วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วิธีหาคอร์สเรียนสำหรับออแพร์

          กฏของออแพร์ที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือต้องเก็บชั่วโมงเรียน เพราะมาด้วยวีซ่า J-1 และจ่ายค่า SEVIS (ระบบบันทึกข้อมูลของนักเรียนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเราจ่ายไปเรียบร้อยแล้วก่อนมา
          ออแพร์ต้องเก็บชั่วโมงเรียน 6 หน่วยกิต (ุ6 credit) หรือถ้าเรียนคอร์สแบบ non-credited ก็ใช้วิธีนับชั่วโมงเอา เช่น 12 ชม = 1 credit (ชั่วโมงไม่เท่ากันแล้วแต่เอเจนซี่) จะเรียนอะไรก็ได้ที่สนใจ โดยโฮสต์จะจ่ายค่าเรียนให้ไม่เกิน $500 รวมอุปกรณ์การเรียนทุกอย่างแล้ว ส่วนที่เกินจากนั้นออแพร์ต้องรับผิดชอบเอง แต่บางบ้านโฮสต์ใจดีออกให้ก็มี
          ทั้งนี้  โรงเรียนที่ลงเรียนต้องเป็น Accredited U.S. post-secondary institutions และต้องดูเงื่อนไขของแต่ละเอเจนซี่กำหนดด้วย ยกตัวอย่างบางเอเจนซี่ จะไม่นับหน่วยกิตถ้าเราลงเรียนในคอร์สที่เรียนผ่านทางออนไลน์ หรือเรียนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต, Hybrid course (เรียนในห้องเรียน + ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต), Study tour, Internship (ฝึกงาน), volunteering program (งานอาสาสมัคร) ที่ปรึกษา LCC บางคนก็ไม่นับถ้าเราเรียนฟรีจากโบสถ์หรือห้องสมุด หรือแม้กระทั่่งคอร์สที่เสียเงินบางโรงเรียน เอเจ้นซี่ก็ไม่นับ

"วิธีหาคอร์สเรียนสำหรับออแพร์"

(http://edtechreview.in/images/student-education.jpg)

💚ก่อนอื่นให้คิดไว้ในใจก่อนว่าอยากเรียนเกี่ยวกับอะไร?

1. สำหรับคนที่สนใจเรียนภาษาอังกฤษ หรือไม่รู้จะลงเรียนอะไรดี หรือวางแผนจะเรียนต่อที่อเมริกา คอร์ส English as a second language (ESL) เป็นพื้นฐานในการต่อยอดหลายๆ คลาสเลย เพราะถ้าภาษาอังกฤษได้ก้เรียนอย่างอื่นได้
          คอร์ส ESL หาง่ายมากๆ แค่เสิร์ชกูเกิลก็ขึ้นมาเต็มเลย บางที่ชื่อคอร์สอาจจะต่างไปเล็กน้อย แต่ก็เสิร์ชหาได้ง่ายเช่นกัน เช่น มหาวิทยาลัยที่เราลงเรียนจะเรียกว่า ESOL course ซึ่งคอร์สพวกนี้ราคาถูกมากๆ บางที่เรียนฟรีอีกต่างหาก ค่าเอกสารประกอบการเรียนไม่เสียเลยก็มี โฮสต์ส่วนใหญ่ก็อยากให้เราเรียนเพราะมันถูก และเราจะได้ฝึกภาษาไปในตัว ก่อนจะลงเรียนต้องสอบวัดระดับภาษาด้วย (placement test) แต่ที่นี่เขาเรียกว่า CASAS test เพื่อให้เขาจัดคลาสเรียนให้เหมาะสมกับเราได้ โดยจะสอบทักษะอ่านและฟัง ก่อนไปสอบบางที่อาจต้องนัดเวลาก่อน บางที่เดินเข้าไปสอบได้เลย
* บางโรงเรียนจะมี ESL class ทั้งแบบ credit และ non-credit ซึ่งราคาแบบ non-credit จะถูกกว่ามาก

2. สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษพอได้แล้ว จะลงอะไรก็ได้ตามความสนใจเลย ไม่ว่าจะเรียนทำอาหาร ถ่ายรูป หรือเรียนต่อยอดความรู้ในสาขาที่เราเรียนมา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี บริหาร ครูปฐมวัย สุขภาพจิต เป็นต้น หรือจะเรียนภาษาอังกฤษในระดับสูงขึ้นไป เช่น Academic writing, Advance English, TOEFL Preparation Class เป็นต้น

3. คนที่วางแผนอยากใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาต่อ เช่น แต่งงาน การลงเรียนในคลาสที่เกี่ยวกับอาชีพและให้ใบประกาศนียบัตรรับรองจะเหมือนเป็นใบเบิกทางในการทำงานที่อเมริกา เช่น Event Manager เป็นต้น

 4. คนที่ชอบท่องเที่ยวและพบปะผู้คนใหม่ๆ แนะนำ Au Pair weekend classes อันนี้คือคอร์สที่จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับออแพร์ จะเป็นคอร์สที่พาเราไปเที่ยวช่วงสุดสัปดาห์และเรียนรู้วัฒนธรรมชาวอเมริกันไปด้วยในตัว จะมีเฉพาะเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆบางเมือง เช่น San Diego, San Francisco, Tampa, Chicago, Boston ราคาค่อนข้างแพง 1 คอร์ส = 3-6 หน่วยกิต ราคาประมาณ $350-600 ยังไม่รวมค่าเดินทางและค่าที่พักอีก
(รูปจากอินเทอร์เน็ต)

          ข้อดีคือ ได้ไปเที่ยวและใช้เวลาเก็บหน่วยกิตไม่นาน ใครอยากลงเรียนคอร์สนี้ต้องปรึกษากับโฮสต์ดีๆ เพราะโฮสต์บางบ้านไม่อยากจ่ายแพง และได้หน่วยกิตไม่ครบ สมมุติคอร์สนึงได้แค่ 3 หน่วยกิต ถ้าอยากได้ครบต้องลง 2 คอร์สซึ่งจะราคาเกิน หรือจะลงweekend class นี้ 1 คอร์ส และหาคอร์สอื่นๆแถวบ้านตาม community college หรือ adult school เพิ่มเพื่อให้ครบ 6 หน่วยกิต
👉รีวิว Aupair weekend class in Washington DC
คอร์สอื่นๆ ที่คล้ายออแพร์วีคเอนคลาส เช่น  Silver Bay (Albany, NY) และ C.W. Post (Long Island, NY)

