แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลังเป็นออแพร์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หลังเป็นออแพร์ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Reverse Culture Shock ปรับตัวครั้งใหญ่เมื่อกลับไทย

"ฉันตื่นเต้นมากเมื่อใกล้จะกลับไทย ฉันนึกภาพว่าฉันและทุกๆคนที่ไทยต้องดีใจมากๆที่ฉันกลับมา แต่พอถึงวันจริงๆ แล้ว ฉันไม่แน่ใจว่าตัวฉันและทุกคนรู้สึกอย่างไร?"

เวลาสองสามวันแรกที่ไทยของฉันหมดไปกับการพักผ่อน รื้อของออกจากกระเป๋าเดินทาง และจัดการกับจดหมายกองโตที่ส่งมาให้ฉันตลอด2ปีที่ฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ฉันยังต้องจัดการกับบัญชีธนาคารที่ไม่เคลื่อนไหว และธุรกรรมต่างๆ เวลา 1 อาทิตย์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ฉันบอกให้ทุกคนรู้ว่าฉันกลับมาถึงไทยแล้วนะ เพื่อจะได้นัดหมายเจอกับทุกๆคน แต่มีไม่กี่คนหรอกที่อยากเจอฉันจริงๆ (ฉันรุ้สึกอย่างนั้น)

https://i2.wp.com/studylinks.com/wp-content/uploads/2018/07/reverse-culture-shock.jpg?fit=231%2C260&ssl=1

ใช่แล้ว เพราะแต่ละสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนก็มีงานและภาระหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่มีใครว่างเหมือนฉันนี่นา ฉันพยายามเข้าใจ

ฉันท้องเสียนานกว่า 2 สัปดาห์ ตอนแรกฉันคิดว่าถ้ากลับไทยฉันจะกินทุกอย่างที่อยากกินจนตัวแตกไปเลย ทุกอย่างมันอร่อยและคุ้นลิ้นไปหมด แต่ฉันต้องเข้าห้องน้ำทุกครั้งหลังมื้ออาหาร น้ำหนักฉันลดไปเกือบ 3 กิโลกรัม ฉันพยายามรักษาตัวแต่ไม่มียาอะไรช่วยได้เลย สุดท้ายยาพื้นบ้านอย่างยาธาตุน้ำขาวกลับได้ผลชะงัก หลังจากนั้นก็ไม่มีอาหารอะไรทำร้ายกระเพาะฉันได้อีกเลย (ยกเว้นอาหารเผ็ดจัด)

เวลาผ่านไป ความตื่นเต้นของฉันก็หมดลง ฉันเริ่มเบื่อหน่าย เป็นเพราะฉันว่างงาน และหลายๆ สิ่งที่ฉันเจอที่เมืองไทย ทั้งคำพูด และสถานการณ์ต่างๆ ฉันเริ่มเศร้า...

ทำอะไรก็ขัดใจผู้ใหญ่
มีแฟนหรือยัง ทำไมไม่มีใครมาจีบบ้างเหรอ?
แหมมมม... เด็กนอก
ไม่เจอกันนานอ้วนขึ้นนะ ดำขึ้นด้วย
อุตส่าห์ไปตั้งไกล สุดท้ายกลับมาเป็น......

"ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับที่นี่ ฉันเคยมีความสุขมากกว่านี้ตอนอยู่ต่างประเทศ ฉันรู้สึกหงุดหงิดไปกับทุกอย่างและเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยเจอตอนอยู่ต่างประเทศตลอดเวลา ฉันไม่รู้จะทำอย่างไร ชีวิตจะไปต่อได้อย่างไร ฉันอยากกลับไปที่ันั่นอีกครั้ง...

...ทุกคนบอกว่าฉันกำลังปรับตัว มันต้องใช้เวลา แต่นี่ก็ผ่านมาหลายวันแล้ว ฉันไม่รู้สึกมีความสุขเลย ทุกคนได้แต่ปลอบใจฉันแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไปในทางของตัวเอง มีแต่ฉันที่ยังคงติดอยู่กับความรู้สึกนั้น

บางครั้งฉันรู้สึกว่ามีแต่คนที่เคยเป็นออแพร์ในอเมริกาแบบฉันเท่านั้นที่เข้าใจตัวฉัน

ฉันรู้ตัวว่านี่คือภาวะ Reverse Culture Shock
มันคือ ภาวะที่บุคคลไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมใหม่แล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก
ฉันคิดว่าฉันน่าจะรับมือได้ แต่ไม่คิดว่ามันจะมีผลต่อฉันมากขนาดนี้

มีคนบอกว่าภาวะ Reverse Culture Shock นั้นรุนแรงกว่า Culture Shock เพราะก่อนไปต่างประเทศ ทุกเอเจนซี่มีการปฐมนิเทศและจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อน เพื่อให้สามารถเข้าใจ ปรับตัว และใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมที่แตกต่างที่จะเจอขณะอยู่ต่างประเทศได้ ซึ่งช่วยลดผลกระทบทางด้านจิตใจได้ระดับหนึ่ง และตัวฉันเองได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะเจอ Culture shock ต่างๆ นั้นไว้แล้ว

มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการจากบ้านเกิดเมืองนอน ครอบครัว และเพื่อนสนิทเดินทางข้ามซีกโลกไปใช้ชีวิตในอเมริกา ประเทศที่กว้างใหญ่และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่งของโลก ความไม่รู้ ปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ การพบเจอคนแปลกหน้า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ฉันต้องเจอแต่ฉันมีเป้าหมายที่แน่วแน่แล้วว่า "ฉันต้องอยู่ให้ได้จนจบโครงการ" แต่กลับไม่มีเอเจนซี่ไหนเลยที่เตรียมความพร้อมให้กับออแพร์ที่กำลังจะกลับประเทศให้รับมือกับภาวะ Reverse culture shock

      ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายอาการ reverse culture shock ไว้ 4 ขั้นด้วยกัน คือ

  1. การตัดขาดความสัมพันธ์ จากเพื่อนๆในต่างประเทศ
  2. รู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก มีความสุขที่ได้เจอครอบครัวและเพื่อนๆของคุณอีกครั้ง แต่ไม่นานก็จะตระหนักได้ว่าคนส่วนใหญ่ไมได้สนใจประสบการณ์หรือสิ่งที่คุณไปพบเจอมาที่ต่างประเทศเท่าไหร่นัก 
  3. ฉุนเฉียวและไม่เป็นมิตร ผิดหวัง, โกรธ, แปลกแยก, โดดเดี่ยว, สับสน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และไม่เข้าใจว่าทำไม
  4. ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตที่บ้านของตัวเองใหม่ 
ฉันได้ลองลิสต์ปัญหาที่ได้เจอตลอด 1 เดือนแรกที่กลับไทย เผื่อใครที่กำลังจะกลับไทยได้รู้ก่อน จะได้เตรียมพร้อมรับมือได้
  1. เตรียมความพร้อมกับสภาพอากาศร้อนชื้น 
  2. รถติด คนขับรถไม่มีมารยาท มอเตอร์ไซต์มาก รถประจำทางมาไม่ตรงเวลา ความแออัดบนรถไฟฟ้า ข้ามถนนต้องหลบรถ
  3. ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
  4. มนุษย์ป้า ชอบถามและวิจารณ์เรื่องส่วนตัว แซงคิว ชอบสอนโดยที่ไม่รู้จริง ทัศนคติแคบ
  5. ทุกอย่างอิงชาติ ศาสนา วัฒนธรรม
  6. ความอิสระที่ลดลง ทำอะไรต้องฟังความเห็นของครอบครัวและคนรอบข้าง
  7. ข้อนี้ไม่ใช่ Reverse culture shock ซะทีเดียว แต่เพราะตอนเป็นออแพร์เรามีงานทำ มีบ้านอยู่ ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่พอกลับไทยมาเราต้องคิดถึงอนาคต จะทำงานอะไร แล้วบางครั้งก็อาจไม่ได้งานทันทีที่กลับมา ก็เลยมีช่วง "ว่างงาน" บางคนนานหลายเดือน
เราจะรับมือกับภาวะ นี้ได้อย่างไร
  1. ถึงอากาศจะร้อน แต่อย่าให้ใจร้อนตาม ระลึกในใจไว้เสมอว่า "ใจเย็นๆ" อะไรๆ มันอาจจะไม่ได้สะดวกเท่าที่อเมริกา แต่มันก็ไม่ได้แย่ซะทีเดียว งดเสพข่าวการเมืองเสียบ้าง
  2. ข้ามถนนต้องระวังรถให้มากๆ อย่าประมาท
  3. รับประทานอาหารสด ใหม่ สะอาด อย่าเพิ่งทานของเผ็ด หรือรสจัด ให้ท้องปรับสภาพเสียก่อน
  4. ทำใจให้กว้างๆ อย่าใส่ใจกับคำคนมาก คิดซะว่าเป็นสายลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าเก็บมาคิดมาก
  5. เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม
  6. อย่าลืมว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว บางครั้งอาจจะอึดอัดกับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่บ้าง แต่เป็นเพราะพวกเขาเป็นห่วง และเวลามีปัญหาอะไร พวกเขาก็พร้อมจะช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างคุณเสมอ
  7. ถือซะว่าช่วงเวลาว่างงานคือโอกาสดีที่จะได้พักผ่อน ไปท่องเที่ยวสถานที่ที่อยากไป และทำสิ่งที่อยากทำ อาจจะลงเรียนคอร์สที่สนใจเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือใช้โอกาสนี้อยู่กับครอบครัว หรือทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้ด้อยโอกาสก็ได้
  8. ติดต่อ พูดคุยกับเพื่อนๆออแพร์
  9. คิดถึงเรื่องราวดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับขณะเป็นออแพร์ที่อเมริกา
  10. หางานอดิเรกใหม่ พบเจอผู้คนที่หลากหลาย ทำให้เราได้เรียนรู้จากพวกเขาเหมือนตอนที่เราไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ 
ตอนนี้ฉันติดอยู่ในขั้นที่ 3 แต่ฉันคิดว่าฉันจะก้ามข้ามมันไปได้ และไปอยูู่ในขั้นที่ 4 โดยเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง



ที่มา 
https://www.hotcourses.in.th/study-abroad-info/once-you-arrive/coping-with-reverse-culture-shock/
https://static1.squarespace.com/static/56167d1de4b0141a0f9a9378/t/5acb926a758d46742a84b4ef/1523290730568/Practical+Tips+for+Readjustment.pdf
https://www.ceastudyabroad.com/blog/mojo/2018/03/08/5-tips-to-overcome-reverse-culture-shock

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บินกลับไทย


         การผจญภัยในอเมริกา 2 ปีได้มาถึงวันสุดท้าย ถึงเวลาที่ต้องร่ำลาทุกคนและเดินทางกลับไทย เราได้ทำเรื่องขอตั๋วเครื่องบินจากเอเจนซี่ว่าจะกลับไทยทันทีหลังจบโครงการ ไม่อยู่ต่อเดือนเที่ยว
         ทางเอเจนซี่ของเราซื้อตั๋วให้ฟรีค่ะ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1-3 เดือน ได้ที่นั่งชั้นประหยัด (Economy) ต้องบินวันธรรมดา และบินจากสนามบินที่ใกล้บ้านโฮสต์เท่านั้น ส่วนใหญ่จะให้ต่อเครื่อง 1 ครั้ง ถ้าต้องการบินวันเสาร์อาทิตย์ หรือบินจากสนามบินอื่น หรือต้องการเจาะจงวันเฉพาะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม *การต่อเครื่องที่ยุโรป ถ้าlayoverเกิน 1 ครั้ง หรือระยะเวลาต่อเครื่องนานเกิน 24 ชม หรือออกจากสนามบินจะต้องมีเชงเก้นวีซ่าด้วย
👉 จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย
         หลังเอเจนซี่ส่งข้อมูลตั๋วเครื่องบินที่จองให้แล้วทางอิเมล์ หรือทางโปรไฟล์ ให้ตรวจสอบชื่อ-นามสกุลว่าสะกดถูกต้องไหม ถ้ามีข้อผิดพลาดให้รีบแจ้งเอเจนซี่เพื่อแก้ไขทันที


