วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

เลือก Host Family ที่ใช่ (2) ตารางงานและหน้าที่รับผิดชอบ

https://cdn1.vectorstock.com/i/thumb-large/29/25/mother-and-father-with-children-happy-family-vector-9922925.jpg

ปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาก่อนแมตช์ (match) กับโฮสต์

1. ปัจจัยเกี่ยวกับเด็ก (Host Kid) : จำนวนเด็ก อายุเด็ก เพศของเด็ก เด็กพิเศษ
         👉อ่านต่อที่ https://aupairniceinusa.blogspot.com/2018/04/choosehostfamily.html

2. ตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบของออแพร์
อย่างที่บอกอยู่เสมอคือเราต้องแม่นเรื่องกฏนะคะ จะได้ไม่ถูกโฮสเอาเปรียบ
          (1) ออแพร์ทำงานไม่เกินวันละ 10 ชม. รวมกันไม่เกินสัปดาห์ละ 45 ชม. ทำน้อยกว่านี้ได้ แต่ทำเกินไม่ได้จ้า ผิดกฏ
การนับชั่วโมงการทำงานคือนับทุกเวลาที่เราต้องทำงาน และเวลาที่เราอยู่กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะนอนกลางวัน (nap) เพราะถ้าเราต้องอยู่บ้านกับเด็ก ออกไปไหนไม่ได้ ก็ถือว่านั่นอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของเราอยู่ คือเวลาทำงานค่ะ
          ออแพร์บางคนต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียน ถ้าโรงเรียนอยู่ไกลกว่า 5-10 นาที เราควรนับเป็นชั่วโมงทำงานค่ะ ตัวอย่างเช่น ต้องขับรถไปโรงเรียน 30 นาที ตอนขับไปส่งถึงโรงเรียนตอน 8:00 am ส่งเสร็จได้พัก ออแพร์จะไปไหนก็ได้ บางคนก็อาจนับชั่วโมงทำงานสุดถึงแค่ 8:00 am ตอนบ่ายต้องไปรับน้องให้ทัน 3:00 pm แสดงว่าต้องออกจากบ้านเวลา 2:30 pm ก็นับเวลาทำงานตั้งแต่ 2:30 pm เป็นต้นค่ะ แต่บางบ้านโฮสต์ที่ดีๆจะนับเวลาเผื่อในการขับรถส่งเด็กทั้งไปและกลับให้เลย
          (2) มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1.5 วัน วันไหนก็ได้ติดกัน ไม่จำเป็นต้องตรงเสาร์อาทิตย์ ตัวอย่างเช่น ทำงานถึงเย็นวันพุธ ได้หยุดวันพฤหัสเต็มวันและวันศุกร์ครึ่งวันเช้า เริ่มทำงานอีกทีศุกร์บ่าย เป็นต้น
          (3) การนับชั่วโมงทำงาน นับเป็นสัปดาห์ๆ ไป จบ ไม่มีการเอาชั่วโมงทำงานสัปดาห์นี้ไปทบสัปดาห์หน้า เช่น สัปดาห์นี้ทำงานแค่ 30 ชั่วโมง จะเอา 15 ชั่วโมงไปเพิ่มให้สัปดาห์หน้าาทำงาน 60 ชั่วโมงไม่ได้นะคะ
          (4) ใน 1 เดือนต้องได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ (Full weekend) อย่างน้อย 1 ครั้ง
          (5) วันหยุดพักร้อน (Vacation) รวมวันหยุดที่หยุดปกติทุกสัปดาห์แล้ว 14 วัน/ปี และได้เงินรายสัปดาห์ปกติเหมือนตอนทำงาน ซึ่งจะได้หยุดวันไหนก็แล้วแต่ตกลงกับโฮสต์ ถ้าจะให้ยุติธรรมเลยคือให้โฮสต์เลือก 1 สัปดาห์ ออแพร์เลือก 1 สัปดาห์ และขอให้โฮสต์แจ้งล่วงหน้าด้วยนะคะ เพราะเวลาจองงตั๋วกระทันหันมันแพงมากกกก โฮสต์บางบ้านก็จะแบ่ง Vacation เป็นย่อยๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับตกลงกัน
          ถ้าสมมุติตกลงเรื่อง Vacation เรียบร้อยแล้ว แต่โฮสต์ไปเที่ยวต่างรัฐ ต่างเมืองในวันอื่นๆ นอกเหนือจากวันที่ตกลงกันไว้แล้วไม่เอาออแพร์ไปด้วย ถือว่านั่นคือ Extra vacation ของออแพร์ค่ะ และโฮสต์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ เพราะโฮสต์ไม่อยากเอาออแพร์ไปเอง ออแพร์ไม่ได้ขอ โฮสต์อาจจะมาขอว่าให้สัปดาห์นั้นเป็น Vacation แทนวันที่ออแพร์เลือกไว้ได้ไหม ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนก็บอกไปเลยว่าไม่ได้ Plan เที่ยวทุกอย่างไว้หมดแล้ว ไม่ต้องเกรงใจค่ะ
          เราชอบถามโฮสต์ว่าถ้าออแพร์ต้องไป Vacation ใครจะเลี้ยงเด็ก อันนี้ช่วยให้เราประมาณได้ว่าเราควรบอกโฮสต์เรื่อง Vacation ของเราล่วงหน้านานเท่าไร เพราะถ้าโฮสต์ต้องลางานมาเลี้ยงลูก เราก็ควรจะแจ้งล่วงหน้านานๆ บางทีโฮสต์ก็จะบอกเองว่าให้แจ้งล่วงหน้าเมื่อไร
          (6) วันหยุดนักขัตฤกษ์ (Holiday) ไม่มีกฏว่าออแพร์จะได้หยุด แต่ถ้าโฮสต์น่ารักก็จะให้ออแพร์ได้หยุดค่ะ เช่น 4th of July, Labor day
          (7) วันที่ออแพร์ป่วย โฮสต์ห้ามหักเงินนะคะ ต้องจ่ายปกติ ไม่มีกำหนดว่าลาป่วยได้กี่วัน แต่ถ้าหลายวันมากๆ มีผลกระทบกับโฮสต์ โฮสต์ต้องเสียเงินจ้างพี่เลี้ยง (Nanny) ด้วย แล้วยังต้องเสียเงินให้ออแพร์ที่ลาป่วยด้วยหลายวัน โฮสต์คงพิจารณาเปลี่ยนออแพร์ค่ะ หรือถ้าป่วยหนักมาก เอเจ้นซี่จะพิจารณาให้ออกจากโครงการและกลับประเทศค่ะ
          (8) กรณีบางบ้านโฮสต์จำเป็นต้องให้ออแพร์ทำงานเกิน 45 ชั่วโมง และออแพร์ยินยอม (ผิดกฏแต่ก็แอบทำได้นะคะ แบบไม่ให้ที่ปรึกษาและเอเจ้นซี่รู้) โดยต้องตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะจ่าย Extra / OT ชั่วโมงละเท่าไร ซึ่งไม่ควรน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ 
         👉 คลิกดูรายละเอียดค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละรัฐได้ที่นี่ 
