์วีซ่าออแพร์ อเมริกา
👉 ใกล้เดินทางแล้ว ออแพร์จัดกระเป๋าอย่างไรดี
👉 ไอเดียของฝากให้โฮสต์แฟมิลี่ 



วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562

ประวัติความเป็นมาของออแพร์ในอเมริกา

          สำหรับโครงการออแพร์ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เป็นหนึ่งในโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (T้he Exchange Visitor Program) ที่มีมานาน 33 ปีแล้ว โดยออแพร์จะถือวีซ่าประเภท J-1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Work&Travel ออแพร์จะอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ (Host family) ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ดูแลกิจกรรมต่างๆ และช่วยเหลืองานบ้านเล็กน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เรียนรู้ภาษา และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นเวลา 1 ปี สูงสุด 2 ปี
👉 ออแพร์คืออะไร
👉 ขั้นตอนการเป็นออแพร์ 
ประวัติความเป็นมาของโครงการออแพร์ในอเมริกา


หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันพุธที่ 11 มิถุนายน ค.ศ.1986 
ลงตีพิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับการมาถึงอเมริกาของออแพร์กลุ่มแรก
(https://www.aupairinamerica.com/images/NY-Times_6_86.gif)

ปีค.ศ. 1986 โครงการออแพร์ในอเมริกาเริ่มต้นโดยเอเจนซี่ 2 บริษัท (หนึ่งในนั้นคือ Au Pair in America) ลงทะเบียนกับ the United States Information Agency (USIA) เพื่อจัดหาออแพร์จากทั่วโลกมายังสหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น ออแพร์กลุ่มแรกซึ่งประกอบด้วยหญิงสาว 35 คน และชายหนุ่ม 1 คนจาก Belgium, Britain, Denmark, France, Ireland, Norway, Sweden และ West Germany ได้เดินทางมาถึงอเมริกา  

ออแพร์กลุ่มแรกได้ปฐมนิเทศที่ Roosevelt Hotel ใน Manhattan เป็นเวลา  4 วัน ก่อนจะเดินทางไปยังบ้านโฮสต์แฟมิลี่ใน New York, New Jersey, Connecticut, Maryland, Pennsylvania, Massachusetts, Virginia, Chicago และ San Francisco.

Roosevelt Hotel เปรียบเสมือน Au Pair's training school แห่งแรกในอเมริกา
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/20/Roosevelt_Hotel.jpg/1024px-Roosevelt_Hotel.jpg)

ปีค.ศ.1986-1988 โครงการออแพร์ยังอยู่ในช่วงทดลองเป็นเวลา 2 ปี  โดยยึดต้นแบบตามยุโรป มีจำนวนออแพร์ในระยะนี้จำนวน 200 คน

ปีค.ศ.1988 สภาคองเกรสได้อนุมัติให้มีโครงการนี้ต่อไป โครงการออแพร์ในอเมริกาจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ (แต่ยังต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสทุก 1- 2 ปี) และจำนวนออแพร์ที่เดินทางมาอเมริกามีเพิ่มมากขึ้นถึง 1,600 คน

ปีค.ศ. 1989 เอเจนซี่ใหม่อีก 6 บริษัทได้เข้าร่วมโครงการออแพร์ ได้แก่ AuPair Care, Culturalcare Au Pair, Go Au Pair เป็นต้น

ปีค.ศ.1994  The U.S. Department of Labor (DoL) ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของออแพร์ขึ้น โดยคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในประเทศหักลบค่าอาหารและค่าที่พักออก

ปีค.ศ. 1995  The Department of State (DoS) ได้ประกาศกฏระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการคัดเลือกและตรวจสอบคุณสมบัติของออแพร์ขึ้นอย่างเป็นทางการ 

ปีค.ศ.1996  ค่าจ้างออแพร์คือ $128.25 ต่อสัปดาห์

ปีค.ศ.1997 - มีข่าวเด็กในความดูแลของออแพร์เสียชีวิต จึงมีการเพิ่มระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติของออแพร์มากขึ้น และให้มีการปฐมนิเทศออแพร์  
- สมาชิกวุฒิสภามีมติให้โครงการออแพร์ในอเมริกาเป็นโครงการถาวร
- ค่าจ้างออแพร์เพิ่มเป็น $139.05 ต่อสัปดาห์

