วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

ปีเดียวไม่พอ อยู่ต่อเลยได้ไหม (Extend Au Pair's program)

Time flies วันเวลาผ่านไปรวดเร็วราวกับบินได้ หลายๆ คนพอได้เป็นออแพร์ในอเมริกาไปสักระยะแล้วมีความรู้สึกชอบและผูกพันกับคนที่นี่ หรืออยากลองไปอยู่ในรัฐใหม่ๆ ที่แตกต่างดูบ้าง  อยากจะต่อโครงการออแพร์ปีสองเพื่ออยู่ต่ออีกสักหน่อย

pixabay.com

ขั้นตอนการต่อปีสอง
1. เมื่อเป็นออแพร์ได้ 6 เดือน เอเจนซี่จะส่งอิเมล์มาถามเกี่ยวกับการต่อปีสอง แต่เรายังไม่จำเป็นต้องให้คำตอบตอนนี้ แต่ละเอเจนซี่จะระบุวันเดดไลน์ว่าสามารถทำเรื่องต่อปีสองได้ช้าที่สุดเมื่อไร (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 เดือนก่อนจบโครงการปีแรก)
Au Pair Extension Deadline 2018-2019
         เหตุผลที่ส่งอิเมล์มาถามก่อนล่วงหน้านานเพราะออแพร์จะได้มีเวลาตัดสินใจ เก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อและซื้อประกันสุขภาพของปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ รวมถึงให้ออแพร์และโฮสต์แฟมิลี่ได้มีเวลาที่จะหาออแพร์/โฮสต์ใหม่ (สำหรับออแพร์ที่ไม่ต่อบ้านเดิม) ก็จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์กับออแพร์/โฮสต์ใหม่ล่วงหน้านานขึ้น
          * แต่การออนไลน์ต่อปีสองล่วงหน้านานๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป จากประสบการณ์ส่วนตัว เราออนไลน์หาบ้านปีสองล่วงหน้า 5-6 เดือนเพราะเราคิดว่ายิ่งออนไลน์เร็ว ก็มีสิทธิได้สัมภาษณ์และเลือกโฮสต์เยอะๆ แต่โฮสต์ที่ต้องการออแพร์ในเดือนที่เราจบปีแรกก็ยังไม่มาสัมภาษณ์เราตอนนี้ แล้วใจก็จะคิดอยู่ตลอดว่ายังไม่ต้องรีบแมชต์หรอก รอได้บ้านดีกว่านี้ เลยเหมือนเสียเวลาสัมภาษณ์ไปเปล่าๆ หลายเดือนจนเริ่มขี้เกียจและเบื่อจะสัมภาษณ์ โฮสต์ที่อยากได้ออแพร์ช่วงที่เราจบปีแรกก็จะมาตอนท้ายๆ 1-2 เดือนก่อนเราจบโครงการ

2. ตัดสินใจว่าอยากจะต่อปีสอง 6, 9 หรือ 12 เดือน กับโฮสต์บ้านเดิมหรือบ้านใหม่ อยากได้โฮสต์และเด็กแบบไหน อายุเท่าไร กี่คน อยู่รัฐไหน ฯลฯ เหมือนตอนเลือกบ้านปีแรกเลย และอย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยว่าจะทำงานถึงวันสุดท้ายเมื่อไร (กรณีต่อปีสองบ้านใหม่)
รายละเอียดโครงการปีสอง
* การต่อปีสอง 9 เดือน แต่ละเอเจนซี่มีกฏระเบียบแตกต่างกัน

         ต่อปีสองกับบ้านเก่า ข้อดีคือ มีความคุ้นเคย รู้จักนิสัยใจคอ โฮสต์เชื่อใจ ไว้วางใจ และเด็กๆ สนิทสนมกับออแพร์แล้ว บางคนเลือกอยู่ต่อบ้านเดิมเพราะเพื่อนหรือแฟน หรือรู้สึกคุ้นเคยกับเมืองที่อยู่ มีความสุขดี ข้อเสีย ออแพร์หลายคนเบื่อแล้วอยู่ไม่จบโครงการ หรือโฮสอาจมีความเกรงใจน้อยลง ละเมิดกฏ ใช้งานเกินเวลา
        ต่อปีสองกับบ้านใหม่ สำหรับใครที่ประสบการณ์ปีแรกไม่ค่อยดี หรือโฮสต์มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ก็ย้ายบ้านเถอะ ข้อดีคือ ได้ไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ และสถานที่ใหม่ๆ รู้จักเพื่อนมากขึ้น ตื่นเต้น ท้าทาย ข้อเสีย ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับโฮสต์บ้านเก่า เป็นต้น