          (9) อันต่อมาคือพิจารณาว่าตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ดูความเป็นไปได้ด้วย เพราะบางบ้านมีเด็กหลายคน ต่างวัยกัน แล้วอย่าลืมว่าออแพร์รับผิดชอบแค่เฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และงานบ้านเล็กน้อยที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้น 
           บางบ้านให้ออแพร์ทำทุกอย่าง เป็นทั้งพี่เลี้ยงเด็กด้วย ครูสอนภาษาด้วย ทำอาหารให้ทุกคนในบ้านด้วย ทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วย อย่างใช้ให้ออแพร์เสื้อผ้าโฮส หรือล้างจานชามให้โฮสต์ทุกมื้อทั้งๆ ที่ออแพร์ก็ไม่ได้กินด้วย หรืองานบางอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจโครงการและความเห็นแก่ตัวของโฮส อย่างเช่น ให้ออแพร์ดูดฝุ่นทั้งบ้านเพราะเด็กเดินไปทั่วทั้งบ้าน (อ้างว่าเป็นงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก) ให้ล้างของเล่นเด็กทุกวัน (อาทิตย์ละครั้งพอว่า) ให้ล้างจานและซักผ้าด้วยมือเท่านั้น เป็นต้น แบบนี้เราจะรีบปฏิเสธทันที
          ตัวอย่างตารางงานที่เราไม่ชอบมากๆ คือ ตารางงานแบบโฮสต์เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย นับทุกนาทีไม่ให้ขาดให้เกิน 45 ชั่วโมง หรือให้ตื่นเช้ามาก แล้วพักกลางวัน 1 ชั่วโมง แล้วทำงานต่อจนครบ 10 ชั่วโมง เพราะออแพร์จะไปไหนไม่ได้เลย เหมือนไม่ได้พักเลยด้วย แค่กินข้าวเสร็จก็หมดเวลาเดี๋ยวต้องทำงานต่ออีกละ
          (10) อย่าลืมว่าต้องมีเวลาให้ออแพร์ไปเรียน และไป Meeting แต่ละเดือนด้วย โฮสต์จะมาอ้างว่าต้องดูแลเด็กไม่ได้ ต้องให้เวลากับออแพร์ในการเรียนและมีทติ้ง
          (11) ที่ไม่ชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ตารางงานเปลี่ยนบ่อย ไม่แจ้งล่วงหน้า เอเจ้นซี่ชอบโฆษณาให้โฮสต์ว่าข้อดีของออแพร์คือ Flexible 
          มีเพื่อนออแพร์ที่โฮสต์ให้ทำงานสัปดาห์ละไม่ถึง 30 ชั่วโมง แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกอาทิตย์ เพราะโฮสต์ทำงานเป็นกะ ซึ่งถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ตอนแรกๆ เพื่อนก็มีความสุขดี พออยู่ๆไป ด้วยหน้าที่การงานของโฮสต์ ทำให้โฮสต์ไม่มีเวลาดูแลลูก จึงให้ออแพร์ทำงานเพิ่มขึ้นๆ สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เพื่อนไม่แฮปปี้แล้ว เพราะ 45 ชั่วโมงนี่ถือว่างานหนักเลยนะมากกว่ากฏหมายแรงงานของอเมริกาอีก แล้วตารางานยังเปลี่ยนบ่อย บางครั้งไม่รู้ล่วงหน้าเลยด้วยซ้ำ จะนัดเพื่อนไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ จู่ๆวันนี้โฮสต์กลับเร็วให้เลิกเลย แล้วเอาเวลาไปโปะวันเสาร์อาทิตย์แทน ทั้งๆที่โฮสต์ให้หยุด Full weekend แค่เดือนละครั้งเท่านั้น 
          อีกกรณีหนึ่ง เพื่อนออแพร์คนนี้ได้หยุดทุกวันเสาร์อาทิตย์เป็นประจำ แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกสัปดาห์และโฮสต์ไม่ยอมบอกตารางงานของสัปดาห์ถัดไปจนวินาทีสุดท้าย บางครั้ง ดึกๆดื่นๆวันอาทิตย์เพิ่งจะส่งข้อความมาบอกว่าพรุ่งนี้ทำงานกี่โมง เป็นแบบนี้ทุกสัปดาห์
          เราจะชอบตารางงานที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เราจะถามโฮสว่าตารางเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน (How often do you change the schedule?) ถ้าต้องการเปลี่ยนสามารถบอกล่วงหน้าได้นานแค่ไหน (If you need to change my shcedule, how long can you tell me in advance?) 
          (12) ที่ต้องระวังอีกอย่างคือ โฮสต์ที่ใส่ตารางงานมามั่วๆ ให้มันไม่เกิน 45 ชั่วโมงพอ ใส่เหมือนกันทุกวัน ไม่ใส่รายละเอียดงานให้ ตัวอย่างเช่น 7:00am – 4:00 pm Monday – Friday : Take care 2 kids and do light households จบ แบบนี้ต้องซักให้ละเอียดเลยว่าหน้าที่ตั้งแต่ 7โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็นต้องทำอะไรบ้าง ตารางงานบางครั้งก็เปลี่ยนแปลงตามเด็ก เช่น เดือนนี้เด็กปิดเทอม เดือนนั้นมีคลาสเสริม เราต้องถามให้ละเอียดมากๆ ช่วงเด็กปิดเทอมอยู่บ้านเป็นอะไรที่เหนื่อยที่สุดแล้ว
          (13) และด้วยวัฒนธรรมของฝรั่งคือจะมีวันที่พ่อแม่ไปเดทกันสองต่อสอง ให้ออแพร์ดูแลลูกอยู่บ้าน ที่เรียกว่า Date Night ส่วนใหญ่จะเป็นคืนวันศุกร์ เราจะต้องถามเผื่อไว้ด้วยว่าโฮสต์ไปเดทไนท์บ่อยแค่ไหน ถ้าให้ออแพร์ดูเด็กระหว่างที่โฮสต์ไปเดทจะนับชั่วโมงทำงานอย่างไร หน้าที่ที่ต้องทำก็จะต่างไปจากตอนกลางวันด้วย โฮสต์ต้องอธิบายว่าออแพร์ต้องทำอะไรบ้าง โฮสต์จะกลับกี่โมง
          (14) สุดท้าย ถ้าโฮสต์มีความจำเป็นต้องกลับบ้านช้าหรือให้ออแพร์ทำงานเกินชั่วโมง เช่น กรณีเด็กป่วยไม่ได้ไปโรงเรียน ออแพร์ต้องดูแลเด็กทั้งวันจนกว่าโฮสต์จะกลับบ้าน จะให้หักลบชั่วโมงทำงานของวันอื่นอย่างไร เช่น วันต่อไปเริ่มงานช้า หรือเลิกงานเร็วขึ้นได้ไหม หรือว่าจะจ่ายเป็นextraเท่าไร (ทำ OT ผิดกฏนะคะ แต่แอบทำไม่ให้เอเจ้นซี่รู้ได้) หรือว่าไม่เกินแน่นอนเพราะมีญาติ/พี่เลี้ยงประจำคอยดูแล

หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเรา บางคนบอกว่าเราควรถามทุกอย่างให้เคลียร์ ถ้าให้โฮสต์พิมพ์มาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ยิ่งดี เวลาทำงานแต่ละวันก็ให้บันทึกชั่วโมงทำงานไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง 
          แต่บางคนก็เห็นว่าไม่ควรถามขนาดนี้ เพราะอะไรอลุ่มอล่วยได้ก็ควร เพราะอยู่กันเป็นครอบครัว โฮสต์อาจจะมองว่าเราเอาแต่ได้ไม่ยอมเสียเปรียบหรือเปล่า 
          ในความคิดเรา เราคิดว่าแต่ละคนจะมีเทคนิคการถามคำถามเหล่านี้ที่ทำให้ไม่ดูน่าเกลียดจนเกินไป และการป้องกันดีกว่าต้องมาแก้ไขภายหลัง คำถามพวกนี้เป็นการประเมินด้วยว่าโฮสต์เข้าใจโคงการดีแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยอมให้เขามาเอาเปรียบง่ายๆ นะ  มีโฮสต์หลายบ้านที่ละเมิดกฏพวกนี้โดยอ้างว่า “Part of Family” และมีออแพร์หลายคนที่ยอมให้โฮสต์เอาเปรียบเพราะความกลัว กลัว LCC จะว่าว่าไม่อดทน กลัวว่าโฮสต์จะรีแมช กลัวว่าโฮสต์จะเปรียบเทียบกับออแพร์คนเก่า กลัวว่าโฮสต์จะไม่ช่วยเรื่องเปลี่ยนวีซ่า ฯลฯ ทนจนจบโครงการ แล้วทำให้โฮสต์เข้าใจว่าสิ่งที่โฮสต์ทำนั้นถูกต้อง เป็นปัญหาให้ออแพร์คนใหม่อีก


วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Reverse Culture Shock ปรับตัวครั้งใหญ่เมื่อกลับไทย

"ฉันตื่นเต้นมากเมื่อใกล้จะกลับไทย ฉันนึกภาพว่าฉันและทุกๆคนที่ไทยต้องดีใจมากๆที่ฉันกลับมา แต่พอถึงวันจริงๆ แล้ว ฉันไม่แน่ใจว่าตัวฉันและทุกคนรู้สึกอย่างไร?"

เวลาสองสามวันแรกที่ไทยของฉันหมดไปกับการพักผ่อน รื้อของออกจากกระเป๋าเดินทาง และจัดการกับจดหมายกองโตที่ส่งมาให้ฉันตลอด2ปีที่ฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ฉันยังต้องจัดการกับบัญชีธนาคารที่ไม่เคลื่อนไหว และธุรกรรมต่างๆ เวลา 1 อาทิตย์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ฉันบอกให้ทุกคนรู้ว่าฉันกลับมาถึงไทยแล้วนะ เพื่อจะได้นัดหมายเจอกับทุกๆคน แต่มีไม่กี่คนหรอกที่อยากเจอฉันจริงๆ (ฉันรุ้สึกอย่างนั้น)

https://i2.wp.com/studylinks.com/wp-content/uploads/2018/07/reverse-culture-shock.jpg?fit=231%2C260&ssl=1

ใช่แล้ว เพราะแต่ละสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนก็มีงานและภาระหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่มีใครว่างเหมือนฉันนี่นา ฉันพยายามเข้าใจ

ฉันท้องเสียนานกว่า 2 สัปดาห์ ตอนแรกฉันคิดว่าถ้ากลับไทยฉันจะกินทุกอย่างที่อยากกินจนตัวแตกไปเลย ทุกอย่างมันอร่อยและคุ้นลิ้นไปหมด แต่ฉันต้องเข้าห้องน้ำทุกครั้งหลังมื้ออาหาร น้ำหนักฉันลดไปเกือบ 3 กิโลกรัม ฉันพยายามรักษาตัวแต่ไม่มียาอะไรช่วยได้เลย สุดท้ายยาพื้นบ้านอย่างยาธาตุน้ำขาวกลับได้ผลชะงัก หลังจากนั้นก็ไม่มีอาหารอะไรทำร้ายกระเพาะฉันได้อีกเลย (ยกเว้นอาหารเผ็ดจัด)

เวลาผ่านไป ความตื่นเต้นของฉันก็หมดลง ฉันเริ่มเบื่อหน่าย เป็นเพราะฉันว่างงาน และหลายๆ สิ่งที่ฉันเจอที่เมืองไทย ทั้งคำพูด และสถานการณ์ต่างๆ ฉันเริ่มเศร้า...

ทำอะไรก็ขัดใจผู้ใหญ่
มีแฟนหรือยัง ทำไมไม่มีใครมาจีบบ้างเหรอ?
แหมมมม... เด็กนอก
ไม่เจอกันนานอ้วนขึ้นนะ ดำขึ้นด้วย
อุตส่าห์ไปตั้งไกล สุดท้ายกลับมาเป็น......

"ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับที่นี่ ฉันเคยมีความสุขมากกว่านี้ตอนอยู่ต่างประเทศ ฉันรู้สึกหงุดหงิดไปกับทุกอย่างและเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเจอตอนอยู่ต่างประเทศตลอดเวลา ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร ชีวิตจะไปต่อได้อย่างไร ฉันอยากกลับไปที่ันั่นอีกครั้ง...

...ทุกคนบอกว่าฉันกำลังปรับตัว มันต้องใช้เวลา แต่นี่ก็ผ่านมาหลายวันแล้ว ฉันไม่รู้สึกมีความสุขเลย ทุกคนได้แต่ปลอบใจฉันแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไปในทางของตัวเอง มีแต่ฉันที่ยังคงติดอยู่กับความรู้สึกนั้น

บางครั้งฉันรู้สึกว่ามีแต่คนที่เคยเป็นออแพร์ในอเมริกาแบบฉันเท่านั้นที่เข้าใจตัวฉัน

ฉันรู้ตัวว่านี่คือภาวะ Reverse Culture Shock
มันคือ ภาวะที่บุคคลไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมใหม่แล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก
ฉันคิดว่าฉันน่าจะรับมือได้ แต่ไม่คิดว่ามันจะมีผลต่อฉันมากขนาดนี้

มีคนบอกว่าภาวะ Reverse Culture Shock นั้นรุนแรงกว่า Culture Shock เพราะก่อนไปต่างประเทศ ทุกเอเจนซี่มีการปฐมนิเทศและจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อน เพื่อให้สามารถเข้าใจ ปรับตัว และใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่จะเจอขณะอยู่ต่างประเทศได้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางด้านจิตใจได้ระดับหนึ่ง และตัวฉันเองได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเจอ Culture shock ต่างๆ นั้นไว้แล้ว

มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการจากบ้านเกิดเมืองนอน ครอบครัว และเพื่อนสนิทเดินทางข้ามซีกโลกไปใช้ชีวิตในอเมริกา ประเทศที่กว้างใหญ่และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่งของโลก ความไม่รู้ ปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ การพบเจอคนแปลกหน้า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ฉันต้องเจอแต่ฉันมีเป้าหมายที่แน่วแน่แล้วว่า "ฉันต้องอยู่ให้ได้จนจบโครงการ" แต่กลับไม่มีเอเจนซี่ไหนเลยที่เตรียมความพร้อมให้กับออแพร์ที่กำลังจะกลับประเทศให้รับมือกับภาวะ Reverse culture shock

      ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายอาการ reverse culture shock ไว้ 4 ขั้นด้วยกัน คือ

  1. การตัดขาดความสัมพันธ์ จากเพื่อนๆในต่างประเทศ
  2. รู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก มีความสุขที่ได้เจอครอบครัวและเพื่อนๆของคุณอีกครั้ง แต่ไม่นานก็จะตระหนักได้ว่าคนส่วนใหญ่ไมได้สนใจประสบการณ์หรือสิ่งที่คุณไปพบเจอมาที่ต่างประเทศเท่าไหร่นัก 
  3. ฉุนเฉียวและไม่เป็นมิตร ผิดหวัง, โกรธ, แปลกแยก, โดดเดี่ยว, สับสน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่เข้าใจว่าทำไม
  4. ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตที่บ้านของตัวเองใหม่ 
ฉันได้ลองลิสต์ปัญหาที่ได้เจอตลอด 1 เดือนแรกที่กลับไทย เผื่อใครที่กำลังจะกลับไทยได้รู้ก่อน จะได้เตรียมพร้อมรับมือได้
  1. เตรียมความพร้อมกับสภาพอากาศร้อนชื้น 
  2. รถติด คนขับรถไม่มีมารยาท มอเตอร์ไซต์มาก รถประจำทางมาไม่ตรงเวลา ความแออัดบนรถไฟฟ้า ข้ามถนนต้องหลบรถ
  3. ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
  4. มนุษย์ป้า ชอบถามและวิจารณ์เรื่องส่วนตัว แซงคิว ชอบสอนโดยที่ไม่รู้จริง ทัศนคติแคบ
  5. ทุกอย่างอิงชาติ ศาสนา วัฒนธรรม
  6. ความอิสระที่ลดลง ทำอะไรต้องฟังความเห็นของครอบครัวและคนรอบข้าง
  7. ข้อนี้ไม่ใช่ Reverse culture shock ซะทีเดียว แต่เพราะตอนเป็นออแพร์เรามีงานทำ มีบ้านอยู่ ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่พอกลับไทยมาเราต้องคิดถึงอนาคต จะทำงานอะไร แล้วบางครั้งก็อาจไม่ได้งานทันทีที่กลับมา ก็เลยมีช่วง "ว่างงาน" บางคนนานหลายเดือน
เราจะรับมือกับภาวะ นี้ได้อย่างไร
  1. ถึงอากาศจะร้อน แต่อย่าให้ใจร้อนตาม ระลึกในใจไว้เสมอว่า "ใจเย็นๆ" อะไรๆ มันอาจจะไม่ได้สะดวกเท่าที่อเมริกา แต่มันก็ไม่ได้แย่ซะทีเดียว งดเสพข่าวการเมืองเสียบ้าง
  2. ข้ามถนนต้องระวังรถให้มากๆ อย่าประมาท
  3. รับประทานอาหารสด ใหม่ สะอาด อย่าเพิ่งทานของเผ็ด หรือรสจัด ให้ท้องปรับสภาพเสียก่อน
  4. ทำใจให้กว้างๆ อย่าใส่ใจกับคำคนมาก คิดซะว่าเป็นสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าเก็บมาคิดมาก
  5. เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม
  6. อย่าลืมว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว บางครั้งอาจจะอึดอัดกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่บ้าง แต่เป็นเพราะพวกเขาเป็นห่วง และเวลามีปัญหาอะไร พวกเขาก็พร้อมจะช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างคุณเสมอ
  7. ถือซะว่าช่วงเวลาว่างงานคือโอกาสดีที่จะได้พักผ่อน ไปท่องเที่ยวสถานที่ที่อยากไป และทำสิ่งที่อยากทำ อาจจะลงเรียนคอร์สที่สนใจเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือใช้โอกาสนี้อยู่กับครอบครัว หรือทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้ด้อยโอกาสก็ได้
  8. ติดต่อ พูดคุยกับเพื่อนๆออแพร์
  9. คิดถึงเรื่องราวดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับขณะเป็นออแพร์ที่อเมริกา
  10. หางานอดิเรกใหม่ พบเจอผู้คนที่หลากหลาย ทำให้เราได้เรียนรู้จากพวกเขาเหมือนตอนที่เราไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ 
ตอนนี้ฉันติดอยู่ในขั้นที่ 3 แต่ฉันคิดว่าฉันจะก้ามข้ามมันไปได้ และไปอยูู่ในขั้นที่ 4 โดยเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง



ที่มา 
https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/once-you-arrive/coping-with-reverse-culture-shock/
https://static1.squarespace.com/static/56167d1de4b0141a0f9a9378/t/5acb926a758d46742a84b4ef/1523290730568/Practical+Tips+for+Readjustment.pdf
https://www.ceastudyabroad.com/blog/mojo/2018/03/08/5-tips-to-overcome-reverse-culture-shock

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รีวิว วัดสายตาประกอบแว่นที่อเมริกา

         อยู่อเมริกาสายตาสั้นลงอย่างมากถึงมากที่สุด เพราะว่าวันๆจ้องแต่ตอสกรีน มือถือเอย คอมพิวเตอร์เอย แต่ปัจจัยสำคัญสุดสำหรับเราคือ หลอดไฟสีเหลืองๆ ในห้องนอนนี่แหละ เพราะชอบอ่านหนังสืออยู่ในห้อง แล้วห้องก็มืดๆ สลัวๆ ไฟสีเหลืองๆ เป็นเงา (ขนาดถ่ายรูปทุกอย่างยังออกมาเหลืองเลย) ก็เลยต้องไปตัดแว่นใหม่
          เราเอเจ้นCCนะ ประกันสุขภาพของ Aetna เวลาอ่านในคู่มือหรือโทรไปถามประกันจะบอกว่าไม่ครอบคลุมเรื่องวัดสายตา ตัดแว่น จะใช้ได้เฉพาะกรณีอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ร้านตัดแว่นอยากขาย เค้าติดต่อให้ สรุปใช้ประกันได้ ได้รับส่วนลด (สำหรับคอนแทคเลนส์ไม่รู้นะคะ เพราะไม่ได้ใส่ ลองให้ทางร้านตัดแว่นติดต่อให้ดู)

ปีแรก-วัดสายตาที่Walmart, สั่งตัดแว่นออนไลน์

         ปีแรกเรามีประกันเบสิค+ประกันเสริม+ประกันกีฬา แต่ไม่รู้ว่าใช้ประกันได้ เราเลยไปร้านที่ถูกที่สุดที่หาได้ 
ตอนนั้นคือ walmart ถูกสุด ลองมาคือ Costcoค่ะ
         เราไปที่ Walmart ต้องโทรไปจองคิวด้วยนะ เค้าไม่ค่อยรับ walk-in สิ่งที่ต้องนำไปด้วยคือ แว่นสายตาอันปัจจุบัน และบัตรประกันสุขภาพที่มี
         ไปถึงเค้าจะให้กรอกประวัติส่วนตัว และข้อมูลสุขภาพ แล้วก็ถามว่ามีประกันไหม 
เราไม่รู้คิดว่าประกันไม่ครอบคลุมเลยบอกว่าไม่มีประกัน จ่ายเองเต็มๆ$60สำหรับวัดสายตาธรรมดา เรารู้สึกว่าเค้าวัดละเอียดกว่าที่ไทยนะ แล้วถ้าจะวัดสุขภาพตาหาความเสี่ยงเรื่องโรคตาต้องจ่ายเพิ่มต่างหาก แพงเราเลยไม่เอา
         เรารู้สึกหมอที่อเมริกาเค้าพยายามไม่ตัดแว่นให้ชัดมากๆอ่า ถ้ามองไกลๆก็จะเบลอนิดหน่อย เพื่อให้ใกล้เคียงตาปกติ ไม่เหมือนร้านแว่นไทยที่เราตัด เราจะชอบเอาชัดที่สุด มองแล้วเห็นเลขทะเบียนรถที่กำลังวิ่งมาจากแยกหน้าเลย555


         วัดเสร็จเค้าจะบอกว่าค่าสายตาเท่าไร ถ้าเขาไม่บอกก็ถามเลยค่ะว่าตัวเลขแต่ละตัวหมายความว่าอย่างไร ของ Walmart เค้าเขียนไม่ละเอียด อันนี้อ่านได้คร่าวๆว่า ข้างซ้ายสั้น 50 ข้างขวาสั้น 200


ใบเสร็จค่าวัดสายตาสำหรับตัวแว่น $60
ค่าวัดสายตาสำหรับคอนแทคเลนส์แยกต่างหาก ประมาณ$130 มั้งถ้าจำไม่ผิด
กรอบแว่น มีตั้งแต่ราคาไม่ถึง$100
เลนส์ จำราคาไม่ได้


ระยะเวลารับแว่น น่าจะประมาณ2อาทิตย์ เราเลยไปสั่งตัดแว่นออนไลน์เอา


เราสั่งตัดของFirmoo เป็นเว็บจีน 
ความลำบากคือ ต้องวัดระยะห่างระหว่างรูม่านตาทั้งสองข้างเอง วัดมั่วๆไป
สั่งเลนส์บลูที่กันแสงคอมพิวเตอร์กับมือถืออ่า ราคา$46.79 รอ1เดือนได้😂 ได้แว่นมาไม่ถูกใจ เพราะมันไม่ได้ลองใส่ก่อน แต่ที่ชอบคือเขาให้ถุงผ้าใส่แว่น+กล่องแว่น+ไขควงพร้อมอะไหล่น้อตขาแว่น และส่วนลดมาให้ด้วย

ปีสอง-วัดสายตาและตัดแว่นที่ LensCrafters 

          ใส่แว่นจีนไปได้ปีนึง สายตาสั้นลง ปีสอง มีแต่ประกันเบสิค ตัดสินใจไปวัดสายตาใหม่ ที่LensCrafters (โฮสย่าแนะนำมาว่ามันดีมาก และเห็นคนมารีวิวว่าประกันครอบคลุม) ต้องโทรไปจองคิววัดสายตาเหมือนกัน แล้วจนท.จะโทรมาคอนเฟิร์มตลอด วันนัดก็ไปกรอกประวัติส่วนตัวและข้อมูลสุขภาพเหมือนกัน


วิธีการอ่าน eyeglasses prescription ตามรูปข้างล่างค่ะ ถ้าเป็น contact lens prescription จะมีค่าความโค้งของลูกตา ฯลฯ ด้วย
https://www.eyesocialeyes.com/wp-content/uploads/2015/11/eyeglasses-prescription.jpg