ปีค.ศ.1999 เปลี่ยนหน่วยงานที่ดูแลโครงการออแพร์ไปขึ้นกับสำนักงานการศึกษาและวัฒนธรรม (Department of State, Educational & Cultural Affairs Bureau (ECA))

ปีค.ศ.2001 เกิดโครงการ The EduCare program ขึ้น สำหรับโฮสต์แฟมิลี่ที่มีเด็กวัยเรียนและต้องการชั่วโมงการดูแลน้อยกว่าออแพร์ปกติ

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างAu PairและEduCare
(https://cdmigrante.org/wp-content/uploads/2018/08/Shortchanged.pdf)

ปีค.ศ.2002  เกิดระบบติดตามและบันทึกข้อมูลของนักเรียนในอเมริกา (วีซ่า F, M, และ J) เรียกว่า Student and Exchange Visitor Information System (SEVIS)

ปีค.ศ.2004  กำหนดให้ออแพร์สามารถต่อปีสองได้ 6, 9, หรือ 12 เดือน

ปีค.ศ.2007  ค่าจ้างออแพร์เพิ่มเป็น $157.95 ต่อสัปดาห์

ปีค.ศ.2008  ค่าจ้างออแพร์เพิ่มเป็น $176.85 ต่อสัปดาห์

ปีค.ศ.2009  ค่าจ้างออแพร์เพิ่มเป็น $195.75 ต่อสัปดาห์
👉 ทำไมออแพร์ในอเมริกาได้เงินแค่ $195.75 ต่อสัปดาห
ปีค.ศ.2014 มีการฟ้องร้องคดีโดยออแพร์ 11 คนจากประเทศ Colombia, Australia, Germany, South Africa และ Mexico ต่อศาลเกี่ยวกับการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม การฟ้องร้องนี้ใช้เวลาหลายปีจนในที่สุด ศาลมีคำสั่งให้เอเจนซี่ที่เกี่ยวข้อง 15 บริษัทจ่ายเงินชดใช้จำนวน $65,500,000 ให้ออแพร์กว่า 10,000 คนที่ทำงานอยู่ระหว่าง1 มกราคม 2009 ถึง 28 ตุลาคม 2018 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)


ปีค.ศ.2015 - มีจำนวนเอเจนซี่เพิ่มขึ้นเป็น15บริษัท 
- ออแพร์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 17,588 คน โดยอันดับหนึ่งมาจากประเทศเยอรมัน รองลงมาคือบราซิล และโคลัมเบีย ตามลำดับ

*Data was provided by the US Department of State

- การขอวีซ่าออแพร์จากประเทศอินเดียและฟิลิปปินส์ถูกจำกัด 
- The Matahari Women Workers’ Center ในเมือง Boston รัฐMassachusetts เรียกร้องให้กฏหมายคุ้มครองแรงงานในรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Domestic Workers Bill of Rights) คุ้มครองออแพร์ทุกคนในรัฐผ่านการเห็นชอบจากศาล (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่)


ปีค.ศ.2017 - จำนวนออแพร์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากถึง 20,000 กว่าคน 
- เดือนสิงหาคม  ปีค.ศ.2017 มีข่าวว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีในขณะนั้นที่มีนโยบาย “Buy American, Hire American” ต้องการยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนภายใต้วีซ่า J-1 รวมทั้งโครงการออแพร์ด้วย แต่ละเอเจนซี่พยายามทุกวิถีทางให้โครงการออแพร์ในอเมริกายังมีต่อไป (อ่านข่าวเพิ่มเติมที่นี่)

ปีค.ศ.2018 - ผลจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีการเปลี่ยนกฏหมายการเสียภาษีของออแพร์ โดยยกเลิกค่าลดหย่อนส่วนบุคคล $4050 ทำให้ออแพร์ต้องจ่ายภาษีรายได้บุคคลเพิ่มขึ้นจากปี2017อย่างมาก จาก$613 ในปี 2017 เป็น $1031ในปี 2018 (คำนวณจากออแพร์ที่มีรายได้ทั้งปี $195.75x52 weeks)
👉 2018 Paying Tax for Au Pair (Step by step)
- การขอวีซ่าจากประเทศไทย เม็กซิโก และโคลัมเบียมีอัตราถูกปฏิเสธสูงมาก

ประวัติออแพร์ในอเมริกาในประเทศไทย

(http://www.thaiaupairclub.com)