         ของเราได้สายการบิน Swiss Airline บินจาก Boston คืนวันจันทร์ ประมาณ 7 ชั่วโมงกว่า ไปต่อเครื่องที่ Zurich ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รอต่อเครื่องประมาณ 2.5 ชั่วโมง แล้วบินจาก Zurich โดยสารการบินไทย (Thia Airline operated by Swiss Airline) 11 ชั่วโมงถึงสนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ เช้าตรู่วันพุธ

https://www.swiss.com/CMSContent/web/SiteCollectionImages/03-Fleet/cs100-aircraft-07-id5.jpg

         บินระหว่างประเทศควรถึงสนามบินก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เราบิน 21:45 น. ตอนแรกกะว่าจะไปถึงสนามบินประมาณ 18:30 น. แต่เนื่องจากเวลานั้นเป็นช่วงรถติดเพราะคนเลิกงานกลับบ้านกัน เลยออกจากบ้านตั้งแต่ 16:30 น.

         การแต่งกายวันเดินทาง จากที่ดูพยากรณ์อากาศแล้ว ที่สวิสเซอร์แลนด์กับไทยร้อนมากๆ แต่ในเครื่องอาจหนาวตอนกลางคืน เลยใส่เสื้อบางๆ ไว้ข้างใน กับกางเกงยีนส์ มีเสื้อแจ็กเก็ตคลุมหนึ่งตัว

         ในกระเป๋าCarry on ก็ใส่เสื้อผ้าสำรองไว้อีก 1 ชุดเผื่อต้องเปลี่ยน และของใช้จำเป็น เช่น สบู่ล้างหน้า แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าอนามัย โรลออน ลิปมัน หวีและยางรัดผม ทิชชู่ ลูกอม ยาดม ยาประจำตัวที่จำเป็น สายชาร์จโทรศัพท์ ขวดเปล่าสำหรับใส่น้ำดื่ม หมอนรองคอ หูฟัง ของมีค่า เงินสด และพาสปอร์ต
https://www.swiss.com/gb/EN/prepare/baggage/hand-baggage#t-page=pane1
         * ถือเงินสดขึ้นเครื่องออกนอกอเมริกา เกิน $10,000 ต้องกรอกแบบฟอร์ม FinCEN 105 และตอบคำถามเรื่องที่มาของเงินได้

         สำหรับ Swiss Airline โหลดกระเป๋าฟรีแค่ 1 ใบ น้ำหนักไม่เกิน 23 กิโลกรัม ถ้าต้องการโหลดกระเป๋าเพิ่มอีก 1 ใบจะต้องจ่าย $100 บางสายการบินสามารถซื้อน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้าออนไลน์ได้โดยราคาอาจจะถูกกว่าซื้อที่หน้าเคาน์เตอร์เช็คอิน
https://www.swiss.com/gb/en/prepare/baggage/checked-baggage#t-page=pane2

         โชคดีที่เราเผื่อเวลาไปถึงสนามบินเยอะมาก เลยมีเวลาเหลือเฟือไม่ต้องรีบร้อน เพราะเวลาเช็คอินและจ่ายน้ำหนักกระเป๋าเพิ่มโดยใช้เงินสดก็เสียเวลาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน (ถ้าจ่ายผ่านบัตรจะสะดวกกว่า แต่เราปิดบัญชีไปแล้ว มีแต่เงินสด) กระเป๋าที่โหลดเป็นการ Check through ถึงปลายทางที่ไทยเลย ไม่ต้องรอรับกระเป๋าระหว่างเปลี่ยนเครื่อง และหากใครชอบเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อย่าลืมบอกเจ้าหน้าที่ตอนเช็คอินว่าขอที่นั่งริมทางเดิน (Aisle)

         ขาออกนอกประเทศอเมริกา ไม่มีอะไรมาก เหมือนเวลาบินไปเที่ยวต่างรัฐปกติ เน้นตรวจโน้ตบุ๊ค(ต้องหยิบออกมาจากกระเป๋า และใส่ในถาดพลาสติกเดี่ยวๆ ห้ามใส่ของอย่างอื่นปนในถาด) และห้ามนำสิ่งของต้องห้ามและของเหลวปริมาณเกิน 100 ml เข้าไปใน Gate

         ไปถึง Gate เรามีเวลาเหลือเฟือมาก เลยไปซื้อแซนวิชมานั่งกินระหว่างรอ อยากจะช้อปสินค้า Duty free ก็ไม่มีพื้นที่ในกระเป๋าเหลือ T^T 

         สายการบิน Swiss Airline เสิร์ฟอาหารให้ 2 มื้อ มื้อเย็น เป็นพาสต้ากับสเต็กไก่ ชีสแท่ง สลัดผัก ขนมปัง น้ำผลไม้ และเค้ก ส่วนมื้อเช้าเป็นโยเกิร์ต ครัวซอง และน้ำผลไม้ มีของว่างและเครื่องดื่มบริการเป็นระยะ มีช็อคโกแลตแจกก่อนลงจากเครื่องด้วย ทุกที่นั่งจะมีหมอน ผ้าห่ม หูฟัง จอมอนิเตอร์สำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกม ที่ชาร์จโทรศัพท์ และผ้าอุ่นสำหรับเช็ดหน้าตอนเช้า