3. บอกโฮสต์แฟมิลี่และที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ให้ทราบ 
         ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังเป็นออแพร์ได้สักระยะ ประมาณ 6-9 เดือน เพราะถ้าเร็วไป ทั้งโฮสต์และออแพร์อาจจะยังไม่มีข้อมูลตัดสินใจ และอาจเปลี่ยนใจทีหลัง
ตัวอย่างเช่น ออแพร์คนหนึ่งตัดสินใจต่อปีสองกับบ้านเดิม แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ออแพร์ไม่อยากอยู่กับบ้านนี้ต่อแล้วอยากย้ายบ้าน แต่ทำเรื่องต่อปีสองไปเรียบร้อยแล้ว แถมโฮสต์จ่ายเงินค่าต่อปีสองให้ด้วย ออแพร์จึงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะบอกโฮสต์ว่าเปลี่ยนใจอยากต่อปีสองกับบ้านใหม่
          วิธีการพูดคุยกับโฮสต์เพื่อบอกว่าอยากต่อปีสอง ถ้าบ้านไหนที่โฮสต์เป็นคนเอ่ยปากถามก่อนก็จะง่าย โดยเฉพาะถ้าโฮสต์อยากให้ออแพร์ต่อปีสองกับเขา ยิ่งถ้าออแพร์ใจตรงกันด้วยแล้ว บางทีโฮสต์จ่ายค่าต่อโครงการให้เลยด้วย แต่ถ้าโฮสต์ไม่ได้บอกว่าจะจ่ายให้ ลอง "แสร้ง" ถามที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ว่าถ้าต่อปีสองกับบ้านเดิมออแพร์ต้องจ่ายค่าโครงการไหม หรือโฮสต์เป็นคนจ่ายให้ ถ้าที่ปรึกษาใจดี เค้าจะช่วยคุยกับโฮสต์แฟมิลี่ให้จ่ายให้ หรืออย่างน้อยจ่ายให้ครึ่งนึง แต่อย่าเสียใจถ้าเขาไม่ได้จ่ายให้ เพราะเป็นความรับผิดชอบของออแพร์ที่จะต้องจ่ายค่าต่อปีสองเองอยู่แล้ว
         แต่ถ้าโฮสต์ไม่ถามสักที หรือออแพร์อยากต่อปีสองกับบ้านใหม่ ก็มีวิธีถามไม่ยาก ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และความสนิทสนมระหว่างออแพร์กับโฮสต์ บางบ้านอาจคุยได้เลยตอนเวลาว่างๆ หลังเลิกงานหรือระหว่างกินข้าวเย็น แต่บางบ้านก็ชอบให้นัดหมายเวลาแล้วมานั่งคุยกันอย่างจริงจังถึงความต้องการ ความรู้สึก ข้อดี และความคาดหวังในปีสองของแต่ละฝ่าย
          ตัวอย่างคำถาม เราจะเกริ่นว่า My Au Pair year's going to end up soon (หรือระบุเดือนไปเลย). What's about your plan after this? เขาอาจจะมีคำตอบมาว่าอยากให้เราอยู่กับเขาต่อ หรือบอกว่ายังไม่รู้ ไม่แน่ใจ ดังนั้นเราก็บอกความต้องการของเราไปเลย เช่น I had a great year staying here with you (I love you and ........ ชื่อเด็ก ชอบอะไรที่นี่บ้าง มีความสุขที่อยู่บ้านนี้ ฯลฯ), but I love to travel and get new experience in different place so... I think I'll extend my year with new family (in California). เป็นต้น
          อย่าเสียใจถ้าโฮสต์ไม่ต้องการต่อปีสองกับเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่ดี แต่อาจมีบางอย่างที่เค้าคาดหวังมากกว่านี้ เช่น ต้องการคนที่ขับรถแข็งกว่านี้ เป็นต้น
          อย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยด้วยว่าจะทำงานและอยู่กับบ้านเดิมจนถึงเมื่อไร
         * ถึงจะต่อปีสองกับบ้านเดิม ก็อย่าลืมถามเกี่ยวกับตารางงานและหน้าที่ความรับผิดชอบในปีสองด้วย เพราะเด็กโตขึ้น หรือโฮสต์เปลี่ยนงาน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงที่ออแพร์ควรรู้ก่อนตัดสินใจต่อบ้านเดิมกับเขา