          สำหรับโครงการออแพร์ในอเมริกาเริ่มต้นอย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด คาดว่ามีมานานกว่า 27 ปี แต่เพิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทยเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน หลังจากที่พี่ธัญญา อดีตออแพร์ในอเมริกา (ปี2003-2005)ได้เขียนกระทู้ I am Au Pair ขึ้นมาบนเว็บไซต์การศึกษาต่อต่างประเทศแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันเว็บไซต์นี้ถูกปิดไปแล้ว) กระทู้นี้ได้รับความสนใจอย่างมาก จนพี่ธัญญ่าได้ตัดสินใจทำเว็บไซต์ Thai Au Pair Club และเขียนหนังสือเกี่ยวกับออแพร์ในอเมริกาขึ้นมา 2 เล่ม ได้แก่ เที่ยวฟรีมีตังค์ใช้ สไตล์ออแพร์ และ โกอินเตอร์แบบง่ายๆ สไตล์ออแพร์

เว็บไซต์ไทยออแพร์คลับ เป็นชุมชนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวออแพร์ และเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่โครงการออแพร์ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย
(http://www.thaiaupairclub.com)

(https://www.bloggang.com/data/b/blackcat024/picture/1242529004.jpg)
(https://storage.naiin.com/system/application/bookstore/resource/product/2011/2006/9984803_250.jpg)

และหลังจากนั้นจำนวนออแพร์ไทยที่เข้าร่วมโครงการก็มากขึ้นๆ จนกระทุ่งยุคโซเชียลมีเดียที่ทำให้การประชาสัมพันธ์โครงการง่ายและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น มีเว็บบอร์ด กระทู้ บล็อก Facebook Line และYoutube สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตออแพร์ในอเมริกามากมาย ทำให้คนไทยสนใจมาเป็นออแพร์ในอเมริกาจำนวนมากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ชาติที่มาเป็นออแพร์ในอเมริกา ขณะเดียวกัน จำนวนเอเจนซี่ในไทยก็เพิ่มมากขึ้นด้วย


สถิติจำนวนคนไทยที่เข้าร่วมโครงการออแพร์ในอเมริกาในแต่ละปี

สถิติจำนวนออแพร์ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ ปี 2017
(https://j1visa.state.gov/wp-content/uploads/2018/04/Au-Pair-Flyer-2017.pdf?fbclid=IwAR2fLiPDBVbJZYdrrdJquMXBevMIFBl-mbX1HD3pYmobJ_LjKXJbkWh5jO0)

สถิติจำนวนออแพร์ใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ ปี 2018
https://j1visa.state.gov/wp-content/uploads/2019/03/Au-Pair-Flyer-2018-web.pdf

👉 อยากเป็นออแพร์ ไปเอเจนซี่ไหนดี?
👉 รีวิวชีวิตออแพร์ในอเมริกากับปาย TheFoo
          จนกระทั่งปี 2018 เริ่มมีข่าวการปฏิเสธวีซ่าของออแพร์ไทยจำนวนมาก ทำให้จำนวนออแพร์ไทยที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้น้อยลง บางคนตัดสินใจไปร่วมโครงการออแพร์ทางฝั่งประเทศยุโรปแทน ผู้ที่เป็นออแพร์ในอเมริกาอยู่ในขณะนั้นมีความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการต่อวีซ่าปีสอง หลายๆ เอเจนซี่แนะนำให้โฮสต์แฟมิลี่ที่ต้องการออแพร์ไทยเลือกเฉพาะคนที่อยู่ในประเทศแล้วเท่านั้น เอเจนซี่เล็กๆในไทยยกเลิกการส่งออแพร์ไทยมาอเมริกา ปัจจุบันมีเอเจนซี่ในไทย 8 บริษัท
👉 อยากเป็นออแพร์ในอเมริกา ไปเอเจนซี่ไหนดี? (อัพเดทMarch 2019)


ที่มา
https://www.nytimes.com/1986/06/11/garden/au-pair-in-america-first-group-arrives.html
https://goaupairglendale.wordpress.com/2011/04/13/the-au-pair-program-program-history/


วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ออแพร์คืออะไร

ออแพร์ (Au Pair) 
          คือ ผู้ช่วยงานที่เป็นชาวต่างชาติ และพักอาศัยร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ (Host Family) มีหน้าที่ในการเลี้ยงเด็กและทำงานบ้าน โดยได้รับเงินค่าแรงตอบแทน
          ออแพร์ (Au Pair) มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า "โอแปร์" (au pair) แปลตรงตัวว่า "เท่าเทียมกัน" ซึ่งหมายความว่า ออแพร์จะมีความเท่าเทียมกับบุคคลภายในบ้าน แตกต่างจากพนักงานรับใช้ ในขณะเดียวกันเจ้าของบ้านและออแพร์นั้นจะได้มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

N-Narrater_Au Pair
รูปสรุปออแพร์คืออะไร
          ออแพร์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศยุโรป ช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาความนิยมออแพร์เป็นที่แพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีลักษณะคล้ายกับ Live-in Nanny หรือพี่เลี้ยงเด็กที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัวของเด็ก มีหน้าที่ดูแลเด็กๆ และช่วยเหลืองานบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยได้รับเงินค่าจ้างตอบแทนเป็นรายสัปดาห์ในอัตราคงที่ ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนของเด็ก

หน้าที่ของออแพร์

1. ดูแล เลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่ตื่นนอน ทำอาหาร ป้อนนม/อาหาร แต่งตัว เตรียมกระเป๋าและข้าวกล่อง ไปรับ-ส่งที่โรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆ ส่งเสริมพัฒนาการ เล่นเป็นเพื่อนทั้งกิจกรรมในร่มและกลางแจ้ง ช่วยสอนการบ้าน อาบน้ำให้ จนกระทั่งพาเข้านอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตารางงานและหน้าที่ๆ ตกลงกับโฮสต์แฟมิลี่ไว้
2. ทำงานบ้านเบาๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น ซักเสื้อผ้าเด็ก ทำอาหารให้เด็ก ทำความสะอาดห้องนอนและห้องนั่งเล่นของเด็ก ทำความสะอาดขวดนมและจานชามช้อนส้อม หรือบริเวณที่เด็กทานอาหาร เก็บของเล่น จัดระเบียบของใช้และของเล่นเด็ก เป็นต้น

ข้อดีของการเป็นออแพร์

1. พักอาศัยอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ฟรี มีห้องนอนส่วนตัว มีอาหารให้รับประทานฟรี 
2. มีการจำกัดชั่วโมงการทำงาน วันหยุด Vacation ที่แน่นอนตามกฏหมาย
3. ได้รับค่าจ้างตามอัตราที่กฏหมายกำหนดทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนตามกฏหมายแต่ละประเทศ
4. ได้รับการสนับสนุนด้านการเรียน เช่น ออแพร์ในอเมริกาจะได้รับค่าเรียนจากโฮสต์ $500 สามารถเลือกลงเรียนอะไรก็ได้ตามความสนใจ เช่น ภาษาอังกฤษ ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ โดยต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิต
5. สัญญาการเป็นออแพร์ 1 ปี และสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นออแพร์ต่ออีก 6, 9, หรือ 12 เดือน
6. ได้ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภาษา ได้พบเพื่อนต่างชาติ
7. ได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ รวมทั้งภาษา และได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วมโครงการ สามารถนำประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศนี้ใส่ลงไปในประวัติย่อของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการสมัครงานได้มากขึ้น
8. เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเดินทางมาอาศัยอยู่ต่างประเทศด้วยวิธีอื่นๆ เช่น Work&Travel 
9. หากเกิดปัญหาจะมีเอเจนซี่ ที่ปรึกษาท้องถิ่น และรัฐบาลช่วยเหลือ
10. มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะโฮสต์แฟมิลี่ได้รับการประเมินจากเอเจนซี่ และออแพร์ได้พูดคุย สัมภาษณ์กับโฮสต์แฟมิลี่ก่อนมา

ทำไมโฮสต์แฟมิลี่ถึงอยากได้ออแพร์ ?