💜เรียนที่ไหน เมื่อไร ?
  1. คำนึงถึงช่วงเวลาเรียนด้วย ตกลงกับโฮสต์ให้ดี บางครั้งอาจะต้องหยุดไปเรียน อย่างเช่น weekend class แต่โดยส่วนใหญ่ถ้าเรียนแถวบ้านจะมีคลาสให้เรียนช่วงกลางวัน และเย็น ถ้าออแพร์เลี้ยงเด็กโตก็จะว่างช่วงกลางวันที่เด็กๆไปโรงเรียนกันแล้วสามารถไปเรียนได้ แต่ถ้าออแพร์เลี้ยงเด็กทารก เด็กเล็กๆ อาจต้องใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานหรือวันหยุดไปเรียน
  2. ออแพร์สามารถลงเรียนได้ทั้งคอร์สที่นับหน่วยกิต หรือ credit course และคอร์สที่ไม่นับหน่วยกิต หรือ non-credit course ซึ่งอันหลังนี้จะใช้วิธีนับชั่วโมงเรียนแทน โดยปกติ 12 ชม. = 1 หน่วยกิต (แล้วแต่เอเจนซี่และสถาบันกำหนด) 
  3. การเรียนอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า  continuing education units (CEU) จะมีการนับเครดิตแตกต่างออกไป เช่น คอร์ส CPR เป็นต้น
  4. สถานที่เรียนมีทั้ง Community college, Adult school, Learning center, University, สถาบันสอนภาษาของเอกชน ฯลฯ แต่ต้องตรวจสอบดูว่าทางเอเจ้นซี่รับรองโรงเรียนนี้ไหม ค่าเรียนเท่าไร มีช่วงเวลาที่เราสามารถไปเรียนได้ไหม
วิธีหาคลาสเรียน
1. ปรึกษา LCC ส่วนใหญ่ LCC หรือที่ปรึกษาท้องถิ่นจะให้ข้อมูลแนะนำการเรียนเราได้ดี เพราะเขาเป็นคนในพื้นที่และมีข้อมูลว่าออแพร์แต่ละคนที่เขาดูแลเรียนที่ไหนกันบ้าง

2. โฮสต์แฟมิลี่บางบ้านก็แสนดี หาข้อมูลเรื่องเรียนมาให้เราเลือกสรร หรืออาจจะเลือกให้เราเลย อันนี้ต้องตกลงกับโฮสต์ดีๆ ว่าใช่คอร์สที่เราอยากเรียนไหม

3. ถามเพื่อนออแพร์ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ก็คือมี LCC คนเดียวกันนั่นแหละ ว่าเพื่อนๆ เรียนที่ไหนกันบ้าง ส่วนใหญ่คุยกับเพื่อนจะได้ข้อมูลมากกว่า

4. วิธีสุดท้าย สำหรับออแพร์ที่อยู่เมืองชนบทแบบเราและโฮสต์ก็ใหม่ ไม่มีใครรู้เรื่องหรือแนะนำคอร์สให้ได้เลย เราต้องหาเองค่ะ ซึ่งวิธีหาก็ไม่ยาก นึกไว้ในใจว่าอยากเรียนคอร์สเกี่ยวกับอะไร
          4.1 เสิร์ช google ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยที่อยู่แถวบ้านเลย จะใส่เฉพาะชื่อเมือง หรือkey word คอร์สที่อยากเรียนและชื่อเมืองด้วยก็ได้ เช่น  cooking class, singing class  เป็นต้น
          4.2 เสิร์ชจากเว็บไซต์ของเอเจนซี่ เช่น /http://help.culturalcare.com/au-pair/article-categories/education-opportunities-by-state/ จะมีรายชื่อโรงเรียนของแต่ละรัฐ
          4.3 เสิร์ชรายชื่อที่เรียนแถวบ้านจากเว็บ National Literacy Direction เป็นเว็บที่ดีมากๆ เพียงแค่ใส่รหัสไปรษณีย์ลงไป สามารถเลือกได้ด้วยว่าอยากได้รัศมีไกลจากบ้านเท่าไร และสนใจคอร์สเกี่ยวกับอะไร
         4.4 เสิร์ชจากเว็บ DAPIP Database of Accredited Postsecondary Institutions and Programs  
                   (1) คลิก Advance Serch แล้วใส่ชื่อเมือง หรือชื่อรัฐ ก็จะได้รายชื่อโรงเรียนมา
                   (2) คลิก Download Data File จะได้ไฟล์รายชื่อโรงเรียนที่รับรองทั่วอเมริกามา
     4.5 เสิร์ชจากเว็บ CHEA Council for Higher Education Accreditation

                   (4) คลิก Browse Directories > เลือก Search Institutions หรือ Search Programs หรือ Search Accreditors แล้วใส่ข้อมูลลงไป จะได้รายชื่อโรงเรียนที่รับรองมา

💗การตรวจสอบว่าโรงเรียน/สถาบันนั้นได้รับการรับรองหรือไม่ ?

ให้เช็คกับเว็บ DAPIP  หรือ CHEA  โดยพิมพ์ชื่อโรงเรียนลงไป ถ้าเสิร์ชแล้วไม่เจอ แสดงว่าสถาบันนี้ไม่ผ่าน ลองถาม LCC ให้ยืนยันอีกทีเพื่อความชัวร์

💙ขอรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเรียน
  1. ให้เข้าไปดูในเว็บไซต์ของสถาบันนั้นๆ เพื่ออ่านรายละเอียดคอร์สที่จะเรียนดูว่าเป็นแบบ credit หรือ non-credit course ระยะเวลาเรียนเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไรทั้งค่าสอบ ค่าเรียน และค่าหนังสือ เป็นต้น ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมให้โทรศัพท์ หรือส่งอิเมล์ไปถามสถาบันที่เรียนโดยตรงเลย เราเคยส่งอิเมล์ไปถามมหาลัยเกี่ยวกับคอร์สที่จะเรียน เขาตอบกลับมาไวมาก และให้รายละเอียดดีมากๆ เลย 
  2. บางโรงเรียนจะให้ยืมหรือมัดจำหนังสือเรียน พอเรียนเสร็จก็คืน แต่บางโรงเรียนจะให้ซื้อหนังสือ ถ้าซื้อแบบมือสองจะถูกกว่า สามารถหาซื้อได้ทั้งที่โรงเรียนเอง และออนไลน์อย่าง Amazon, Ebay 
  3. เวลาสมัครเรียนอย่าลืมนำเอกสารติดตัวไปด้วย หลักๆ คือ passport, VISA, DS-2019, I-94 และค่าลงทะเบียน (เช็คก่อนด้วยว่าให้ชำระเงินได้ทางไหนบ้าง) เป็นต้น ซึ่งบัตรนักเรียนมีประโยชน์ใช้เป็นส่วนลดร้านค้าต่างๆ ได้