4. เก็บเงินค่าต่อโครงการและประกันสุขภาพปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิต
         ออแพร์ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิตและส่งหลักฐานการเรียนในทางเอเจนซี่อย่างน้อยประมาณ 1 เดือนก่อนจบโครงการถึงมีสิทธิต่อปีสองได้
         ค่าต่อโครงการปีสอง ประมาณ $395 ซึ่่งครอบคลุมประกันสุขภาพพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าใครอยากได้ความคุ้มครองเพิ่ม สามารถซื้อประกันเสริม ประกันกีฬาผาดโผน เป็นต้น ซึ่งราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่ $250-$500

5. ทำเรื่องขอต่อโครงการปีสอง ก่อนจบโครงการล่วงหน้าประมาณ 2-3 เดือน
          บางเอเจนซี่ให้ออแพร์สามารถทำเรื่องต่อปีสอง (กรอก extension application) และออนไลน์หาโฮสต์ได้ก่อนจ่ายค่าต่อโครงการ (ประมาณ $367) แต่บางเอเจนซี่จะให้จ่ายก่อน หลังจากนั้นจึงอัพเดตโปรไฟล์ โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นออแพร์ในปีแรก หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับ สิ่งที่ได้ทำและเรียนรู้/พัฒนา เหตุผลที่ต่อปีสองและเปลี่ยนบ้าน รวมทั้งความคาดหวังต่อบ้านใหม่ในอนาคต บางเอเจนซี่สามารถให้ออแพร์ระบุเจาะจงลงในโปรไฟล์ได้เลยว่าอยากไปอยู่รัฐไหน (แต่โอกาสในการหาโฮสต์ก็จะน้อยลงไปด้วย) เมื่อกด submit application แล้ว จะได้รับอิเมล์ยืนยันจากเอเจนซี่ว่า โปร์ไฟล์ของเราสามารถออนไลน์หาโฮสต์แฟมิลี่ได้แล้ว
         * คำเตือน ถ้าไม่อยากได้โฮสต์แบบไหน อย่าใส่ความสามารถด้านนั้นหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นลงไป เช่น เราไม่อยากได้โฮสต์คนจีนเลยแต่เราดันใส่ลงไปในประวัติว่า พูดจีนได้นิดหน่อย ก็เลยมีแต่โฮสต์จีนติดต่อมา และใส่ไปว่าตอนปีแรกเคยอยู่กับโฮสต์ที่เป็นชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) พอปีสองก็มีแต่โฮสต์แขกมาทั้งนั้นเลย เป็นต้น
         ส่วนวิดีโอแนะนำตัว สามารถถ่ายและอัพโหลดใหม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ก็ได้ ส่วนใหญ่ออแพร์ที่ต่อปีสองก็ใช้วิดีโอเดิม เพราะยังไงก็มีโฮสต์ที่สนใจออแพร์ที่ต่อปีสองจำนวนมากอยู่แล้ว (เหมือนฉันสวยเลย เนื้อหอมมาก มีแต่โฮสต์แย่งกัน)
         สำหรับคนที่ต่อปีสองบ้านเดิมก็ไม่จำเป็นต้องอัพเดตโปรไฟล์หรือวิดีโอแนะนำตัวใหม่เลย สบายไปอีก

