pixabay.com
ขั้นตอนการต่อปีสอง
1. เมื่อเป็นออแพร์ได้ 6 เดือน เอเจนซี่จะส่งอิเมล์มาถามเกี่ยวกับการต่อปีสอง แต่เรายังไม่จำเป็นต้องให้คำตอบตอนนี้ แต่ละเอเจนซี่จะระบุวันเดดไลน์ว่าสามารถทำเรื่องต่อปีสองได้ช้าที่สุดเมื่อไร (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 เดือนก่อนจบโครงการปีแรก)
Au Pair Extension Deadline 2018-2019เหตุผลที่ส่งอิเมล์มาถามก่อนล่วงหน้านานเพราะออแพร์จะได้มีเวลาตัดสินใจ เก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อและซื้อประกันสุขภาพของปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ รวมถึงให้ออแพร์และโฮสต์แฟมิลี่ได้มีเวลาที่จะหาออแพร์/โฮสต์ใหม่ (สำหรับออแพร์ที่ไม่ต่อบ้านเดิม) ก็จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์กับออแพร์/โฮสต์ใหม่ล่วงหน้านานขึ้น
* แต่การออนไลน์ต่อปีสองล่วงหน้านานๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป จากประสบการณ์ส่วนตัว เราออนไลน์หาบ้านปีสองล่วงหน้า 5-6 เดือนเพราะเราคิดว่ายิ่งออนไลน์เร็ว ก็มีสิทธิได้สัมภาษณ์และเลือกโฮสต์เยอะๆ แต่โฮสต์ที่ต้องการออแพร์ในเดือนที่เราจบปีแรกก็ยังไม่มาสัมภาษณ์เราตอนนี้ แล้วใจก็จะคิดอยู่ตลอดว่ายังไม่ต้องรีบแมชต์หรอก รอได้บ้านดีกว่านี้ เลยเหมือนเสียเวลาสัมภาษณ์ไปเปล่าๆ หลายเดือนจนเริ่มขี้เกียจและเบื่อจะสัมภาษณ์ โฮสต์ที่อยากได้ออแพร์ช่วงที่เราจบปีแรกก็จะมาตอนท้ายๆ 1-2 เดือนก่อนเราจบโครงการ
2. ตัดสินใจว่าอยากจะต่อปีสอง 6, 9 หรือ 12 เดือน กับโฮสต์บ้านเดิมหรือบ้านใหม่ อยากได้โฮสต์และเด็กแบบไหน อายุเท่าไร กี่คน อยู่รัฐไหน ฯลฯ เหมือนตอนเลือกบ้านปีแรกเลย และอย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยว่าจะทำงานถึงวันสุดท้ายเมื่อไร (กรณีต่อปีสองบ้านใหม่)
รายละเอียดโครงการปีสอง
* การต่อปีสอง 9 เดือน แต่ละเอเจนซี่มีกฏระเบียบแตกต่างกัน
ต่อปีสองกับบ้านใหม่ สำหรับใครที่ประสบการณ์ปีแรกไม่ค่อยดี หรือโฮสต์มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ก็ย้ายบ้านเถอะ ข้อดีคือ ได้ไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ และสถานที่ใหม่ๆ รู้จักเพื่อนมากขึ้น ตื่นเต้น ท้าทาย ข้อเสีย ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับโฮสต์บ้านเก่า เป็นต้น
3. บอกโฮสต์แฟมิลี่และที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ให้ทราบ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังเป็นออแพร์ได้สักระยะ ประมาณ 6-9 เดือน เพราะถ้าเร็วไป ทั้งโฮสต์และออแพร์อาจจะยังไม่มีข้อมูลตัดสินใจ และอาจเปลี่ยนใจทีหลัง
ตัวอย่างเช่น ออแพร์คนหนึ่งตัดสินใจต่อปีสองกับบ้านเดิม แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ออแพร์ไม่อยากอยู่กับบ้านนี้ต่อแล้วอยากย้ายบ้าน แต่ทำเรื่องต่อปีสองไปเรียบร้อยแล้ว แถมโฮสต์จ่ายเงินค่าต่อปีสองให้ด้วย ออแพร์จึงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะบอกโฮสต์ว่าเปลี่ยนใจอยากต่อปีสองกับบ้านใหม่วิธีการพูดคุยกับโฮสต์เพื่อบอกว่าอยากต่อปีสอง ถ้าบ้านไหนที่โฮสต์เป็นคนเอ่ยปากถามก่อนก็จะง่าย