         ค่าวัดสายตา $130 ถ้ามีประกันเหลือ$42 (ถูกกว่าWalmartอีกจ้า ไม่น่าเลย😂) จนท.เค้าเช็คกับประกันให้เองเลย แค่เอาบัตรประกันไปโชว์ ถ้าวัดสายตาสำหรับคอนแทคเลนส์ $150 (แบบยังไม่หักประกัน)
         หมอตรวจละเอียดกว่าWalmartมาก เหมือนคลุมเรื่องสุขภาพตาด้วย แล้วก็อธิบายทุกอย่าง หมอแนะนำด้วยว่าไม่ต้องใส่แว่นตลอดเวลา แล้วหมอจะถามว่าขับรถไหม ถ้าไม่ต้องขับก็เอาแบบไม่ต้องมองเห็นไกลมาก 




         เราบอกหมอว่ามีปัญหาตาแห้ง หมอก็ให้หยอดตามาให้ฟรี เป็นหลอดขนาดทดลองเล็กๆ พร้อมส่วนลดและแผ่นพับว่าถ้าหมดแล้วจะไปซื้อยี่ห้อไหนรุ่นไหนได้บ้างที่CVS
         * ปกติเวลาไปหาหมอ ไม่ว่าจะป่วย หรือหมอฟัน หมอสายตาที่คลินิก หรือรพ.ใดๆก็ตาม สามารถขอตัวอย่างยาได้ฟรี เพราะบริษัทยาจะแจกยาขนาดทดลองให้กับคุณหมอไว้แจกผู้ป่วยอีกที ถือเป็นการโฆษณาสินค้าไปในตัวด้วย

          วัดเสร็จ เราบอกว่าอยากใช้กรอบเดิมที่มีอยู่ แต่เขาไม่อยาทำให้ถ้าเคยใช้มาเกิน1.5ปีและไม่มีประกันกรอบแว่น 

เราเลยซื้อกรอบใหม่กับเขา ราคามีตั้งแต่ $100ต้นๆ ไปจนถึง$300+ แล้วแต่แบรนด์ เราบอกพนักงานว่าเอาคล้ายๆทรงเดิม ช่วยเลือกหน่อย เขาก็ถามว่าชอบสีอะไรแล้วก็เดินหยิบมาให้เราลองเป็นสิบอัน บริการดีมาก

เราเลือก$110 ประกันออกให้$38.50 จ่ายเอง $71.50

ค่าเลนส์แว่นธรรมดา $298.34 ประกันออกให้ $173.34 จ่ายเอง $125
ถ้าจะเอาเลนส์แบบกันแสงคอม หรือเปลี่ยนเป็นสีดำตอนโดนแดดจะต้องจ่ายเพิ่ม อันหลังเพิ่มประมาณ$200 
แล้วก็ถ้าเพิ่มประกันกรอบแว่น (ถ้าทำหักมาเปลี่ยนใหม่ได้) อีก $30 เลยไม่เอา เอาธรรมดาที่สุดเพราะจะกลับไทยแล้ว
รวมทั้งหมด เราจ่ายแค่ $196.5
เสร็จก็ไปถ่ายรูปเพื่อวัดระยะห่างรูม่านตา
ระยะเวลารับแว่นคือวันรุ่งขึ้นจ้า เร็วมาก มีโทรมาบอกด้วยเมื่อแว่นเสร็จ เมื่อไปถึงก็ลองใส่แว่นดูว่ามีอะไรอยากให้ปรับไหม เช่นขาแว่น ที่ LensCrafters บริการดีมาก แถม 30วัน happiness guarantee + unlimited free cleaning&adjustment ให้ด้วย 

ได้แว่นใหม่แล้ว โลกสดใสขึ้นมาเลย

* บางครั้งร้านตัดแว่นจะชอบมีโปรโมชั่นสำหรับแว่นอันที่สอง หรือตัดแว่น 1 อันแถมแว่นกันแดด แต่ควรถามราคาดีๆ นะคะ เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายจิปาถะนั่นนี่เพิ่ม
** ช่วงโปรโมชั่นจะมีตลอดปีตามเทศกาล หรือช่วงที่เสื้อผ้าชอบลดราคานั่นแหละ
*** สามารถหาคูปองลดราคาได้ใน Groupon.com 
**** อยากรู้ประกันสุขภาพที่มีครอบคลุมเรื่องตัดแว่นไหม ให้ทางร้านตัดแว่นเช็คให้ค่ะ นี่โทรหาประกันเอง ประกันบอกไม่ครอบคลุม แต่ให้ร้านโทรให้ คลุมเฉยเลย ได้ส่วนลดตั้งเยอะ




วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บินกลับไทย


         การผจญภัยในอเมริกา 2 ปีได้มาถึงวันสุดท้าย ถึงเวลาที่ต้องร่ำลาทุกคนและเดินทางกลับไทย เราได้ทำเรื่องขอตั๋วเครื่องบินจากเอเจนซี่ว่าจะกลับไทยทันทีหลังจบโครงการ ไม่อยู่ต่อเดือนเที่ยว
         ทางเอเจนซี่ของเราซื้อตั๋วให้ฟรีค่ะ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1-3 เดือน ได้ที่นั่งชั้นประหยัด (Economy) ต้องบินวันธรรมดา และบินจากสนามบินที่ใกล้บ้านโฮสต์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะให้ต่อเครื่อง 1 ครั้ง ถ้าต้องการบินวันเสาร์อาทิตย์ หรือบินจากสนามบินอื่น หรือต้องการเจาะจงวันเฉพาะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม *การต่อเครื่องที่ยุโรป ถ้าlayoverเกิน 1 ครั้ง หรือระยะเวลาต่อเครื่องนานเกิน 24 ชม หรือออกจากสนามบินจะต้องมีเชงเก้นวีซ่าด้วย
👉 จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย
         หลังเอเจนซี่ส่งข้อมูลตั๋วเครื่องบินที่จองให้แล้วทางอิเมล์ หรือทางโปรไฟล์ ให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลว่าสะกดถูกต้องไหม ถ้ามีข้อผิดพลาดให้รีบแจ้งเอเจนซี่เพื่อแก้ไขทันที


         ของเราได้สายการบิน Swiss Airline บินจาก Boston คืนวันจันทร์ ประมาณ 7 ชั่วโมงกว่า ไปต่อเครื่องที่ Zurich ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รอต่อเครื่องประมาณ 2.5 ชั่วโมง แล้วบินจาก Zurich โดยสารการบินไทย (Thia Airline operated by Swiss Airline) 11 ชั่วโมงถึงสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เช้าตรู่วันพุธ

https://www.swiss.com/CMSContent/web/SiteCollectionImages/03-Fleet/cs100-aircraft-07-id5.jpg

         บินระหว่างประเทศควรถึงสนามบินก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เราบิน 21:45 น. ตอนแรกกะว่าจะไปถึงสนามบินประมาณ 18:30 น. แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงรถติดเพราะคนเลิกงานกลับบ้านกัน เลยออกจากบ้านตั้งแต่ 16:30 น.