6. สัมภาษณ์ และแมตช์
         ในขั้นตอนนี้ เหมือนย้อนกลับไปตอนปีแรกอีกครั้ง เพิ่มเติมคือโฮสต์จะชอบถามถึงประสบการณ์ความรู้สึกของปีแรก และเหตุผลที่เปลี่ยนบ้าน และความคาดหวังต่างๆ (เหมือนที่อัพเดตในประวัตินั่นแหละ) มีถามเพิ่มเติมด้วยว่าประทับใจ ไม่ประทับใจ หรือมีอะไรที่ยาก ท้าทายตลอดการเป็นออแพร์ในปีแรก โฮสต์เก่าเป็นอย่างไร อาจจะขอคุยกับโฮสต์เก่าด้วย
        แต่ความรู้สึกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเปลี่ยนไปจากปีแรก เพราะเราจะเนื้อหอมมาก ใครๆ ก็อยากได้ออแพร์ที่อยู่ในประเทศแล้ว เราจะรู้สึกเราเป็น "ผู้เลือก" มากกว่า "ผู้ถูกเลือก" และเนื่องจากเรามีประสบการณ์และเข้าใจเกี่ยวกับกฏของโครงการออแพร์อย่างดีแล้ว ทำให้เราเป็นต่อในการเจรจาต่อรองกับโฮสต์ใหม่ อย่างเช่น เรื่องซิมโทรศัพท์มือถือ ตามกฏโฮสต์ไม่จำเป็นต้องจ่ายให้ออแพร์ ตอนปีแรกเราก็จะเกรงใจไม่กล้าถาม แต่พอปีสองเราก็ถามได้ตรงๆ เลย และโฮสต์ก็ยินดีจ่ายเพราะเค้าอยากได้ออแพร์ที่ต่อปีสองกันมากๆ ดังนั้น จงถามทุกๆ เรื่องให้ละเอียด ต่อรอง ให้โฮสต์พิมพ์มาในอิเมล์ได้ยิ่งดี และเลือกแมตช์กับบ้านที่ดีที่สุด
           คนที่ไม่มีใบขับขี่ ขับรถไม่ได้ หรือว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ต้องกังวลว่าจะหาบ้านไม่ได้ เพราะโอกาสในการแมตช์มีมากกว่าออแพร์ปีแรกมาก
         * ถ้าสัมภาษณ์กับโฮสต์แล้วโดนปฏิเสธเพราะภาษาอังกฤษเราไม่ดีก็ไม่ต้องเสียใจนะว่าอยู่อเมริกามาปี 1 แล้ว ภาษายังไม่ดี เราก็เคยโดนปฏิเสธ แต่ก็ดีแล้ว เพราะเราฟังบ้านนั้นพูดไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นที่สำเนียงด้วย เราก็เลือกไปอยู่กับบ้านที่คุยแล้วสบายใจดีกว่า
         ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะคล้ายๆ ปีแรก คือกำหนดวันว่าจะบินวันไหน เอเจนซี่จะจองตั๋วเครื่องบินให้ ออแพร์แจ้งให้โฮสต์บ้านเก่ารู้ ไปเที่ยวและทำสิ่งที่อยากทำก่อนย้ายบ้าน ทะยอยเก็บของ และใช้เวลาที่เหลืออยู่กับโฮสต์บ้านเดิมให้มีความสุข