1. ค่าจ้างถูกมาก เมื่อเทียบกับการจ้างพี่เลี้ยงเด็กทั่วไป (Nanny หรือ Baby sitter)
2. ตารางการทำงานของออแพร์มีความยืดหยุ่นมากกว่า โฮสต์สามารถกำหนดตารางานและหน้าที่รับผิดชอบได้เอง
3. ออแพร์ช่วยเลี้ยงลูก เป็นเพื่อนเล่น เป็นผู้ปกครอง เป็นครูสอนการบ้าน และช่วยทำงานบ้าน
4. ค่าจ้างเท่าเดิม แม้ว่าจำนวนเด็กจะมากเท่าไรก็ตาม
5. ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภาษา 
6. ได้สมาชิกใหม่ในครอบครัวเพิ่มขึ้น ลูกๆ จะได้พี่ชาย/พี่สาว หรือเพื่อนเล่นเพิ่มขึ้น
7. สามารถไว้ใจได้ เพราะผ่านการตรวจสอบจากAgency ว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน มีการอบรมความรู้พื้นฐาน และเป็นโครงการที่รัฐบาลรับรอง
8. สามารถลดหย่อนภาษีจากการจ้างออแพร์ได้

ข้อแตกต่างระหว่าง Au Pair - Nanny - Baby sitter

  • Au Pair เป็นชาวต่างชาติที่มาพักอาศัยกับครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีหน้าที่ดูแลเด็กและทำงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ได้รับค่าตอบแทนน้อย และต้องเรียนหนังสือ
  • Nanny มีทั้งแบบที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัวนายจ้าง เรียกว่า Live-in Nanny หรือ แบบไปเช้า-เย็นกลับ เรียกว่า Live-out Nanny คือพี่เลี้ยงเด็ก มีหน้าที่ดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก บางคนอาจเป็นทั้งพี่เลี้ยงเด็กและแม่บ้านทำความสะอาดบ้านด้วยก็ได้ ได้รายได้สูง ต้องมีประสบการณ์เลี้ยงเด็กพอสมควร
  • Babysitter คือพี่เลี้ยงเด็กที่รับจ้างดูแลเด็กเป็นชั่วโมงสั้นๆ เช่น วันละ 1-3 ชั่วโมงตอนที่เด็กหลับ หรือคอยเฝ้าดูตอนเด็กเล่น ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับครอบครัวนายจ้าง ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุน้อยที่ทำเป็นงานพิเศษเสริมรายได้
  • Manny = Male nanny
  • BroPair = Male Au Pair



วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

เลือก Host Family ที่ใช่ (1)


https://cdn1.vectorstock.com/i/thumb-large/29/25/mother-and-father-with-children-happy-family-vector-9922925.jpg

          มีคนบอกว่าการเลือกโฮสต์แฟมิลี่ก็เหมือนกับการเลือกแฟน ไม่มีใครperfect สมบูรณ์แบบ บางอย่างดี-บางอย่างไม่ค่อยดี แต่เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพราะเราจะต้องอยู่กับเค้าไปอย่างน้อยก็ 1 ปี คงไม่มีใครอยากเปลี่ยนโฮสต์ (rematch) บ่อยๆ หรอก นอกจากเราจะต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยแล้ว เราต้องคุยกับโฮสต์ให้เคลียร์ทุกอย่าง (อย่าคิดเองเด็ดขาด)

ปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาก่อนแมตช์ (match) กับโฮสต์

1. ปัจจัยเกี่ยวกับเด็ก (Host kids) : จำนวนเด็ก อายุเด็ก เพศของเด็ก เด็กพิเศษ
          ข้อนี้คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดเลย คือเราต้องรู้ว่าเรามีความสามารถ/ประสบการณ์ขนาดไหน สามารถรับมือกับเด็กวัยนี้ จำนวนนี้ได้หรือไม่