💛ใบประกาศนียบัตรหลังจบคอร์ส
- บางแห่งจะให้ประกาสนียบัตรรับรองมาให้ แต่บางแห่งไม่มี ก่อนเรียนจบก็บอกอาจารย์ผู้สอน หรือติดต่อofficeของโรงเรียนว่าขอจดหมาย/ใบรับรองชั่วโมงการเรียน (กรณีเรียนแบบ non-credit) เพื่อจะได้เอาไปยื่นให้กับเอเจนซี่ไว้
หน้าตาประกาศนียบัตรคลาสแบบ non-credit ที่ community college ก็จะนับชั่วโมงเอา 
เพราะค่าเรียนแบบ credit class แพงเกินกว่าเงิน $500 ที่โฮสให้มาก

Adult school นี้ LCC ไม่ให้ผ่านจ้า แต่ลงเรียนไปประดับความรู้เพราะเงินที่โฮสให้เหลือ ไม่อยากคืน

คลาสนี้เป็น ESL แบบnon-credit class ที่ community college แต่ไม่มีใบประกาศนียบัตรให้
เลยให้คุณครูช่วยเขียนจดหมายรับรองการเรียนให้หน่อย 
โดยใช้หัวจดหมายที่มีตราของโรงเรียน ลงชื่อ-นามสกุล ชื่อคลาส เทอม และชั่วโมงที่เรียนทั้งหมด

💝 หมายเหตุ
  • ต้องเรียนให้จบก่อนเดือนที่ 11 ของการเป็นออแพร์ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถต่อปีสองได้
  • บางเอเจนซี่อนุญาตให้ออแพร์ที่ลงเรียนเกิน 6 หน่วยกิต หรือ 72 ชม.ในปีแรก สามารถเก็บส่วนที่เกินไปใช้ในปีสองได้ กรณีต่อปีสอง

หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ

เอกสารสำคัญที่ออแพร์ต้องทำเมื่อถึงอเมริกา

สรุปรายการที่ต้องทำ อันนี้ออแพร์ต้องรับผิดชอบตัวเองนะ บางทีโฮสต์ก็ไม่รู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะโฮสต์ใหม่ที่ไม่คยมีออแพร์มาก่อน เราต้องตามเอง (ไม่ได้หมายความว่าให้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง) แต่ควรบอกให้โฮสต์ช่วยพาไปทำ
  1. I-94 ทำตั้งแต่อยู่ Training school
  2. Sim Card
  3. SSN
  4. Debit/Credit Card
  5. Driver's license / State ID card 
1. I-94
          เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกา สิ่งสำคัญก็คือการกรอกใบ ตม.ของที่นี่ ซึ่งเรียกว่า I-94 number โดยเขาเปลี่ยนจากการกรอกในกระดาษแล้วยื่นก่อนเข้าประเทศ กลายมาเป็นทำออนไลน์ทันทีที่คุณมาถึงอเมริกา (เดี๋ยวเจ้าหน้าที่เอเจนซี่จะอธิบายเองตอนปฐมนิเทศน์ที่ Training School)
          โดยเข้าไปกรอกในเว็บไซต์ https://i94.cbp.dhs.gov/I94/#/home เลือกตรง Get Most Recent I-94 เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะได้ตัวเลขมา ให้จดเลขนั้นไว้แล้วเก็บไว้เป็นความลับ ห้ามเปิดเผยให้ใครรู้ เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญมาก กรอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเข้าบ้านโฮสต์แล้วค่อยไปปริ้นท์ออกมา  
          การปริ้นท์ก็เข้าเว็บเดิม กรอกข้อมูลตามเดิม แล้วสั่งปริ้นท์ออกมาได้เลย
          ต่อไปเวลาเราเข้า-ออกประเทศอเมริกาทุกครั้งก็จะได้รับการบันทึกในเว็บนี้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ และหมายเลขบนระบบ I-94 จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่กลับเข้ามาใหม่

(ตัวอย่าง I-94)

2. Sim Card

          เมื่อมาถึงบ้านโฮสต์ สิ่งที่ควรจะมีอันดับแรกคือ ซิมการ์ด เพราะจะได้สามารถติดต่อสื่อสารกับโฮสต์แฟมิลี่ได้ ที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) เพื่อน และใช้เบอร์โทรศัพท์ในดำเนินการต่างๆ ได้ ส่วนจะซื้อของค่ายไหนดี ต้องถามโฮสต์เลยจ้า บางคนโฮสต์ก็จ่ายให้หมด บางคนก็หารครึ่ง บางคนออแพร์ก็ต้องจ่ายเอง แต่ส่วนใหญ่โฮสต์จะaddเข้า family plan ให้ทำให้ประหยัด (ได้ราคาถูกลง) *ใช้โทรภายในประเทศเท่านั้น

          ถ้าโทรต่างประเทศ เช่น โทรกลับไทยจะแพงมากๆๆๆๆ ควรโทร/แชทผ่านapplication ฟรี เช่น LINE, Skype, Facebook Messenger, Whatapps, Facetime หรือซื้อบัตร Calling Card 


Calling card หน้าตาแบบนี้จ้า ซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อ โกรเซอรี่ หรือซื้อทางออนไลน์ก็ได้ มีหลายราคาถูกๆ ถ้าซื้อแบบบัตรก่อนใช้ต้องขูดรหัสPINก่อน แล้วกดหมายเลข Access number ตามด้วย PIN และหมายเลขปลายทางของคนที่ต้องการโทรหา