โดยเฉพาะถ้าโฮสต์อยากให้ออแพร์ต่อปีสองกับเขา ยิ่งถ้าออแพร์ใจตรงกันด้วยแล้ว บางทีโฮสต์จ่ายค่าต่อโครงการให้เลยด้วย แต่ถ้าโฮสต์ไม่ได้บอกว่าจะจ่ายให้ ลอง "แสร้ง" ถามที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ว่าถ้าต่อปีสองกับบ้านเดิมออแพร์ต้องจ่ายค่าโครงการไหม หรือโฮสต์เป็นคนจ่ายให้ ถ้าที่ปรึกษาใจดี เค้าจะช่วยคุยกับโฮสต์แฟมิลี่ให้จ่ายให้ หรืออย่างน้อยจ่ายให้ครึ่งนึง แต่อย่าเสียใจถ้าเขาไม่ได้จ่ายให้ เพราะเป็นความรับผิดชอบของออแพร์ที่จะต้องจ่ายค่าต่อปีสองเองอยู่แล้ว
แต่ถ้าโฮสต์ไม่ถามสักที หรือออแพร์อยากต่อปีสองกับบ้านใหม่ ก็มีวิธีถามไม่ยาก ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และความสนิทสนมระหว่างออแพร์กับโฮสต์ บางบ้านอาจคุยได้เลยตอนเวลาว่างๆ หลังเลิกงานหรือระหว่างกินข้าวเย็น แต่บางบ้านก็ชอบให้นัดหมายเวลาแล้วมานั่งคุยกันอย่างจริงจังถึงความต้องการ ความรู้สึก ข้อดี และความคาดหวังในปีสองของแต่ละฝ่าย
ตัวอย่างคำถาม เราจะเกริ่นว่า My Au Pair year's going to end up soon (หรือระบุเดือนไปเลย). What's about your plan after this? เขาอาจจะมีคำตอบมาว่าอยากให้เราอยู่กับเขาต่อ หรือบอกว่ายังไม่รู้ ไม่แน่ใจ ดังนั้นเราก็บอกความต้องการของเราไปเลย เช่น I had a great year staying here with you (I love you and ........ ชื่อเด็ก ชอบอะไรที่นี่บ้าง มีความสุขที่อยู่บ้านนี้ ฯลฯ), but I love to travel and get new experience in different place so... I think I'll extend my year with new family (in California). เป็นต้น
อย่าเสียใจถ้าโฮสต์ไม่ต้องการต่อปีสองกับเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่ดี แต่อาจมีบางอย่างที่เค้าคาดหวังมากกว่านี้ เช่น ต้องการคนที่ขับรถแข็งกว่านี้ เป็นต้น
อย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยด้วยว่าจะทำงานและอยู่กับบ้านเดิมจนถึงเมื่อไร
* ถึงจะต่อปีสองกับบ้านเดิม ก็อย่าลืมถามเกี่ยวกับตารางงานและหน้าที่ความรับผิดชอบในปีสองด้วย เพราะเด็กโตขึ้น หรือโฮสต์เปลี่ยนงาน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงที่ออแพร์ควรรู้ก่อนตัดสินใจต่อบ้านเดิมกับเขา
4. เก็บเงินค่าต่อโครงการและประกันสุขภาพปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิต
ออแพร์ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิตและส่งหลักฐานการเรียนในทางเอเจนซี่อย่างน้อยประมาณ 1 เดือนก่อนจบโครงการถึงมีสิทธิต่อปีสองได้
ค่าต่อโครงการปีสอง ประมาณ $395 ซึ่่งครอบคลุมประกันสุขภาพพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าใครอยากได้ความคุ้มครองเพิ่ม สามารถซื้อประกันเสริม ประกันกีฬาผาดโผน เป็นต้น ซึ่งราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่ $250-$500
5. ทำเรื่องขอต่อโครงการปีสอง ก่อนจบโครงการล่วงหน้าประมาณ 2-3 เดือน