         การแต่งกายวันเดินทาง จากที่ดูพยากรณ์อากาศแล้ว ที่สวิสเซอร์แลนด์กับไทยร้อนมากๆ แต่ในเครื่องอาจหนาวตอนกลางคืน เลยใส่เสื้อบางๆ ไว้ข้างใน กับกางเกงยีนส์ มีเสื้อแจ็กเก็ตคลุมหนึ่งตัว

         ในกระเป๋าCarry on ก็ใส่เสื้อผ้าสำรองไว้อีก 1 ชุดเผื่อต้องเปลี่ยน และของใช้จำเป็น เช่น สบู่ล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัย โรลออน ลิปมัน หวีและยางรัดผม ทิชชู่ ลูกอม ยาดม ยาประจำตัวที่จำเป็น สายชาร์จโทรศัพท์ ขวดเปล่าสำหรับใส่น้ำดื่ม หมอนรองคอ หูฟัง ของมีค่า เงินสด และพาสปอร์ต
https://www.swiss.com/gb/EN/prepare/baggage/hand-baggage#t-page=pane1
         * ถือเงินสดขึ้นเครื่องออกนอกอเมริกา เกิน $10,000 ต้องกรอกแบบฟอร์ม FinCEN 105 และตอบคำถามเรื่องที่มาของเงินได้

         สำหรับ Swiss Airline โหลดกระเป๋าฟรีแค่ 1 ใบ น้ำหนักไม่เกิน 23 กิโลกรัม ถ้าต้องการโหลดกระเป๋าเพิ่มอีก 1 ใบจะต้องจ่าย $100 บางสายการบินสามารถซื้อน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้าออนไลน์ได้โดยราคาอาจจะถูกกว่าซื้อที่หน้าเคาน์เตอร์เช็คอิน
https://www.swiss.com/gb/en/prepare/baggage/checked-baggage#t-page=pane2

         โชคดีที่เราเผื่อเวลาไปถึงสนามบินเยอะมาก เลยมีเวลาเหลือเฟือไม่ต้องรีบร้อน เพราะเวลาเช็คอินและจ่ายน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มโดยใช้เงินสดก็เสียเวลาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน (ถ้าจ่ายผ่านบัตรจะสะดวกกว่า แต่เราปิดบัญชีไปแล้ว มีแต่เงินสด) กระเป๋าที่โหลดเป็นการ Check through ถึงปลายทางที่ไทยเลย ไม่ต้องรอรับกระเป๋าระหว่างเปลี่ยนเครื่อง และหากใครชอบเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อย่าลืมบอกเจ้าหน้าที่ตอนเช็คอินว่าขอที่นั่งริมทางเดิน (Aisle)

         ขาออกนอกประเทศอเมริกา ไม่มีอะไรมาก เหมือนเวลาบินไปเที่ยวต่างรัฐปกติ เน้นตรวจโน้ตบุ๊ค(ต้องหยิบออกมาจากกระเป๋า และใส่ในถาดพลาสติกเดี่ยวๆ ห้ามใส่ของอย่างอื่นปนในถาด) และห้ามนำสิ่งของต้องห้ามและของเหลวปริมาณเกิน 100 ml เข้าไปใน Gate

         ไปถึง Gate เรามีเวลาเหลือเฟือมาก เลยไปซื้อแซนวิชมานั่งกินระหว่างรอ อยากจะช้อปสินค้า Duty free ก็ไม่มีพื้นที่ในกระเป๋าเหลือ T^T 

         สายการบิน Swiss Airline เสิร์ฟอาหารให้ 2 มื้อ มื้อเย็น เป็นพาสต้ากับสเต็กไก่ ชีสแท่ง สลัดผัก ขนมปัง น้ำผลไม้ และเค้ก ส่วนมื้อเช้าเป็นโยเกิร์ต ครัวซอง และน้ำผลไม้ มีของว่างและเครื่องดื่มบริการเป็นระยะ มีช็อคโกแลตแจกก่อนลงจากเครื่องด้วย ทุกที่นั่งจะมีหมอน ผ้าห่ม หูฟัง จอมอนิเตอร์สำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกม ที่ชาร์จโทรศัพท์ และผ้าอุ่นสำหรับเช็ดหน้าตอนเช้า

         เรามาถึง Zurich เวลาประมาณ 11 โมงครึ่งวันอังคาร (เวลาสวิสเซอร์แลนด์) สนามบินที่นี่มีบริการไวไฟฟรี สามารถเอา Boardingpass ไปสแกนเพื่อรับรหัสไวไฟได้ที่ตู้หน้าตาแบบในรูปข้างล่างนี้ ส่วนเต้าเสียบสำหรับชาร์จโทรศัพท์ที่สนามบินจะเป็นแบบยุโรปคือ เป็นรูกลมๆ 

https://pbs.twimg.com/media/CrSIZUCUkAE1NxZ.jpg

         เปลี่ยนเครื่องไปสายการบินไทย (Thai Airline) ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเลย มีแต่คนไทย แอร์โฮสเตสก็พูดภาษาไทย 
https://i2.wp.com/www.fs2000.org/wp-content/uploads/2015/04/tg77w.jpg?resize=600%2C300

         บนเครื่องคนน้อยมากๆ แต่ละคนนั่งคนละแถวเลย แถวนึงมี 3 ที่นั่ง ง่วงก็นอนยาวลงไปเลย แต่ละที่นั่งจะมีหมอน ผ้าห่ม หูฟัง จอมอนิเตอร์สำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกม ที่ชาร์จโทรศัพท์ และผ้าอุ่นสำหรับเช็ดหน้าตอนเช้าให้ เสิร์ฟอาหาร 2 มื้อเช่นกัน มื้อเย็น เป็นข้าวราดแกงหรือ ข้าวกับไก่ผัดพริกขิง สลัดผัก เค้ก และขนมปัง ส่วนมื้อเช้าเป็นขนมปัง ไข่คน มันฝรั่ง ไส้กรอก โยเกิร์ต และน้ำผลไม้ มีของว่างเป็นแครกเกอร์และมีเครื่องดื่มบริการเป็นระยะ 