หรือกรณีจำเป็นต้องโทรเข้าโทรศัพท์ที่ไทย ให้โทรผ่านapplication เช่น Skype creditMobileVOIP, RebtelKeepCallingtolld.comgood2call.comGoogleVoice www.thaidail.netcall muang ThaiVonage VoipDiscount.comhttp://www.cthai.com/ (บางแอพเราใช้อินเทอร์เน็ตในการโทรเข้ามือถือฝั่งไทย แต่ที่ไทยคนรับ รับโทรศัพท์ปกติไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต) หรือบางคนเปิดซิมไทยโดยใช้ wifi calling คิดค่าใช้บริการรายเดือนตามไทย

KeepCalling โทรไปเมืองไทย นาทีละ 3.9 เซ็นต์เท่านั้นเอง เติม $5 โทรได้ตั้ง 2 ชั่วโมง

         * เตือนอีกรอบ อย่าโทรไปต่างประเทศ หรืออย่ารับโทรศัพท์ที่โชว์เบอร์แปลกๆ หรือโชว์ว่าเป็นสายเข้าจากต่างประเทศ เพราะคนรับ (ก็คือเรา) จะโดนชาร์จแพงมากๆๆๆๆๆๆ คิดเป็นนาทีเลย

3. SSN


          SSN ย่อมาจาก Social security number หรือเลขที่ประกันสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการทำธุรกรรมที่อเมริกา เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร 
          ขั้นตอนการทำง่ายมาก เสิร์ชหา Social security office ที่ใกล้บ้าน แล้วนำเอกสารต่างๆ ดังต่อไปนี้ไป ได้แก่
  1. Passport
  2. DS-2019
  3. I-94 
  4. จดหมายรับรองที่อยู่จากโฮสต์แฟมิลี่ (ปริ้นท์จากเว็บไซต์ของเอเจนซี่)
ไปในวันทำการ ไปถึงจะมีเจ้าหน้าที่คล้ายๆเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะถามว่ามาทำอะไร แล้วก็กดบัตรคิวเสร็จ เขาจะยื่นแบบฟอร์มการขอเลข SSN ให้กรอก (จะปริ้นท์ไป หรือจะไปเอาที่นั่นเลยก็ได้) แล้วก็นั่งรอเรียกชื่อ เมื่อถีงคิวก็ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ บอกว่ามาทำ SSN ครั้งแรก เจ้าหน้าที่จะพิมพ์ข้อมูลตามเอกสารที่เรายื่นให้ลงในคอม และถามข้อมูลนิดหน่อย เช่น อยู่บ้านหรืออพาร์ทเม้นต์? ทำงานอะไร?(ตอบไปว่าออแพร์ หรือแนนนี่) ใช้เวลาไม่นาน เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์เสร็จเขาจะปริ้นท์ใบออกมาให้เราตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง และให้ใบเสร็จกลับมา ก็กลับบ้านได้
          * ข้อ 9 ให้กรอกชื่อ นามสกุลเดิมของมารดาก่อนแต่งงาน

 
(รูป ตัวอย่างแบบฟอร์มการขอ SSN)

          บัตร SSN จะถูกส่งไปที่บ้านภายใน 2 อาทิตย์ เมื่อเราได้รับบัตร SSNแล้ว ให้เซ็นชื่อในช่อง signature ทันที บันทึกเลข SSN ทั้ง 9 ตัวนั้นไว้ในมือถือ ทำสำเนาบัตรแยกเก็บไว้ ส่วนบัตรตัวจริงเก็บไว้ที่บ้านในที่ปลอดภัย เวลาไปทำธุรกรรมหรือติดต่ออะไรที่ต้องใช้เลข SSN ก็บอกแค่เลขเขาไป โดยไม่ต้องพกบัตร เพราะเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
          เนื่องจาก SSN จะมีข้อมูลทุกอย่างของเราเลย ประวัติส่วนตัวเรา ฐานะการเงิน การเสียภาษีรายได้ ประวัติเครดิต การประกันสุขภาพ ประวัติการเรียน การทำงานไว้ทั้งหมด อาจมีข้อมูลและที่อยู่ของโฮสต์แฟมิลี่อยู่ด้วย จึงต้องรักษาดีๆ ห้ามเปิดเผยหรือให้เลข SSN กับใครไปใช้เป็นอันขาด หากมีใครนำเลข SSN ของเราไปใช้อย่างผิดกฏหมายเราต้องรับผิดชอบทั้งหมดเสมือนเราเป็นคนทำ เฉพาะบางกรณีที่จำเป็นต้องใช้ SSN card ตัวจริงค่อยพกไป
          * เลข SSN นี้ขอได้ครั้งเดียว ใครที่เคยมาอเมริกาและขอเลข SSN แล้ว เช่น มา Work&Travel หรืออะไรก็ตาม อย่าไปขอซ้ำนะ คนหนึ่งมีSSNได้อันเดียวเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.ssa.gov/

4. Debit card/Credit Card


          สิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างนึงคือ เปิดบัญชีธนาคารและทำบัตรเดบิต/เครดิต เพราะคนอเมริกันนิยมใช้บัตรในการซื้อของกัน ไม่ค่อยมีใครพกเงินสด ส่วนใหญ่จะพกติดตัวไว้เล็กน้อยกรณีไปร้านอาหารและให้ค่าทิป นอกจากนี้เวลาเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมัน หรือขึ้น uber ก็ต้องจ่ายด้วยบัตร การซื้อของออนไลน์ก็ตัดเงินผ่านบัตร แถมบางครั้งยังได้ส่วนลดหรือเงินคืนด้วย ธนาคารส่วนใหญ่จะต้องใช้เลข SSN และ passport ในการเปิดบัญชี แต่มีบางธนาคารไม่ต้องใช้เลข SSN เช่น Bank of America
          ในการเปิดบัญชี ให้เปิดเป็น checking account ของธนาคารที่มีสาขาเยอะๆ แถวบ้าน หรือปรึกษาโฮสต์เพราะโฮสต์อาจะสะดวกโอนเงินค่าจ้างเข้าธนาคารนั้นๆ และอย่าลืมสอบถามค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่างๆ ของบัญชีและบัตรเดบิต/บัตรเครดิตด้วย และควรเปิดเป็นชื่อเราเอง ไม่ควรผูกบัญชีกับโฮสต์หรือทำเป็นชื่อโฮสต์ เพราะเวลามีปัญหา เช่น รีแมช ก็ต้องปิดบัญชีคืนโฮสต์อีก ยกเว้นกรณีที่ยอดเงินไม่ถึงขั้นต่ำที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายเดือนทำให้ต้องผูกบัญชีกับโฮสต์ก็ว่าไป
          * สำหรับคนที่มีแต่บัตรเดบิต บางครั้งการซื้อของออนไลน์นั้นไม่สามารถใช้บัตรเดบิตได้ จำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต หรือมีบัญชี Paypal ก็สามารถใช้แทนบัตรเครดิตได้ สะดวกมากๆ ช่องทางการโอนเงินให้เพื่อนทางอื่นๆ ก็เช่น Facebook Messenger's Payment ก็สะดวก