7. วีซ่า และใบ DS-2019 ใบใหม่ 
         สำหรับออแพร์ที่ต่อปีสอง เนื่องจากสถานการณ์การขอวีซ่ามาอเมริกาในปัจจุบันยากมาก มีอัตราการถูกปฏิเสธวีซ่าสูงมากๆ ไม่แนะนำให้ออแพร์เดินทางออกนอกประเทศอเมริกาตอนใกล้จบโครงการปีแรก หรือเดินทางออกนอกประเทศอเมริกาในปีสอง(ยกเว้นไปแคนาดา และเม็กซิโกได้) เพราะวีซ่า J-1 หมดอายุตามวันที่จบโครงการในปีแรก ถ้าออแพร์ออกนอกประเทศ จะต้องกลับไป renew วีซ่าใหม่ที่ประเทศไทย ซึ่งโอกาสผ่านยากมากๆ
         ออแพร์ที่ต่อปีสอง แล้วไม่ได้กลับไป renew วีซ่า สามารถเป็นออแพร์อยู่ในอเมริกาได้อย่างถูกกฏหมาย เพราะจะได้รับใบ DS-2019 ใบใหม่ที่ระบุวันจบโครงการของปีสอง โดยใบDS-2019 ใบใหม่จะถูกส่งไปที่บ้านโฮสต์ใหม่ เมื่อได้รับแล้วให้ตรวจสอบความถูกต้องและเซ็นต์ชื่อที่ด้านล่างของใบ
        บางครั้ง เอเจนซี่จะส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่เป็นข้อมูลบ้านเก่าแต่ขยายวันที่จบโครงการมาให้ที่อยู่บ้านเก่าก่อนย้าย เพื่อพกไว้เป็นเอกสารยืนยันการเข้าร่วมโครงการ(เพราะวีซ่าและใบDS-2019 ใบเก่าหมดอายุแล้ว) แล้วจึงส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่อัพเดตข้อมูลทุกอย่างแล้วไปให้ที่อยู่บ้านใหม่
ขั้นตอนการ renew visa 
* เตือนอีกครั้ง ไม่รับรองว่าจะผ่าน เพราะช่วงนี้โดนปฏิเสธวีซ่าเยอะเหลือเกิน บางคนกลับไปรีนิววีซ่าตอนเหลือเวลาอีก 3 เดือนจบโครงการปีแรก ไม่ผ่าน แถมโดนยกเลิกวีซ่า 3 เดือนที่เหลืออยู่อีก ต้องออกจากโครงการเลย โฮสต์จึงต้องหาออแพร์ใหม่แล้วส่งของใช้ของออแพร์กลับมาให้ที่ไทยทางไปรษณีย์
** แนะนำให้ติดต่อเอเจนซี่และแจ้งโฮสต์ก่อน
  • กลับไปรีนิวได้เมื่อไร? ตอบ ก่อนDS-2019 หมดอายุอย่างน้อย 3 เดือน
  • วิธีกรอกเอกสารและนัดหมายสัมภาษณ์
  1. กรอก DS-160 ที่ลิ้งค์ https://ceac.state.gov/genniv/  (ดูวิธีการกรอก) กรอกเสร็จแล้วกดSubmit แล้วปริ้นท์ออกมา
  2. จ่ายค่าSEVIS สามารถเชคเลข SEVIS ได้ที่ https://www.fmjfee.com/i901fee/index.html และปริ้นท์ออกมา
  3. นัดวันสัมภาษณ์ ที่เว็บ https://cgifederal.secure.force.com/ 
  4. จ่ายเงิน $160 (ให้ญาติที่ไทยจ่ายให้ก็ได้) จ่ายเสร็จรอเงินขึ้นในระบบ จากนั้นจะนัดวันสัมภาษณ์ได้
  5. บินกลับไทยไปสัมภาษณ์  เอกสารที่เตรียมไปวันสัมภาษณ์ ได้แก่
1.ใบยืนยันนัดสัมภาษณ์
2.แบบฟอร์ม DS-160
3.Passport
4.รูปถ่ายวีซ่า 2x2 นิ้ว 1 ใบ
5.แบบฟอร์ม DS-2019 ใบใหม่
6.แบบฟอร์ม I-901 หรือใบค่า SEVIS fee (ปริ้นท์ได้ที่นี่)
7.ใบ Transcript (จากมหาวิทยาลัย) 
เอกสารที่เตรียมไปเพิ่ม
1. I-94
2. จดหมายจากเอเจนซี่
3. จดหมายยืนยันจากโฮสต์ว่าเราอยู่กับเขาและทำงานกับเขาจริงๆนะ
4. ตั๋วเครื่องบิน
บทความที่เกี่ยวข้อง



ที่มา 
https://www.aupaircare.com/stories/top-3-tips-having-extension-conversation
ขอบคุณคุณ Gaiin Savagez ที่แบ่งปันประสบการณ์การรีนิววีซ่าเมื่อ พฤศจิกายน 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น