👶เด็กทารก : โฮสท์บางคนที่เพิ่งมีลูกคนแรกจะต้องการออแพร์ที่มีประสบการณ์เลี้ยงเด็กทารก (Infant qualified: IQ) มาก่อนเท่านั้น มีคนบอกว่า ฺ"Baby is sweet, but hard" การเลี้ยงเด็กทารกเป็นอะไรที่น่ารักกกก เวลากิน เวลายิ้ม บางครั้งก็ทำอะไรตลกๆ ไร้เดียงสาน่าเอ็นดู การได้เลี้ยงทารกจะให้ประสบการณ์ความเป็นแม่คนเต็มเปี่ยม เราจะรู้สึกผูกพันธ์กับเด็กมากๆ เพราะเราดูแลเขาตั้งแต่เค้ายังทำอะไรไม่ได้ แล้วคอยเฝ้ามองพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขาในแต่ละวัน (T^T น้ำตาปริ่มมมม) 
          แต่เพราะทารกพูดไม่ได้ เขาไม่สามารถบอกได้ว่าเขาต้องการอะไร ที่ทำได้คือการร้องไห้ ดังนั้นออแพร์จะต้องเป็นคนที่ใจเย็นมากๆ และเพราะเขายังเล็ก จึงต้องการการทะนุถนอม ความใส่ใจในรายละเอียดมากๆ การเลี้ยงเด็กทารกอาจดูเหมือนมีหน้าที่แค่ ป้อนนม เปลี่ยนผ้าอ้อม แต่จริงๆ งานจุกจิกกว่านั้นมาก และเราต้องเติบโตไปกับเขาด้วย เพราะทารกจะเปลี่ยนไปทุกเดือน เราต้องปรับการดูแลให้เข้ากับพัฒนาการแต่ละช่วงของทารก ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ ออแพร์อาจจะเบื่อเพราะไม่ค่อยมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับทารกได้มากนัก อาจจะต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อย่างมากคือพาใส่stroller ไปเดินเล่น ไปฟังนิทาน/ร้องเพลงที่ห้องสมุด พาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น baby gym พาไป mommy & me class หรือ play date กับเด็กทารกด้วยกัน เป็นต้น

👧เด็กวัยก่อนเรียน (Toddler-preschool)  : เด็กช่วงนี้ประมาณเด็กเตรียมอนุบาล – วัยอนุบาล น่ารัก ช่างพูดช่างเจรจา พลังงานเยอะมาก วิ่งไปมาไม่หยุด อยากรู้อยากลอง ซนมาก เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางครั้งเลยเอาแต่ใจและเลือกกิน และเป็นวัยชอบเลียนแบบ ข้อดีคือ เด็กจะชวนเราพูดตลอดวัน บางครั้งก็สอนภาษาอังกฤษเราไปในตัวด้วย จะมีกิจกรรมสนุกๆทำร่วมกับออแพร์เยอะกว่าเด็กทารก บางบ้านพาไปเที่ยวสวนสนุก Disneyland บ่อยมาก บางบ้านก็จะเริ่มให้ลูกไป daycare หรือ pre-kindergarten ประมาณอายุ 18 เดือน หลังจากนี้เด็กก็จะเริ่มเข้าโรงเรียน แต่บางบ้านก็เป็น home school ให้ลูกเรียนที่บ้าน เด็กวัยนี้จะเห็นเราเป็น best friend ของเขา จะติดเรามาก ชวนเล่นด้วยตลอดเพราะพ่อแม่ไม่ว่าง แต่บางครั้งเด็กก็สามารถเล่นคนเดียวได้ หรือเล่นกับเพื่อนๆ ไม่ต้องดูแลตลอดเวลาเหมือนเด็กทารก 
          ข้อเสียคือ เพราะเด็กวัยนี้พลังเยอะ พูดเก่ง หรือติดออแพร์มากเกินไป ออแพร์หมดพลังได้เลย และว่ากันว่า 2 ขวบคือวัยที่ยากที่สุด เรียกว่า terrible two จะเอาแต่ใจมาก ถ้าต้องเลี้ยง terrible two หลายคนด้วยคงวุ่นวายมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางบ้านโฮสต์ก็อบรมลูกมาดี ทำให้เลี้ยงง่าย เคารพเชื่อฟังออแพร์ แล้วก็เด็กวัยนี้พูดเยอะ ระวังเด็กจะเลียนแบบสิ่งที่ไม่ได้ ระวังทำอะไรแล้วเด็กเอาไปฟ้องพ่อแม่ แล้วก็ต้องระวังอุบัติเหตุมากๆด้วย เผลอไม่ได้ ไวเหลือเกิน

👦เด็กวัยเรียน : เด็กรู้เรื่องมากขึ้น ออแพร์จะหลอกล่อเหมือนเด็กtoddlerไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นเด็กดีหรือรู้จักช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้วก็จะสบายหน่อย ถ้าร้ายกาจก็ทำออแพร์เหนื่อยใจสุดๆ เช่น โกหกพ่อแม่ว่าออแพร์ทำร้าย แต่ข้อดีคือ เด็กไปโรงเรียนแล้ว 
         หน้าที่หลักๆ ของออแพร์ส่วนใหญ่คือ การเตรียมตัวและแพ็คของให้เด็กก่อนไปโรงเรียน ขับรถไปรับ-ส่งโรงเรียนและคลาสต่างๆ อาจช่วยสอนการบ้าน และดูแลตอนเย็นจนกระทั่งเข้านอน ออแพร์ส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างช่วงระหว่างวัน สามารถไปเรียนหรือทำอะไรที่ต้องการได้ และถ้าเด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับออแพร์จะช่วยให้ภาษาอังกฤษของออแพร์พัฒนาได้มาก