5. Driver's License / State ID Card


          สำหรับคนที่ต้องขับรถ แล้วมีใบขับขี่สากล ต้องตรวจสอบกฏหมายแต่ละรัฐว่าอนุญาตให้ใช้นานเท่าไร ถ้าเกินจากนั้นต้องสอบใบขับขี่ของรัฐ เมื่อได้ใบขับขี่แล้วก็สามารถใช้แทนpassport หรือ ID card ได้เลย ไม่ต้องพก passport ไปไหนมาไหนสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ถ้าออกนอกประเทศอย่าลืมพกPassport ด้วยนะ ใบขับขี่ของรัฐมีอายุ 1 ปี


          สุดท้ายสิ่งที่ทำไว้ก็ดี ไม่ทำก็ได้ นั่นคือ State ID card สามารถทำได้ที่กรมการขนส่ง (DMV) เอกสารที่ใช้เหมือนการทำใบขับขี่เลย ถ้ามีแล้วก็สามารถใช้แทน passport ได้ และเอาไว้สำหรับเป็นส่วนลดในการเข้าพิธภัฑ์ หรือซื้อบัตรเครื่องเล่นในราคาResidentได้ถูกกว่า เช่น บัตร Disney's world, Universal Studio, SeaWorld ของฟลอริด้านั้นเสียค่าทำ ID card $25 มีอายุใช้งาน 1  ปี หลักฐานที่ใช้ทำได้แก่ passport, SSN และหลักฐานยืนยันที่อยู่ เช่น จดหมายจากธนาคาร



วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ใกล้เดินทางแล้ว ออแพร์จัดกระเป๋าอย่างไรดี

สวัสดีค่ะ หลังจากที่ห่างหายจากการเขียนบล็อคมาสักพักใหญ่ๆ เพราะมัวแต่วุ่นวายกับการเตรียมตัวเดินทางและปรับตัวกับชีวิตที่อเมริกาครั้งแรก

วันนี้จะมารีวิวการจัดกระเป๋าเตรียมตัวเดินทาง ว่าอะไรควรเอามา หรือไม่เอามา จะได้ไม่พลาดแบบเรา ถ้าย้อนเวลากลับไปได้อยากขนมาทุกอย่างเลย เพราะบางอย่างถึงที่นี่จะมีขายแต่ก็แพงกว่า และบางครั้งรสชาติก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

(https://vincentloy.files.wordpress.com/2017/02/midtown-luggage-storage.png)

เราแนะนำว่าขั้นต่ำให้เอากระเป๋ามา 3 ใบค่ะ ประกอบด้วย กระเป๋าสำหรับหิ้วขึ้นเครื่อง 1 ใบถ้าเป็นเป้สะพายหลังจะสะดวกค่ะ เราไม่ชอบหิ้วพะรุงพะรัง แต่ถ้าใครถนัดก็โอเคค่ะ และกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ไว้โหลดใต้ท้องเครื่อง 2 ใบกำลังดี ทั้งนี้ให้ดูเงื่อนไขและข้อกำหนดของสนามบินด้วยนะคะว่าจำกัดขนาดและน้ำหนักกระเป๋าเท่าไร โหลดกระเป๋าฟรีไหม หรือต้องเสียค่าโหลดเท่าไร (ส่วนใหญ่เที่ยวบินระหว่างประเทศขามาจากไทยจะให้โหลดกระเป๋าฟรี แต่สายการบินภายในประเทศตอนบินจากtraining school ไปบ้านโฮสต์ ออแพร์จะต้องเสียค่าโหลดกระเป๋าเอง) แล้วก็จดที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของโฮสต์ติดกระเป๋าด้วยนะคะ

และอย่าลืมอัพเดทประกาศจากข่าวทางอเมริกาว่าห้ามเอาอาหารอะไรเข้าประเทศบ้าง ที่https://help.cbp.gov/app/answers/detail/a_id/1272/~/food---general-food  *โดยเฉพาะ ของที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ทั้งที่แปรรูปแล้วหรือยังไม่แปรรูป ผลไม้ที่มีเมล็ด ห้ามนำเข้า เพราะจะโดนปรับหลายพันบาท ถ้าอยากได้ให้ซื้อที่เอเชียนมาร์เก็ต หรือสั่งออนไลน์ที่อเมริกาเอาค่ะ แต่อาหารทะเลเอามาได้  ตอนจะเข้าประเทศต้องเขียนใบ Declaration ด้วย
(https://usa-esta.us//wp-content/uploads/2015/08/form-arrival.jpg)