         เรามาถึง Zurich เวลาประมาณ 11 โมงครึ่งวันอังคาร (เวลาสวิสเซอร์แลนด์) สนามบินที่นี่มีบริการไวไฟฟรี สามารถเอา Boardingpass ไปสแกนเพื่อรับรหัสไวไฟได้ที่ตู้หน้าตาแบบในรูปข้างล่างนี้ ส่วนเต้าเสียบสำหรับชาร์จโทรศัพท์ที่สนามบินจะเป็นแบบยุโรปคือ เป็นรูกลมๆ 

https://pbs.twimg.com/media/CrSIZUCUkAE1NxZ.jpg

         เปลี่ยนเครื่องไปสายการบินไทย (Thai Airline) ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเลย มีแต่คนไทย แอร์โฮสเตสก็พูดภาษาไทย 
https://i2.wp.com/www.fs2000.org/wp-content/uploads/2015/04/tg77w.jpg?resize=600%2C300

         บนเครื่องคนน้อยมากๆ แต่ละคนนั่งคนละแถวเลย แถวนึงมี 3 ที่นั่ง ง่วงก็นอนยาวลงไปเลย แต่ละที่นั่งจะมีหมอน ผ้าห่ม หูฟัง จอมอนิเตอร์สำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกม ที่ชาร์จโทรศัพท์ และผ้าอุ่นสำหรับเช็ดหน้าตอนเช้าให้ เสิร์ฟอาหาร 2 มื้อเช่นกัน มื้อเย็น เป็นข้าวราดแกงหรือ ข้าวกับไก่ผัดพริกขิง สลัดผัก เค้ก และขนมปัง ส่วนมื้อเช้าเป็นขนมปัง ไข่คน มันฝรั่ง ไส้กรอก โยเกิร์ต และน้ำผลไม้ มีของว่างเป็นแครกเกอร์และมีเครื่องดื่มบริการเป็นระยะ 

         ตอนเครื่องใกล้ลงจอด (Landing) จะมีวิดีโออธิบายขั้นตอนการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากรให้ดู สำหรับคนไทยหรือผู้ถือพาสปอร์ตไทย ไม่ต้องกรอกใบ immigration 

         เมื่อลงจากเครื่องแล้วให้เดินตามป้ายตัวหนังสือสีฟ้าไปเรื่อยๆ (มีป้ายบอกตตลอดทาง) 
https://www.thai.lt/images/thailand/travel/thai-voa-bkk/immigration-sign.jpg
         ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะมีให้บริการ 3 จุด เข้าจุดไหนก็ได้ เราเจอจุดแรกก็เลี้ยวเข้าเลย สำหรับคนไทยจะมีช่องด่วน เรียกว่า Auto Gate ไม่ต้องรอต่อคิวยาวเพื่อพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเหมือนต่างชาติ เพียงแค่สแกนพาสปอร์ตกับเครื่อง ถ่ายรูปหน้า และพิมพ์ลายนิ้วมือ(นิ้วชี้ซ้ายหรือขวาก็ได้)กับเครื่อง ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที 

https://www.it24hrs.com/wp-content/uploads/2017/08/Suvarnabhumi-Airport-auto-gate-foreigner-p01.jpg

https://pbs.twimg.com/media/D5o1gVMU0AAXwm2.jpg

          ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็เดินไปรับกระเป๋าตามสายพานหมายเลขที่แอร์โฮสเตสประกาศบนเครื่อง หรือไปตรวจสอบที่จอมอนิเตอร์ก็ได้ เมื่อได้รับกระเป๋าแล้ว ด่านต่อไปคือตรวจสอบสัมภาระโดยกรมศุลกากร เรียกว่าพิธีศุลกากร (Custom Formalities) ให้มองหาป้ายคำว่าศุลกากรตัวเขียวใหญ่ๆ หาไม่ยากเพราะจะอยู่ใกล้กับสายพานรับกระเป๋าเลย

https://www.mushroomtravel.com/page/wp-content/uploads/2017/03/4-10.jpg

เมื่อเข้าไปแล้ว จะแบ่งเป็น 2  ช่องคือ 

http://www.customs-suvarnabhumi.com/
  1. ช่องเขียว: “ไม่มีของสำแดง” สำหรับผู้ที่มั่นใจว่าตนเองไม่มีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากรติดตัวเข้ามา และพกเงินสดไทยไม่เกิน 200,000 บาท เงินต่างประเทศไม่เกิน $15,000
  2. ช่องแดง: “มีของต้องสำแดง” สำหรับผู้ที่นำของต้องชำระอากร, ของต้องห้าม และของต้องกำกัด เข้ามา หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีอากรหรือไม่


https://www.mushroomtravel.com/page/wp-content/uploads/2017/03/3-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5.png       
👉 รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสำแดงสิ่งของ 
👉 ข่าวสกัดธุรกิจพรีออเดอร์แบรนด์เนม สนามบินสุวรรณภูมิ กำลังจะใช้เครื่องเอ็กซเรย์พร้อมด้วย AI ตรวจกระเป๋าทุกใบบนสายพาน (ใครรับหิ้วสินค้า Pre-order เยอะๆ ระวังด้วยนะจ๊ะ) 
         กรมศุลกากรเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยจะไม่ได้ทำการตรวจสัมภาระผู้โดยสารทั้งหมด แต่ทำการสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล

        ของเราขนรองเท้ากลับไทยประมาณ 10 คู่ ส่วนใหญ่เป็นรองเท้าที่ใช้แล้ว มีรองเท้าใหม่แค่ 2 คู่ น้ำหอม 2 ขวด โลชั่นประมาณ 8 ขวด เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และของใช้อื่นๆ ส่วนใหญ่เราจะแกะกล่อง/ป้ายราคาออก และกระจายของใส่ในแต่ละกระเป๋าเฉลี่ยๆไป เรามีกระเป๋าใบใหญ่ 2 ใบ และแครี่ออน 2 ใบ เดินเข้าช่องเขียว เจ้าหน้าที่สุ่มตรวจกระเป๋าแค่ 2 ใบ (แครี่ออน 1 ใบและใบใหญ่ 1 ใบ) โดยผ่านเครื่อง x-ray ไม่ได้เปิดค้น

         ผ่านพิธีศุลกากรแล้ว ก็มาถึงทางออก เราไม่มีซิมมือถือของไทย ใช้ไวไฟที่สนามบินก็ไม่ได้ โทรหาใครก็ไม่ได้ แต่ที่บ้านได้นัดกับเราว่าจะรออยู่ชั้น 2 ประตู 3 เราก็เดินไปหา โอ้ยยย คิดถึงมากๆ

รีวิวเล็กๆ
  • คำแรกที่พูดตอนก้าวเท้าเหยียบสนามบินสุวรรณภูมิคือ หูววว ร้อนand high humid มากๆ (ซึ่งทุกคนก็บอกว่าวันนี้ยังไม่ค่อยร้อนนะ แค่ 30 กว่าๆองศา แดดยังไม่ออกด้วยเพราะเพิ่งจะ 6 โมงเช้า)
  • รถติดมาก ติดทุกเส้น ขนาดทางด่วนยังติด
  • อาหารไทยมื้อแรกที่กินที่บ้าน คือข้าวเหนียวหมูปิ้ง
  • ก่อนมากะว่ากลับไทยมาจะกินแหลกจนตัวแตก แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่หิวอะไร ดื่มแต่น้ำเพราะร้อนมากๆ
  • Jetlag ไหม? เรื่องนอนไม่เท่าไร นอนหลับปกติอยู่ แต่หิวไม่เป็นเวลา ตีสี่ตื่นมาท้องร้องหิวข้าว 
  • ก่อนมาคิดไว้แล้วว่าจต้องกลับมาเจอ/ทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายคือ กองจดหมายที่ได้รับตลอด 2 ปี อื่นๆ ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีอาการ Reverse Cultural Shcok ไหม


บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา
👉 จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย
👉 การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงใน Resume / CV



วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงใน Resume / CV

         การเป็นออแพร์ในอเมริกา นอกจากได้ท่องเที่ยว และฝึกภาษาอังกฤษแล้ว การได้มาใช้ชีวิตที่นี่ยังเปรียบเสมือนใบเบิกทางในการหางานต่อในอนาคต เพราะสังคมมองว่า เราได้ผ่านเมืองนอกเมืองนามา ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เป็นปี และบริษัทย่อมต้องการพนักงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะการทำงานในต่างประเทศ ที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม หากนำจุดเด่นข้อนี้ใส่ลงไปในใบสมัครงานด้วยก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น
         👉 10 เหตุผล ทำไมนายจ้างถึงต้องการคนที่เคยเป็นออแพร์


         การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงไปใน Resume / CV อย่าใส่เพียงแต่หัวข้อ หรือบอกแค่ว่าเคยเป็นออแพร์ที่ไหน เมื่อไร แต่ให้ใส่รายละเอียดคร่าวๆ ของสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ท้าทายความสามารถ สิ่งที่ได้พัฒนา และความสำเร็จที่ได้รับขณะเป็นออแพร์ลงไปด้วย เช่น

1. ความสามารถด้านภาษา การเป็นออแพร์ในอเมริกาช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับชาวต่างชาติ นอกจากนี้บางคนยังได้ทักษะภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ภาษาสเปน ฯลฯ ตัวอย่างการใส่ความสามารถด้านภาษาใน Resume
  • Thai (Native speaker), English (Upper-intermediate), Spanish (Beginning)
  • Highly proficient in spoken and written English
  • Good/excellent command of spoken and written English
  • Fluent in spoken and written English
  • Ability to communicate effectively in English
  • Cross-cultural communication skills (i.e., an ability to communicate effectively with people who have different cultural expectations and references)
  • Effectively communicating across cultures
  • Public speaking
2. ทักษะการทำงาน
  • High responsibility
  • Adaptability and flexibility
  • Able to work under pressure and stress
  • Very discipline
  • High self-discipline and organization
  • Increased confidence 
  • Energetic and creative
  • Self-motivative
  • Critical thinking
  • Problem-solving skills
  • Collaborating
  • Time management and organizational skills
  • Good at working independently
  • Able to work as part of a team
  • Multitasking
3. ทักษะทางสังคม วัฒนธรรม
  • Open to new things
  • Improved intercultural communication skills 
  • Perseverance
  • The ability to adapt to new surroundings
  • Global awareness
  • Adapting to a new cultural and/or professional environment

4. การอบรม/ประกาศนียบัตรต่างๆ ที่เคยเรียนที่นี่ลงไป โดยใส่ ชื่อ Certification, วันที่ได้รับ หรือหมดอายุ และชื่อสถาบันหรือสถานที่ที่อบรม เช่น
  • ESL Certification
  • Complete 4 credits of ……….
  • Experiences in…….
5. ประสบการณ์อื่นๆ ที่เคยทำขณะอยู่ที่อเมริกาลงไปด้วยก็ได้ เช่น งานอาสา งานประกวด การแสดงต่างๆ เว็บไซต์/บล็อก/ยูทูปที่เคยทำ เป็นต้น *ถ้าประสบการณ์ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับงานที่สมัครก็ไม่ต้องใส่ หรือจะใส่แบบย่อๆ ลงไปในส่วนของประสบการณ์อื่นๆ (Additional activities) ก็ได้
ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)
https://resumegenius.com/blog/volunteer-work-on-resume