👱เด็กวัยรุ่น : ส่วนใหญ่เด็กวัยรุ่นจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบความเป็นส่วนตัวและติดเพื่อน จะไม่ค่อยมายุ่งวุ่นวายอะไรกับออแพร์มาก บางบ้านคือเด็กไปอยู่หอพักไม่ได้กลับบ้าน เด็กอาจจะไม่ต้องการการดูแลเลย หรืออย่างมากก็คือต้องซักผ้าให้ เตรียมอาหาร และขับรถพาไปส่งโรงเรียน เป็นต้น

👭เด็กแฝด : ต้องดูว่าอายุของเด็เท่าไร ก็จะดูแลตามวัยอย่างที่กล่าวข้างต้นเลย แค่งานจะคูณสองเท่า (twins)หรือสามเท่า (triplet) เช่น ซักผ้า ทำอาหาร ฯลฯ 
         เคยถามเพื่อนออแพร์ที่เลี้ยงเด็กทารกแฝดสองว่ายากไหม เพื่อนก็บอกว่าไม่ยาก เหมือนเลี้ยงเด็กทารกสองคน พยายามทำคนหนึ่งเสร็จก่อน แล้วจึงค่อยทำให้อีกคน ส่วนใหญ่เด็กจะไม่ค่อยร้องพร้อมกัน เวลาป้อนข้าวก็สามารถป้อนสลับคนละคำ หรือพร้อมกันได้ และข้อดีคือ เด็กจะเล่นกันเองบางครั้ง ออแพร์ไม่จำเป็นต้องเล่นด้วยตลอดเวลา 

😀เด็กพิเศษ : เด็กพิเศษในความหายของเราคือ ทุกๆ อย่างที่ไม่ปกติ เช่น ความผิดปกติทางพัฒนาการ (ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม) ความผิดปกติทางอารมณ์ (ก้าวร้าว ชอบทำร้ายร่างกาย) ความผิดปกติด้านการสื่อสาร (หูหนวก พูดช้า พูดไม่ชัด) 
         ต้องดูว่าเด็กมีความพิเศษตรงส่วนไหน สามารถสื่อสาร ช่วยเหลือตัวเองได้ขนาดไหน โฮสต์มีการพาน้องไปบำบัดหรือรักษาอย่างไร บางบ้านจะมีนักบำบัดมาที่บ้าน และโฮสต์คาดหวังอะไรจากออแพร์ เด็กพิเศษจะต้องการออแพร์ที่ใจเย็นอย่างมาก บางบ้านเด็กก็ได้รับการดูแลและฝึกมาอย่างดีให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ควบคุมอารมณ์ได้ 
         มีเพื่อนออแพร์ที่เคยดูแลเด็กพิเศษที่โฮสต์คาดหวังให้ออแพบำบัดอาการให้เด็กประหนึ่งนักบำบัด และเพื่อนที่ดูแลเด็กพิเศษที่น่ารักมากๆ sweet มากๆ

👼เด็ก 1 คน : ออแพร์คนไหนได้เลี้ยงเด็ก 1 คนคือดีเลิศประเสริฐศรีมาก ถึงเด็กจะยากยังไงก็แค่คนเดียว สามารถโฟกัสกับการดูแลได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียคือโฮสบางคนอาจจะคาดหวังมากหน่อย เพราะส่วนใหญ่บ้านที่มีเด็กคนเดียวคือ โฮสต์ที่มีลูกคนแรก บางครั้งอาจเป็นหลานคนแรกของตระกูลด้วย ความคาดหวังเยอะ และโฮสต์ไม่มีประสบการณ์เลี้ยงลูกมาก่อน ก็อาจจะจู้จี้จุกจิกมากหน่อย