ช่วงเรามา มิถุนายน 2017 โน้ตบุ้ค แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใหญ่กว่ามือถือ ไม่อนุญาตให้หิ้วขึ้นเครื่องกรณีบินจากสายการบินอาหรับเข้าสหรัฐอเมริกา แต่อยากเอามา ทำไงดี? สามารถทำได้ 2 วิธีค่ะ คือ
1. โหลดใส่กระเป๋าเดินทาง แต่ต้องแพ็คดีๆนะคะ ของเราไปซื้อพลาสติกกันกระแทกมาจากไปรษณีย์ ซื้อมา 5-6ใบเลยค่ะ ไม่แพง มาห่อๆแล้วพันด้วยเสื้อผ้าของเราอีกทบนึง หรือใครที่ต้องเดินทางไปรัฐที่อากาศหนาวๆมีเสื้อผ้าหนาๆอยู่แล้วก็พันโน้ตบุ๊คไปเลยค่ะ
2. หิ้วขึ้นเครื่องมาก่อน แล้วพอถึงช่วงต่อเครื่องเค้าจะมีบริการแพ็คให้ฟรีและโหลดใต้ท้องเครื่องค่ะ อันนี้ไม่แน่ใจว่าสายการบินไหนมีบริการแบบนี้บ้าง เท่าที่ทราบคือ Qatar airway และ Emirates ค่ะ
ยกตัวอย่างของเรา สายการบิน Qatar airway บินจากไทยมาต่อเครื่องที่โดฮา ประเทศกาตาร์ เราสามารถหิ้วโน้ตบุ๊คขึ้นเครื่องได้ (แม้พนักงานที่สนามบินสุวรรณภูมิจะพยายามบอกว่าไม่ได้ๆ แต่จริงๆมันได้ไง เพราะเช็คกับทางสายการบินแล้ว เพื่อนเราบางคนโชคดีเจอพนักงานรู้จริงก็ให้ผ่านค่ะ บางคนโชคร้ายหน่อย เถียงไม่สำเร็จก็ต้องยัดใส่กระเป๋าเดินทางไป ไม่รับประกันความเสียหายด้วย) เมื่อบินมาถึงโดฮาแล้ว เจ้าหน้าที่ตม.จะถามค่ะว่าใครมีโน้ตบุ๊คหรือกล้องถ่ายรูปไหมให้ไปเข้าคิวแพ็คใส่กล่อง ซึ่งเค้าจะห่อพลาสติกกันกระแทกและใส่ลงกล่อง พร้อมติดป้ายชื่อของเราให้อย่างดีเลยค่ะ แล้วถึงจะให้เราหิ้วไปเข้าตม.ได้ หลังจากนั้นกล่องโน้ตบุ๊คของเราก็จะถูกโหลดไปพร้อมกับกระเป๋าเดินทางใต้ท้องเครื่อง เมื่อถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว เราก็ไปรับกล่องใส่โน้ตบุ๊คเราได้พร้อมกับกระเป๋าเดินทางที่สายพาน baggage claim ปกติค่ะ ซึ่งวิธีนี้สายการบินรับประกันกรณีโน้ตบุ๊คเราหายด้วย แต่ไม่รับประกันกรณีเสียนะคะ

** แต่หลังจาก 17 กรกฏาคม 2017 ยกเลิกข้อห้ามนี้แล้ว สามารถหิ้วโน้ตบุ๊คได้ปกติตามเดิมค่ะ

สิ่งของที่ควรนำมา

1. กระเป๋า carry-on หิ้วขึ้นเครื่อง จะเป็นเป้สะพายหรือแบบลากก็ตามสะดวก
  1. เอกสารสำคัญ ได้แก่ passport, ใบ DS-2019, ประวัติและที่อยู่ host family, สำเนาเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน transcript เผื่อต้องใช้ (ถ่ายไว้ 3-5 ชุดเลย สำรองเก็บไว้ในอิเมล์ และที่บ้านด้วย), ปริ้นท์ไฟลท์บินมาด้วยเผื่อว่าเครื่องดีเลย์หรือมีปัญหาอะไร จะสะดวกกว่ายื่นโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่
  2. กระเป๋าเงิน บัตรต่างๆ ได้แก่ บัตรประชาชน, ใบขับขี่, บัตรเครดิตที่กดเงินต่างประเทศได้
  3. เงิน จริงๆมีคนแนะนำว่าควรพกมาประมาณ 200-300 USD ค่ะ เพราะทำงานอาทิตย์แรกก็ได้เงินเลย กินอยู่กับโฮสต์ แล้วส่วนใหญ่ไมไ่ด้ใช้จ่ายอะไร นอกจากซื้อข้าวเย็นและขนมกินตอนอยู่ Training school และไว้เป็นค่าโหลดกระเป๋าตอนบินไปบ้านโฮสต์ แต่เราพกมา 500 USD ค่ะ เพื่อช้อปปิ้งด้วย แต่ต้องดูแลเงินดีๆนะคะ ระวังหาย แบ่งเก็บหลายๆช่อง เก็บไว้กับตัวด้วย ในกระเป๋าสตางค์ด้วย
  4. เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ถุงเท้า รองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะ สำหรับใส่อาทิตย์แรกเผื่อเที่ยวบิน หรือกระเป๋าเดินทางดีเลย์จะได้มีเสื้อผ้าใส่ เอามาให้หลากหลายด้วยก็ดีนะคะ ที่นี่อากาศแปรปรวนมากค่ะ วันนึงมีสามฤดู
  5. อุปกรณ์อาบน้ำ จำพวกสบู่ แชมพู แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ครีมทาผิว โรลออน ขวดเล็กๆ ไม่เกินขวดละ  100 ml และรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 1000 ml
  6. เครื่องสำอางนิดหน่อย โลชั่นและคลีนเซอร์ โฟมล้างหน้าขวดเล็ก หวี ยางรัดผม ไม้พันสำลี
  7. ผ้าขนหนู สำหรับบางเอเจนซี่มีเตรียมไว้ให้ใช้ตอนปฐมนิเทศอยู่แล้ว และที่บ้านโฮสต์ต้องเตรียมให้ เลยไม่ได้เอามา
  8. ปากกา จำเป็นมาก ที่อเมริกานิยมใช้ปากกาดำกัน เอาไว้กรอกใบimmigration และ declaration
  9. โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หูฟัง ส่วนซิมโฮสต์ส่วนใหญ่จะซื้อให้ตอนมาถึงบ้าน
  10. ยาประจำตัว (แบ่งมานิดหน่อย ที่เหลือใส่กระเป๋าเดินทางไป) ได้แก่ ยาดม อันนี้จำเป็นมาก เพราะนั่งสายการบินแขก กลิ่นตลบอบอวลค่ะ เผื่อเมาเครื่องบินด้วย, พาราเซตามอน มักจะมีอาการปวดหัวกันเพราะนั่งเครื่องบินยาวนานหลายชั่วโมง เจออากาศที่หลากหลายด้วย พักผ่อนไม่เป็นที่ด้วย, ยาประจำตัวอื่นๆ เช่น ยาแก้แพ้ พลาสเตอร์ปิดแผล ยาแก้เมารถเมาเรือ ฯลฯ
  11. เสื้อกันหนาวใส่คลุมมาเลยจะได้ลดน้ำหนักกระเป๋า, หมอนรองคอ สำคัญมาก นั่งเครื่องนาน จะใส่คอขึ้นมาเลยก็ได้ หรือจะห้อยไว้ที่กระเป๋าก็ได้, หมวก แว่นตากันแดด
  12. ขนมเล็กๆน้อยๆ เช่น ลูกอม เผื่อฝากเพื่อนๆออแพร์ชาติอื่นที่เจอตอนปฐมนิเทศ, มาม่า, โจ๊ก เผื่ออาหารที่นี่ไม่ถูกปาก
  13. คอนแทคเลนส์ น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ ที่นี่ค่าตรวจสายตา ค่าตัดแว่น คอนแทคเลนส์แพงมากเลย ต้องมีใบสั่งจากแพทย์มาถึงซื้อได้ ควรวัดสายตามาจากไทยให้เรียบร้อย
  14. อื่นๆ เช่น กระดาษทิชชู่ ยางรัดผม กระบอกน้ำเปล่าๆไว้เติมน้ำในสนามบิน
  15. Power bank ห้ามโหลด ให้ถือขึ้นเครื่องเท่านั้น
  16. Notebook, กล้องถ่ายรูป, ไดร์เป่าผม, ปลั๊กพ่วง, หัวเสียบ Universal เพราะที่นี่รูเต้าเสียบไม่เหมือนเมืองไทย และปลั๊กพ่วงต่อกับตัวแปลงปลั๊กอีกทีจะได้สามารถชาร์จอะไรได้หลายอย่างพร้อมกัน  แต่ถ้าเป็นพวกโทรศัพท์ไอโฟนสามารถเสียบปลั๊กที่นี่ได้เลย
* Notebook \ใครไม่อยากเอามาก็ได้ค่ะ มีแต่คนบอกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นี่ถูกและซื้อง่ายมาก (ยกเว้นกล้อง หาซื้อยากหน่อย) สั่งจากAmazonยังได้เลยค่ะ ใครพอมีความรู้หน่อยก็ซื้อมาลงโปรแกรมเองก็ได้ แต่อาจต้องซื้อสติ๊กเกอร์แป้นพิมพ์ภาษาไทยมาติดเพิ่ม และไม่แน่ใจว่าจะเอากลับไปใช้ต่อที่ไทยได้หรือเปล่า เพราะขนาดกำลังไฟฟ้าที่นี่น้อยกว่าที่ไทยค่ะ เครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างไปเสียบที่ไทยอาจระเบิดได้

2. กระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง 1-2 ใบ  ควรซื้อที่มีตัวล็อคแบบ TSA เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่สุ่มเปิดตรวจกระเป๋า จะได้ไม่โดนแงะเพราะเขามีกุญแจสำหรับตัวล็อค TSA เวลาตรวจเสร็จเขาจะทิ้งกระดาษnotice of baggage inspectionไว้ในกระเป๋าให้รู้ว่าโดนเปิดตรวจ ขนาดกระเป๋าที่เหมาะสมเราคิดว่าควรเป็นสองใบที่ขนาดต่างกัน หรือถ้า Carry-on เป็นกระเป๋าลากแล้วจะเอาโหลด 2 ใบใหญ่ก็ได้ เผื่อไปเที่ยวในประเทศจะได้มีใบเล็กใช้ ของที่ใส่มาควรเฉลี่ยๆ กระจายๆ ไปทั้งสองกระเป๋า อย่าเอาของอย่างเดียวกันกระจุกที่กระเป๋าใบเดียวกัน โดยเฉพาะอาหาร เผื่อเกิดโดนยึดจะได้เหลือรอดอีกใบนึง
(https://qph.fs.quoracdn.net/main-qimg-5533b8fff6696eb1c46316d2e0886a6f-c)
  1. อาหาร  พวกของแห้งที่ทำกินง่ายๆ ห้ามนำเข้าเมล็ดพันธ์พืชผัก หรือผลไม้ที่มีเมล็ด หรือเนื้อสัตว์ทั้งที่แปรรูปแล้วหรือยังไม่แปรรูป แต่ถ้าเป็นอาหารทะเลแห้งเอามาได้ค่ะ ไม่แนะนำอาหารกระป๋องหรือขวดแก้วเพราะมันหนัก ปริมาณสำหรับพอกิน 1 เดือนแรก โดยเฉพาะคนที่ต้องไปอยู่รัฐไกลๆ ไม่ค่อยมีเอเชียนมาร์เก็ตแถวบ้าน (เสิร์ชดูเอเชียนมาร์เกตแถวบ้านได้จาก yelp) เวลาจะทำเมนูอะไรก็แสนจะลำบาก ขาดนู่นขาดนี่ และช่วงมาแรกๆอาจไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเพราะไม่คุ้นที่ทาง หรือรู้สึกว่าของที่นี่แพง ไม่กล้าซื้อ (แต่อยู่ๆไปจะกลายเป็นนักช้อปโดยไม่รู้ตัว) เหมือนเราเอง เสียใจมากที่เอามานิดเดียว
    • ผงปรุงรส ผงแกง ผงปรุงอาหารต่างๆ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ผงชูรสด้วยก็ดี แต่ถ้ามั่นใจในฝีมือก็ไม่ต้อง
    • น้ำพริกต่างๆ และพริกแกง
    • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ผัดหมี่โคราช, โจ๊กซอง
    • ขนมขบเคี้ยว ลูกอม
    • ใครชอบกินเมนูอิสาน ก็อาจจะเอาพวกกะปิ ปลาร้า กุ้งแห้งมาจะดีมาก
    •  เครื่องปรุง ซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ น้ำจิ้มสุกี้ น้ำมะขามเปียก(ที่คิดว่าหาไม่ได้ที่นี่)
    • ขนมสำหรับฝากโฮสต์ ของเราเอาเป็นหมี่กรอบ ขนมกลีบลำดวน แล้วก็ปลาหมึกแผ่นมา (อยากนำเสนอความเป็นไทย ฮ่าๆ) จะเอาทุเรียนทอดมาก็กลัวมันแตก ขนาดกลีบลำดวนกล่องยังแตกเลย
    👉 ไอเดียของฝากให้โฮสต์แฟมิลี่
  2. เครื่องแต่งกาย
    - เสื้อผ้า กางเกง เตรียมมาให้หลากหลายสำหรับ 3 ฤดูเลย ปริมาณให้พอสำหรับใส่ 2 อาทิตย์ เน้นกางเกงยีนส์จะสามารถใส่ได้กับเสื้อหลายตัว และเข้ากับสภาพอากาศส่วนใหญ่ กางเกงขาวยาวอยู่บ้าน ใส่ทำงาน
              *ที่นี่เสื้อผ้าลดราคาบ่อยทั้งแบรนด์เนมไม่แบรนด์เนม ราคาไม่แพง แต่อาจเลือกไซส์หรือสไตล์ยากหน่อย บางทีก็ไม่ถูกใจเนื้อผ้า ใครที่คิดว่าไม่ชอบก็ขนมาเองเลย
    - เสื้อกันหนาว เอามา 2-3 ตัว หรือตามสภาพอากาศของรัฐนั้นๆ ค่อยมาหาซื้อเอาที่นี่ เพราะเสื้อกันหนาวเมืองไทยกันไม่ค่อยอยู่ ถ้าใส่ในถุงพลาสติกสุญญากาศจะช่วยกระหยัดพื้นที่ได้มาก แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร พับๆเอา มีช่องว่างเล็กๆน้อยๆ ก็ยัดของชิ้นเล็กๆลงไป
    - เสื้อชั้นใน เอามาสำหรับใส่ 1-2 อาทิตย์เลย ยิ่งผู้หญิงหน้าอกเล็กๆ เอามาเยอะๆ เพราะที่นี่หาไซส์เล็กยาก