💢หมายเหตุ นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ยกมาให้เห็นภาพเท่านั้น
- ควรใช้รูปแบบ resume ที่ได้มาตรฐาน
- ใส่ความสามารถหลัก/ประสบการณ์ที่มีให้ตรงตามลักษณะงานที่กำลังสมัคร 
- ใส่ตามความเป็นจริง สามารถอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบตามทักษะ/ความสามารถที่ใส่ลงใน Resume ได้ (หากคนสัมภาษณ์งานถามรายละเอียดเพิ่มเติม)

👶สำหรับคนที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กต่อ เช่น พี่เลี้ยงเด็ก ครูปฐมวัย หรือออแพร์ในประเทศอื่นๆ สามารถเขียนประสบการณ์ ความสามารถ หน้าที่รับผิดชอบ และสิ่งที่ได้รับจากการเป็นออแพร์ในอเมริกาลงไปตรงๆ ได้เลย พร้อมแนบประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมโครงการ รางวัลหรือใบประกาศนียบัตรรับรองการเสนอชื่อเป็น Au Pair of The Year และอาจขอให้โฮสต์ช่วยเขียนจดหมายรับรองประสบการณ์การทำงาน (Childcare reference / recommendation letter) ให้

ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)
https://www.livecareer.com/resume-search/r/au-pair-83514834bf8648c6851db127c117e6ea

ตัวอย่าง Childcare reference/ recommendation letter

👷ส่วนใครที่จะกลับไปทำงานด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลเด็ก ก็สามารถประยุกต์ใส่ทักษะด้านภาษาและทักษะการทำงานที่มีลงไปใน Resume ได้ ส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยอาจใส่ในส่วนของ "ประสบการณ์อื่นๆ หรือประสบการณ์ต่างประเทศ" 
* ถึงแม้ว่างานที่จะสมัครนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเลย Resumeที่ดีไม่ควรเว้นช่องว่าง (Gap year) ไว้ เพราะแสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ/ความรู้ความสามารถของตัวเองอยู่ตลอด ไม่ได้อยู่เฉยๆ และทำให้ Resume ของเราดูมีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น
ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)


https://www.gooverseas.com/blog/how-use-your-gap-year-improve-your-resume

Useful link
ที่มา
https://www.goabroad.com/articles/jobs-abroad/career-benefits-of-being-au-pair
https://www.aupair.net/au-pair-stay-useful-resume/
https://www.studentjob.co.uk/blog/1991-how-to-use-your-time-as-an-au-pair-to-boost-your-cv
https://www.gooverseas.com/blog/how-use-your-gap-year-improve-your-resume
https://caffeinatedchapters.com/2018/11/06/can-you-put-au-pairing-on-your-resume/
https://www.bunac.org/uk/blog/bunac-blog/travel-tips/writing-about-work-abroad-experience-on-a-cv
https://resumegenius.com/blog/volunteer-work-on-resume

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง ในฐานะผู้ถือวีซ่าชั่วคราว (Temporary non-immigrant visa) ระยะเวลาที่เป็นออแพร์ในอเมริกา 1-2 ปีนี้ได้ประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย เมื่อจบโครงการแล้วบางคนเลือกเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตัวเอง และคงไม่ได้กลับมาอเมริกาอีกสักพัก


ทบทวนสิ่งที่ต้องทำก่อนเดินทางกลับประเทศ
1. มีอะไรที่อยากทำอีก
         มีอะไรที่อยากทำหรือมีที่ที่อยากไปในอเมริกาแล้วยังไม่ได้ทำ/ไปก็ทำซะ ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ จะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียดายทีหลัง

2. ตกลงวันทำงานวันสุดท้ายกับโฮส ใช้เวเคชั่นให้หมด
         ต้องคุยกับโฮสต์และLCC ตกลงกันให้ดีว่าจะทำงานถึงวันไหน แล้วจะได้รับค่าจ้างอย่างไร เพราะวันจบโครงการออแพร์บางคนอยู่ระหว่างกลางสัปดาห์
         อีกเรื่องคือวันลาพักร้อนหรือ Vacation ถือเป็นสิทธิของเราที่จะได้หยุดงานและไปเที่ยวโดยได้รับค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ บางคนเลือกที่จะเก็บไว้ใช้ 1-2 อาทิตย์ก่อนจบโครงการเพื่อเที่ยวและเตรียมตัวกลับไทย
         บางคนอาจมีช่วง Overlap time คาบเกี่ยวระหว่างออแพร์ใหม่ อาจต้องช่วยสอนงานให้ แต่ตามกฏแล้วออแพร์ไม่จำเป็นต้องมีช่วง overlap นี้ทุกคน และจะมีได้ก็ต่อเมื่อโฮสต์มีห้องว่างให้ทั้งออแพร์เก่าและออแพร์ใหม่แยกกัน
     
3. เคลมประกันให้ครบ
         ใครที่เคยไปหาหมอ หรือรับการรักษาพยาบาลใดๆ ระหว่างเป็นออแพร์ อย่าลืมทำเรื่องเคลมเงินให้เรียบร้อยก่อนกลับ เพราะบางครั้งอาจใช้เวลานาน

4. ส่งหลักฐานการเรียน
         สำหรับใครที่เรียนครบ 6 เครดิตอย่าลืมส่งหลักฐานการเรียนให้กับทางเอเจนซี่ เพราะจะได้รับใบประกาศนียบัตรการเข้าร่วมโครงการออแพร์ในอเมริกาไว้เป็นที่ระลึกและเป็นเครื่องรับรองความสำเร็จของตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะได้รับใบประกาศนียบัตรหลังกลับจากไทยแล้ว