บางเอเจนซี่ให้ออแพร์สามารถทำเรื่องต่อปีสอง (กรอก extension application) และออนไลน์หาโฮสต์ได้ก่อนจ่ายค่าต่อโครงการ (ประมาณ $367) แต่บางเอเจนซี่จะให้จ่ายก่อน หลังจากนั้นจึงอัพเดตโปรไฟล์ โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นออแพร์ในปีแรก หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับ สิ่งที่ได้ทำและเรียนรู้/พัฒนา เหตุผลที่ต่อปีสองและเปลี่ยนบ้าน รวมทั้งความคาดหวังต่อบ้านใหม่ในอนาคต บางเอเจนซี่สามารถให้ออแพร์ระบุเจาะจงลงในโปรไฟล์ได้เลยว่าอยากไปอยู่รัฐไหน (แต่โอกาสในการหาโฮสต์ก็จะน้อยลงไปด้วย) เมื่อกด submit application แล้ว จะได้รับอิเมล์ยืนยันจากเอเจนซี่ว่า โปร์ไฟล์ของเราสามารถออนไลน์หาโฮสต์แฟมิลี่ได้แล้ว
* คำเตือน ถ้าไม่อยากได้โฮสต์แบบไหน อย่าใส่ความสามารถด้านนั้นหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นลงไป เช่น เราไม่อยากได้โฮสต์คนจีนเลยแต่เราดันใส่ลงไปในประวัติว่า พูดจีนได้นิดหน่อย ก็เลยมีแต่โฮสต์จีนติดต่อมา และใส่ไปว่าตอนปีแรกเคยอยู่กับโฮสต์ที่เป็นชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) พอปีสองก็มีแต่โฮสต์แขกมาทั้งนั้นเลย เป็นต้น
ส่วนวิดีโอแนะนำตัว สามารถถ่ายและอัพโหลดใหม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ก็ได้ ส่วนใหญ่ออแพร์ที่ต่อปีสองก็ใช้วิดีโอเดิม เพราะยังไงก็มีโฮสต์ที่สนใจออแพร์ที่ต่อปีสองจำนวนมากอยู่แล้ว (เหมือนฉันสวยเลย เนื้อหอมมาก มีแต่โฮสต์แย่งกัน)
สำหรับคนที่ต่อปีสองบ้านเดิมก็ไม่จำเป็นต้องอัพเดตโปรไฟล์หรือวิดีโอแนะนำตัวใหม่เลย สบายไปอีก
6. สัมภาษณ์ และแมตช์
ในขั้นตอนนี้ เหมือนย้อนกลับไปตอนปีแรกอีกครั้ง เพิ่มเติมคือโฮสต์จะชอบถามถึงประสบการณ์ความรู้สึกของปีแรก และเหตุผลที่เปลี่ยนบ้าน และความคาดหวังต่างๆ (เหมือนที่อัพเดตในประวัตินั่นแหละ) มีถามเพิ่มเติมด้วยว่าประทับใจ ไม่ประทับใจ หรือมีอะไรที่ยาก ท้าทายตลอดการเป็นออแพร์ในปีแรก โฮสต์เก่าเป็นอย่างไร อาจจะขอคุยกับโฮสต์เก่าด้วย
แต่ความรู้สึกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเปลี่ยนไปจากปีแรก เพราะเราจะเนื้อหอมมาก ใครๆ ก็อยากได้ออแพร์ที่อยู่ในประเทศแล้ว เราจะรู้สึกเราเป็น "ผู้เลือก" มากกว่า "ผู้ถูกเลือก" และเนื่องจากเรามีประสบการณ์และเข้าใจเกี่ยวกับกฏของโครงการออแพร์อย่างดีแล้ว ทำให้เราเป็นต่อในการเจรจาต่อรองกับโฮสต์ใหม่ อย่างเช่น เรื่องซิมโทรศัพท์มือถือ ตามกฏโฮสต์ไม่จำเป็นต้องจ่ายให้ออแพร์ ตอนปีแรกเราก็จะเกรงใจไม่กล้าถาม แต่พอปีสองเราก็ถามได้ตรงๆ เลย และโฮสต์ก็ยินดีจ่ายเพราะเค้าอยากได้ออแพร์ที่ต่อปีสองกันมากๆ ดังนั้น จงถามทุกๆ เรื่องให้ละเอียด ต่อรอง ให้โฮสต์พิมพ์มาในอิเมล์ได้ยิ่งดี และเลือกแมตช์กับบ้านที่ดีที่สุด
คนที่ไม่มีใบขับขี่ ขับรถไม่ได้ หรือว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ต้องกังวลว่าจะหาบ้านไม่ได้ เพราะโอกาสในการแมตช์มีมากกว่าออแพร์ปีแรกมาก
* ถ้าสัมภาษณ์กับโฮสต์แล้วโดนปฏิเสธเพราะภาษาอังกฤษเราไม่ดีก็ไม่ต้องเสียใจนะว่าอยู่อเมริกามาปี 1 แล้ว ภาษายังไม่ดี เราก็เคยโดนปฏิเสธ แต่ก็ดีแล้ว เพราะเราฟังบ้านนั้นพูดไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นที่สำเนียงด้วย เราก็เลือกไปอยู่กับบ้านที่คุยแล้วสบายใจดีกว่า
ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะคล้ายๆ ปีแรก คือกำหนดวันว่าจะบินวันไหน เอเจนซี่จะจองตั๋วเครื่องบินให้ ออแพร์แจ้งให้โฮสต์บ้านเก่ารู้ ไปเที่ยวและทำสิ่งที่อยากทำก่อนย้ายบ้าน ทะยอยเก็บของ และใช้เวลาที่เหลืออยู่กับโฮสต์บ้านเดิมให้มีความสุข
7. วีซ่า และใบ DS-2019 ใบใหม่
สำหรับออแพร์ที่ต่อปีสอง เนื่องจากสถานการณ์การขอวีซ่ามาอเมริกาในปัจจุบันยากมาก มีอัตราการถูกปฏิเสธวีซ่าสูงมากๆ ไม่แนะนำให้ออแพร์เดินทางออกนอกประเทศอเมริกาตอนใกล้จบโครงการปีแรก หรือเดินทางออกนอกประเทศอเมริกาในปีสอง(ยกเว้นไปแคนาดา และเม็กซิโกได้) เพราะวีซ่า J-1 หมดอายุตามวันที่จบโครงการในปีแรก ถ้าออแพร์ออกนอกประเทศ จะต้องกลับไป renew วีซ่าใหม่ที่ประเทศไทย ซึ่งโอกาสผ่านยากมากๆ
ออแพร์ที่ต่อปีสอง แล้วไม่ได้กลับไป renew วีซ่า สามารถเป็นออแพร์อยู่ในอเมริกาได้อย่างถูกกฏหมาย เพราะจะได้รับใบ DS-2019 ใบใหม่ที่ระบุวันจบโครงการของปีสอง โดยใบDS-2019 ใบใหม่จะถูกส่งไปที่บ้านโฮสต์ใหม่ เมื่อได้รับแล้วให้ตรวจสอบความถูกต้องและเซ็นต์ชื่อที่ด้านล่างของใบ
บางครั้ง เอเจนซี่จะส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่เป็นข้อมูลบ้านเก่าแต่ขยายวันที่จบโครงการมาให้ที่อยู่บ้านเก่าก่อนย้าย เพื่อพกไว้เป็นเอกสารยืนยันการเข้าร่วมโครงการ(เพราะวีซ่าและใบDS-2019 ใบเก่าหมดอายุแล้ว) แล้วจึงส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่อัพเดตข้อมูลทุกอย่างแล้วไปให้ที่อยู่บ้านใหม่
ขั้นตอนการ renew visa
* เตือนอีกครั้ง ไม่รับรองว่าจะผ่าน เพราะช่วงนี้โดนปฏิเสธวีซ่าเยอะเหลือเกิน บางคนกลับไปรีนิววีซ่าตอนเหลือเวลาอีก 3 เดือนจบโครงการปีแรก ไม่ผ่าน แถมโดนยกเลิกวีซ่า 3 เดือนที่เหลืออยู่อีก ต้องออกจากโครงการเลย โฮสต์จึงต้องหาออแพร์ใหม่แล้วส่งของใช้ของออแพร์กลับมาให้ที่ไทยทางไปรษณีย์
** แนะนำให้ติดต่อเอเจนซี่และแจ้งโฮสต์ก่อน
- กลับไปรีนิวได้เมื่อไร? ตอบ ก่อนDS-2019 หมดอายุอย่างน้อย 3 เดือน
- วิธีกรอกเอกสารและนัดหมายสัมภาษณ์
- กรอก DS-160 ที่ลิ้งค์ https://ceac.state.gov/genniv/ (ดูวิธีการกรอก) กรอกเสร็จแล้วกดSubmit แล้วปริ้นท์ออกมา
- จ่ายค่าSEVIS สามารถเชคเลข SEVIS ได้ที่ https://www.fmjfee.com/i901fee/index.html และปริ้นท์ออกมา
- นัดวันสัมภาษณ์ ที่เว็บ https://cgifederal.secure.force.com/
- จ่ายเงิน $160 (ให้ญาติที่ไทยจ่ายให้ก็ได้) จ่ายเสร็จรอเงินขึ้นในระบบ จากนั้นจะนัดวันสัมภาษณ์ได้
- บินกลับไทยไปสัมภาษณ์ เอกสารที่เตรียมไปวันสัมภาษณ์ ได้แก่
1.ใบยืนยันนัดสัมภาษณ์
2.แบบฟอร์ม DS-160
3.Passport
4.รูปถ่ายวีซ่า 2x2 นิ้ว 1 ใบ
5.แบบฟอร์ม DS-2019 ใบใหม่
6.แบบฟอร์ม I-901 หรือใบค่า SEVIS fee (ปริ้นท์ได้ที่นี่)
7.ใบ Transcript (จากมหาวิทยาลัย)
เอกสารที่เตรียมไปเพิ่ม
1. I-94
2. จดหมายจากเอเจนซี่
3. จดหมายยืนยันจากโฮสต์ว่าเราอยู่กับเขาและทำงานกับเขาจริงๆนะ
4. ตั๋วเครื่องบิน
บทความที่เกี่ยวข้อง
https://www.aupaircare.com/stories/top-3-tips-having-extension-conversation
ขอบคุณคุณ Gaiin Savagez ที่แบ่งปันประสบการณ์การรีนิววีซ่าเมื่อ พฤศจิกายน 2017