    - แต่กางเกงในที่นี่หาซื้อง่ายอยู่ มีไซส์สำหรับสาวไทย
    - เสื้อผ้าที่เป็นทางการหรือชุดสุภาพ 1 ชุด เผื่อต้องไปไหนที่เป็นทางการ
    - ชุดสวยหรือชุดกระโปรงสัก 1 ชุด(หรือหลายชุดก็ได้) เผื่อต้องไปเที่ยว/ออกงาน เอาชุดไทยมาด้วยก็ดี
    - ชุดว่ายน้ำ กางเกงขาสั้น เสื้อคลุมชุดว่ายน้ำ สำหรับเล่นน้ำทะเล
    - ถุงเท้าสำหรับใส่สัก 1 อาทิตย์
    - รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบอย่างละคู่ ไม่ต้องเอามาเยอะ ที่นี่ราคาถูกมาก
    - หมวก แว่นตากันแดด
    - ผ้าพันคอ
    - เสื้อกล้าม เสื้อทับ กางเกงซับใน
    - ชุดนอน
    - เครื่องประดับที่ชอบ กิ๊บ ต่างหู ที่คาดผล กำไล ฯลฯ
  3. สบู่ แชมพู ครีมนวด ยาสีฟัน ส่วนใหญ่โฮสต์จะเตรียมให้ จะเตรียมมาเผื่อก็ได้ ที่ควรมีแน่ๆก็คือแปรงสีฟัน และโฟมล้างหน้าที่ใช้ประจำ
  4. ผ้าอนามัยจำเป็นมาก เพราะที่นี่แพง
  5. โลชั่น ครีมทาผิว เครื่องสำอางไม่ต้องมาก ที่นี่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ยกเว้นแบรนด์ที่มีเฉพาะ
  6. เครื่องเขียน สมุด
  7. ที่หนีบผม ต้องดูกำลังไฟฟ้าให้ดีว่าสามารถมาใช้กับที่นี่ได้หรือเปล่า ส่วนใหญ่เอามาแล้วจะพบว่ามันร้อนช้ามาก มาซื้อที่นี่เอา ราคาไม่แพง ไดร์เป่าผมสามารถซื้อได้ทั่วไปเลย
  8. หวี ยางรัดผม กิ๊บติดผม ไม้พันสำลี เอามาด้วย จะมาซื้อเพิ่มที่นี่ก็มีขายทั่วไป
  9. ของฝากสำหรับโฮสต์และเด็กๆ ตัวอย่างเช่น ชุดเด็กไทย ผ้าพันคอ กระเป๋าถัก โปสการ์ดสวย ฯลฯ (คลิก ดูไอเดียของฝากสำหรับโฮสต์แฟมิลี่)
  10. ของมีคมต่างๆ ห้าม carry-on ขึ้นเครื่อง ให้โหลดในนี้ เช่น กรรไกรตัดเล็บ แหนบ(ลืมเอาแหนบมาจากเมืองไทย มาซื้อที่นี่เกือบ 3 USD แต่ต้องจำใจซื้อเพราะไม่มีจะใช้)
  11. ยาต่างๆ ได้แก่
    - พาราเซตามอน สำหรับคนที่ไม่ค่อยเจ็บป่วย เอามาไม่ต้องเยอะ เพราะเป็นยาพื้นฐานสามารถหาที่นี่ได้
    - ยาดม ยาหม่อง วิก
    - ยานวดกล้ามเนื้อ
    - ยาฆ่าเชื้อ amoxicillin (จริงๆ ไม่ควรซื้อยาทานเอง แต่ค่ารักษาพยายาลที่นี่ก็แพงเหลือเกิน amoxicillin เป็นยาฆ่าเชื้อเบื้องต้นค่ะ กินครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์ ถ้าไม่หายต้องทานยาตัวอื่นที่แรงขึ้นไปอีก ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรดีกว่าค่ะ ไม่กล้าแนะนำ)
    - ยาฆ่าเชื้อ orfloxacin แก้ท้องเสีย หรือผงถ่าน และผงเกลือแร่
    - ยาลดกรด ยาขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาธาตุ
    - ยาแก้แพ้
    - เราชอบเจ็บคอร้อนใน ที่บ้านจะชอบให้กินยาขมเม็ดตราใบห่อ เลยเอามาด้วย
    - ยาแก้ปวดประจำเดือน
    - ยาแก้เมารถ เมาเรือ สำหรับคนที่เมา
    - วิตามิน ที่นี่วิตามินหาซื้อง่ายและราคาถูกมาก ไม่ต้องเอามาก็ได้ค่ะ
    - ยารักษาโรคประจำตัว ยาทาสิวสำคัญมากๆ
  12. ผ้าขนหนูคิดว่าโฮสต์มีให้ ไม่ต้องเอามาค่ะ
  13. ถุงตาข่ายซักผ้า และตะกร้าใส่เสื้อผ้าที่เป็นตาข่ายสามารถพับเก็บได้ เหมาะกับเวลาพกไปไหนกางออกมาได้ เพราะคนที่นี่(เท่าที่เห็น)ไม่ค่อยใช้ตะกร้ากัน ชอบกองๆเสื้อผ้าไว้ ถึงเวลาก็เอาเข้าเครื่องซักผ้า แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรมากมาย
  14. อื่นๆ เห็นบางคนพกเตาปิ้งหมูกระทะ ที่ขูดมะละกอมา