         ตอนเครื่องใกล้ลงจอด (Landing) จะมีวิดีโออธิบายขั้นตอนการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากรให้ดู สำหรับคนไทยหรือผู้ถือพาสปอร์ตไทย ไม่ต้องกรอกใบ immigration 

         เมื่อลงจากเครื่องแล้วให้เดินตามป้ายตัวหนังสือสีฟ้าไปเรื่อยๆ (มีป้ายบอกตตลอดทาง) 
https://www.thai.lt/images/thailand/travel/thai-voa-bkk/immigration-sign.jpg
         ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีให้บริการ 3 จุด เข้าจุดไหนก็ได้ เราเจอจุดแรกก็เลี้ยวเข้าเลย สำหรับคนไทยจะมีช่องด่วน เรียกว่า Auto Gate ไม่ต้องรอต่อคิวยาวเพื่อพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเหมือนต่างชาติ เพียงแค่สแกนพาสปอร์ตกับเครื่อง ถ่ายรูปหน้า และพิมพ์ลายนิ้วมือ(นิ้วชี้ซ้ายหรือขวาก็ได้)กับเครื่อง ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที 

https://www.it24hrs.com/wp-content/uploads/2017/08/Suvarnabhumi-Airport-auto-gate-foreigner-p01.jpg

https://pbs.twimg.com/media/D5o1gVMU0AAXwm2.jpg

          ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็เดินไปรับกระเป๋าตามสายพานหมายเลขที่แอร์โฮสเตสประกาศบนเครื่อง หรือไปตรวจสอบที่จอมอนิเตอร์ก็ได้ เมื่อได้รับกระเป๋าแล้ว ด่านต่อไปคือตรวจสอบสัมภาระโดยกรมศุลกากร เรียกว่าพิธีศุลกากร (Custom Formalities) ให้มองหาป้ายคำว่าศุลกากรตัวเขียวใหญ่ๆ หาไม่ยากเพราะจะอยู่ใกล้กับสายพานรับกระเป๋าเลย

https://www.mushroomtravel.com/page/wp-content/uploads/2017/03/4-10.jpg

เมื่อเข้าไปแล้ว จะแบ่งเป็น 2  ช่องคือ 

http://www.customs-suvarnabhumi.com/
  1. ช่องเขียว: “ไม่มีของสำแดง” สำหรับผู้ที่มั่นใจว่าตนเองไม่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากรติดตัวเข้ามา และพกเงินสดไทยไม่เกิน 200,000 บาท เงินต่างประเทศไม่เกิน $15,000
  2. ช่องแดง: “มีของต้องสำแดง” สำหรับผู้ที่นำของต้องชำระอากร, ของต้องห้าม และของต้องกำกัด เข้ามา หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีอากรหรือไม่


https://www.mushroomtravel.com/page/wp-content/uploads/2017/03/3-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5.png       
👉 รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำแดงสิ่งของ 
👉 ข่าวสกัดธุรกิจพรีออเดอร์แบรนด์เนม สนามบินสุวรรณภูมิ กำลังจะใช้เครื่องเอ็กซเรย์พร้อมด้วย AI ตรวจกระเป๋าทุกใบบนสายพาน (ใครรับหิ้วสินค้า Pre-order เยอะๆ ระวังด้วยนะจ๊ะ) 
         กรมศุลกากรเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยจะไม่ได้ทำการตรวจสัมภาระผู้โดยสารทั้งหมด แต่ทำการสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล

        ของเราขนรองเท้ากลับไทยประมาณ 10 คู่ ส่วนใหญ่เป็นรองเท้าที่ใช้แล้ว มีรองเท้าใหม่แค่ 2 คู่ น้ำหอม 2 ขวด โลชั่นประมาณ 8 ขวด เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ ส่วนใหญ่เราจะแกะกล่อง/ป้ายราคาออก และกระจายของใส่ในแต่ละกระเป๋าเฉลี่ยๆไป เรามีกระเป๋าใบใหญ่ 2 ใบ และแครี่ออน 2 ใบ เดินเข้าช่องเขียว เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจกระเป๋าแค่ 2 ใบ (แครี่ออน 1 ใบและใบใหญ่ 1 ใบ) โดยผ่านเครื่อง x-ray ไม่ได้เปิดค้น

         ผ่านพิธีศุลกากรแล้ว ก็มาถึงทางออก เราไม่มีซิมมือถือของไทย ใช้ไวไฟที่สนามบินก็ไม่ได้ โทรหาใครก็ไม่ได้ แต่ที่บ้านได้นัดกับเราว่าจะรออยู่ชั้น 2 ประตู 3 เราก็เดินไปหา โอ้ยยย คิดถึงมากๆ

รีวิวเล็กๆ
  • คำแรกที่พูดตอนก้าวเท้าเหยียบสนามบินสุวรรณภูมิคือ หูววว ร้อนand high humid มากๆ (ซึ่งทุกคนก็บอกว่าวันนี้ยังไม่ค่อยร้อนนะ แค่ 30 กว่าๆองศา แดดยังไม่ออกด้วยเพราะเพิ่งจะ 6 โมงเช้า)
  • รถติดมาก ติดทุกเส้น ขนาดทางด่วนยังติด
  • อาหารไทยมื้อแรกที่กินที่บ้าน คือข้าวเหนียวหมูปิ้ง
  • ก่อนมากะว่ากลับไทยมาจะกินแหลกจนตัวแตก แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่หิวอะไร ดื่มแต่น้ำเพราะร้อนมากๆ
  • Jetlag ไหม? เรื่องนอนไม่เท่าไร นอนหลับปกติอยู่ แต่หิวไม่เป็นเวลา ตีสี่ตื่นมาท้องร้องหิวข้าว 
  • ก่อนมาคิดไว้แล้วว่าจต้องกลับมาเจอ/ทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายคือ กองจดหมายที่ได้รับตลอด 2 ปี อื่นๆ ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีอาการ Reverse Cultural Shcok ไหม


บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา
👉 จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย
👉 การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงใน Resume / CV