👪เด็กมากกว่า 1 คน: ข้อดีคือ บางครั้งเด็กๆ ก็จะเล่นกันเอง ออแพร์ไม่ต้องดูแลเด็กตลอดเวลา และจะได้ประสบการณ์กับเด็กต่างวัย และจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลดีในการหาโฮสท์ปีสอง แต่ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเอาอยู่ ต้องดูอายุเด็กด้วย อย่างเช่นแฝดทารก หรือtoddler กับทารกก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดมากๆ บางครั้ง toddler เล่นเสียงดัง หรืองอแง ทำทารกตื่นร้องไห้ ทีนี้ร้องกันระงมบ้าน 
         มีออแพร์หลายคนที่เลี้ยงเด็ก 3-5 คน บางครั้งจำนวนเด็กมากๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องดูแลทั้งหมดคนเดียวเสมอไป มีออแพร์บางคนเลี้ยงเด็กผู้ชาย 3 คน พลังเยอะมาก เหนื่อยมาก แต่ไม่ทุกวันเพราะส่วนใหญ่เด็กไปเรียน บางบ้านโฮสต์จะจ้างออแพร์ 2 คน หรือโฮสต์อยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือมีญาติช่วยเลี้ยง หรือจ้างnannyมาช่วยเลี้ยง หรือเด็กโตแล้วไปอยู่รร.ประจำ หรือดูแลตัวเองได้แล้ว เราแค่ดูแลคนเล็กและ/หรือรับผิดชอบคนโตนิดหน่อย เป็นต้น แต่โฮสต์ที่ต้องการออแพร์ 1 คนเพื่อดูแลเด็ก 2-3 คนก็มี 
          ออแพร์จะต้องดูรายละเอียดและคุยกับโฮสต์เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบให้ดีๆ เพราะอย่าลืมว่าไม่ว่าจะดูแลเด็กกี่คน ค่าจ้างออแพร์ตามกฏก็คือ $195.75/สัปดาห์เท่านั้น ถ้าโฮสต์ที่ดีจะเข้าใจว่างานออแพร์ไม่ใช่งานง่ายๆสบายๆ เค้าจะหาคนมาช่วย support เช่น nanny หรือญาติ อย่างที่กล่าวในข้างต้น และจ่ายค่าจ้างมากกว่า $195.75/สัปดาห์ และมีข้อเสนออื่นๆ เช่น ได้วันหยุดบ่อย หรือบางกรณีโฮสต์ต้องการออแพร์เพื่อมาเล่นและขับรถพาลูกไปโรงเรียนเท่านั้น ไม่ต้องทำงานบ้านหรือทำอาหารเลย เป็นต้น 
         ย้ำอีกครั้ง! คุยรายละเอียดดีๆ (เป็นลายลักษณ์อักษรได้ยิ่งดี) โฮสต์นิสัยไม่ดีเยอะมากที่หวังให้ออแพร์ทำทุกอย่าง เด็กหลายคน แต่จ่ายแค่ $195.75/สัปดาห์


เรื่องเพศของเด็กอาจจะไม่ค่อยสำคัญมาก แต่มาบอกข้อแตกต่างให้ฟัง
👩เด็กผู้หญิง: รักสวยรักงาม ชอบแต่งตัว ถ้าออแพร์ชอบแต่งตัวและทำผมให้เด็กด้วยก็จะน่ารักมาก เหมือนเล่นแต่งตัวตุ๊กตา แต่เพราะเป็นเด็กผู้หญิงบางคนก็อาจจะวี๊ดว๊าย ดราม่าควีน ขี้แย หรือเรื่องมากตอนแต่งตัวได้

👦เด็กผู้ชาย : พลังเยอะกว่าเด็กผู้หญิง ชอบเล่นอะไรแรงๆ Action super hero ถ้าเป็นทารกชายปกติก็จะตัวหนักกว่าทารกหญิง จะไม่ค่อยเสียเวลาเรื่องการแต่งตัวมาก ง่ายๆ เคยมีเพื่อนออแพร์เลือกแมตช์กับบ้านที่มีเด็กผู้ชายล้วนด้วยเหตุผลว่า "ถักเปียไม่เป็น" 😅


นี่แค่ข้อแรกนะคะ รอติดตามตอนต่อไป ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอีกนะคะ

เพิ่มเติมนะคะ คำถามที่ควรถามเกี่ยวกับเด็ก
1. เด็กชอบ/ไม่ชอบอะไร
2. เวลาเด็กโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี มีพฤติกรรมอย่างไร แล้วพ่อแม่มีวิธีการรับมืออย่างไร
3. เด็กแพ้อะไรไหม


บทความที่เกี่ยวข้อง