5. ยกเลิกสมาชิกต่างๆ
         เผื่อบางคนมีสมัครสมาชิกเสียรายเดือนอะไรไว้ อย่าลืมยกเลิกก่อนกลับไทยนะ

4. จองตั๋วเครื่องบิน
         ทางเอเจนซี่จะส่งอิเมล์มาถามประมาณ 3 เดือนก่อนจบโครงการว่าจะอยู่ต่อเดือนเที่ยวไหม หรือจะกลับประเทศไทยเลย แล้วให้ทำเรื่องจองตั๋วเครื่องบินกลับ โดยส่วนใหญ่จะให้บินวันธรรมดา และต้องบินจากสนามบินที่ใกล้บ้านโฮสต์ไปยังประเทศไทยเท่านั้น (บางเอเจ้นซี่ยกเลิกการขอตั๋วต่างสนามบิน หรือแวะไปลงประเทศอื่นๆ ที่ต้องการก่อนกลับไทย) นอกจากนี้ ออแพร์ยังสามารถขอจองตั๋วเครื่องบินกลับรอบเดียวกับเพื่อนได้ สำหรับใครที่แพ้อาหาร หรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งเอเจ้นซี่ด้วย *ตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเอเจ้นซี่

5. เก็บของ
         ทยอยเก็บของที่ไม่ใช้ ไม่จำเป็น ส่งต่อหรือขายต่อ จะได้มีพื้นที่กระเป๋าสำหรับใส่ของฝากกลับไทย ของบางอย่างเราส่งพัสดุทางเรือกลับไทยเอา เพราะจะเกินน้ำหนักกระเป๋าที่โหลดได้
          👉 เสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว เอาไปไว้ไหนดี

6. ซื้อของฝาก
          เช่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือ ขนมต่างๆ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ นาฬิกา ของที่ระลึก พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น โปสการ์ด เป็นต้น *ระวัง ถ้าจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับไทย เพราะขนาดกำลังไฟฟ้าที่อเมริกาต่างจากไทย ซื้อแล้วอาจไม่สามารถใช้ที่ไทยได้

7. อำลา ให้ของที่ระลึก
         บอกลาเพื่อนๆ และโฮสต์แฟมิลี่ อาจนัดวันทานอาหารค่ำมื้อพิเศษหรือมีงานเลี้ยงอำลาเล็กๆ น้อยๆ บางคนก็อาจจะทำของที่ระลึกให้ เช่น อัลบั้มรวมรูป แลกEmail Fcebook Instragram Skype สำหรับติดต่อถึงกัน และพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ตลอดปีของการเป็นออแพร์ที่ผ่านมา
8. เช็คตั๋วเครื่องบิน
          ตรวจสอบชื่อนามสกุลและข้อมูลส่วนตัวของตนเอง ถ้าไม่ถูกต้องให้รีบแจ้งเอเจนซี่
          ตรวจสอบสายการบิน วันเวลา ต้องต่อเครื่องที่ไหน กี่ครั้ง ขึ้น-ลงที่สนามบินใด *การต่อเครื่องที่ยุโรป ถ้าlayoverเกิน 1 ครั้ง หรือระยะเวลาต่อเครื่องนานเกิน 24 ชม หรือออกจากสนามบินจะต้องมีTransit Visa ด้วย ถ้าไม่อยากเสียค่าทำวีซ่าก็ควรแจ้งเอเจ้นซี่ให้เปลี่ยนตั่ว
          ตรวจสอบน้ำหนักและจำนวนกระเป๋า อาหารบนเครื่อง และอย่าลืมแจ้งครอบครัวที่ไทยไว้ด้วย
         ก่อนเดินทางอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ควรเข้าไปตรวจเช็ค Flight information อีกครั้ง ในเว็บของการสายกิน โดยนำรหัสการจอง (Booking Number) หรือ Flight number ใส่ และอาจกรอกข้อมูล Passenger ไว้ รวมถึงเช็คสภาพอากาศของประเทศที่ต้องไปต่อเครื่องและประเทศไทยเพื่อที่จะได้เลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม
         สำหรับใครที่ต้องการ upgrade ที่นั่งจาก Economy เป็น Business หรือ First Class สามารถทำได้เองโดยติดต่อสายการบิน หรือทำผ่านเว็บไซต์สายการบิน โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แลกกับขนาดที่นั่ง พื้นที่วางขาที่กว้างขึ้น และอาจได้น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มขึ้น
         *ใกล้ๆ เดินทางควรเช็คอีกรอบเผื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลง และนัดหมายกับที่บ้านไว้ว่าจะมารอรับที่ประตูไหน กี่โมง

9. วางแผนสิ่งที่จะทำในไทย 1 สัปดาห์แรก และเตรียมรับมือกับ reverse cultural shock
         สิ่งที่ต้องทำในระยะแรก เช่น ซื้อซิมโทรศัพท์, เที่ยว/พบปะกับครอบครัว ญาติ เพื่อน, สอบTOEIC, ตรวจสุขภาพ, สมัครงาน/สมัครเรียน เป็นต้น
          Reverse cultural shcok คือ สภาวะที่รู้สึกไม่มีความสุข/ไม่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาระยะหนึ่ง ต้องใช้เวลาและการปรับตัวทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทัศนคติ

10. โอนเงินกลับไทย ปิดบัญชี
         สำหรับคนที่ต้องการโอนเงินกลับประเทศไทย (wire transfer) ควรโอนก่อนปิดบัญชีอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เผื่อกรณีมีปัญหาจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารและแก้ไขได้สะดวก เอกสารที่ต้องใช้คือ Passport คิดค่าธรรมเนียมในการโอนประมาณ $45 แล้วแต่ธนาคาร และต้องรู้ Swfit code ของธนาคารที่ไทยที่ต้องการโอนเงินไปด้วย ควรตรวจสอบทางเว็บไซต์หรือโทรสอบถามธนาคารก่อน หรือหากต้องการโอนผ่านแอพลิเคชัน เช่น TransferWise หรือ Paypal ก็สามารถทำได้ มีค่าธรรมเนียมและระยะเวลาที่ได้รับเงินแตกต่างกันไป                 
         หากต้องการปิดบัญชี (Close Account) ควรหยุดซื้อของออนไลน์ หรือจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต/เครดิต หรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนปิดบัญชี เพราะว่าบางครั้งรายการที่ทำยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังขึ้นอย่า Pending หรือ Processing อยู่ ธนาคารก็จะไม่สามารถปิดบัญชีให้ได้ ต้องรอทุกรายการเสร็จสมบูรณ์ ยอดเงินในบัญชีนิ่งก่อน เอกสารที่ใช้ปิดบัญชีคือ Photo ID อย่างเดียว เมื่อปิดบัญชีแล้ว ธนาคารก็จะคืนเงินที่เหลือในบัญชีมาให้เป็นเงินสด

11. ทำความสะอาดห้องนอน คืนของ
          คืนซิมโทรศัพท์ บัตรรถไฟ กุญแจบ้าน กุญแจรถ ฯลฯ ที่โฮสต์ให้ยืมใช้ระหว่างเป็นออแพร์ให้เรียบร้อย หรือส่งต่อให้ออแพร์คนใหม่ใช้ ของที่ไม่สามารถขนกลับทางเครื่องบินหมด สามารถนำไปบริจาคหรือส่งพัสดุทางเรือกลับได้

"การจากลา ไม่ได้หมายความว่า...จะไม่เห็นหน้ากันตลอดไป 
ยังเก็บทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่ไว้ในความทรงจำ
คิดถึงเมื่อไรก็โทรหาโฮสต์ เด็ก และเพื่อนๆได้"

บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 ปีเดียวไม่พอ อยู่ต่อเลยได้ไหม (Extend Au Pair's program)
👉 เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา


วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562

เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา

ออแพร์ในอเมริกา นอกจากจะมีวันลาพักร้อน 14 วันแบบได้เงินค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ (Paid vacation) แล้ว หลังจบโครงการยังสามารถอยู่ท่องเที่ยวต่อ(หรือเตรียมตัวกลับประเทศ)ในอเมริกาได้สูงสุด 30 วันอย่างถูกกฏหมาย (travel grace period) แต่ในระหว่างนี้ถือว่าออแพร์คนนั้นไม่ได้อยู่ในสถานะวีซ่า J-1 อีกต่อไป ระหว่าง 30 วันนี้ จะไม่สามารถทำงานได้


pixabay.com


สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเดือนเที่ยวของออแพร์ (travel grace period)

  • เอเจนซี่ออแพร์จะส่งอิเมล์มาถามความจำนงในการอยู่ต่อเดือนเที่ยวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก่อนจบโครงการ
  • ควรซื้อประกันสุขภาพ (Health insurance) สำหรับคนที่ต้องการอยู่ต่อเดือนเที่ยวนี้ เพราะค่ารักษาที่นี่แพงมาก และบางเอเจนซี่จะไม่ออกตั๋วบินกลับไทยให้ถ้าไม่ซื้อประกัน
  • เดือนเที่ยวจะเริ่มนับจากวันแรกหลังจบโครงการออแพร์ตามที่ระบุไว้ในใบ DS-2019
  • ออแพร์แต่ละคนจะมีเดือนเที่ยวนี้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น คือหลังจบปีแรก หรือหลังจบปีสอง(extend program) ไม่ว่าจะต่อ 6, 9 หรือ 12 เดือน
  • ระยะเวลาที่อยู่ต่อได้อย่างถูกกฏหมายสูงสุดคือ 30 วัน
  • ระยะนี้ออแพร์ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถือวีซ่า J-1 แล้ว แต่มีสถานะคล้ายผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว และได้รับการดูแลและคุ้มครองจาก the United States Citizenship and Immigration Services ตามกฏหมาย
  • เดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะภายในอเมริกาแผ่นดินใหญ่ (mainland USA) และนั่งเครื่องบินแบบ direct flight ไปยังHawaii และ Alaska เท่านั้น (ไม่สามารถล่องเรือไปได้ เพราะเรือมักจอดแวะยังท่าเรือนอกอเมริกา) ถ้าออกนอกประเทศอเมริกาไปแล้วจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก ถือว่าสิ้นสุดโครงการและเดือนเที่ยวเลย
  • ในเดือนเที่ยวนี้ห้ามทำงานหรือว่าสมัครเรียนที่โรงเรียนใดๆ เด็ดขาด ถือว่าผิดกฏหมาย
  • ควรออกจากประเทศก่อนวันสุดท้ายของเดือนเที่ยวหมดลง เพื่อป้องกันกรณีไฟลท์เครื่องบินที่บินกลับประเทศล่าช้า (delay) จนทำให้ต้องอยู่เกินกว่า 30 วัน (overstay) และจะกลายเป็นคนที่ไม่มีสถานะทันที (out of status) รวมทั้งยังมีผลต่อการขอวีซ่ากลับมาอเมริกาอีกครั้ง หรือการขอ green card ในอนาคต
  • การเดินทางท่องเที่ยวโดยเครื่องบินภายในเดือนเที่ยวนี้ใช้แค่ ID ที่ยังไม่หมดอายุ แต่เพื่อความปลอดภัยควรพกเอกสารสำคัญทุกอย่างไว้กับตัว เช่น พาสปอร์ต, ใบDS-2019, Insurance card เป็นต้น
  • สำหรับคนที่ต้องการอยู่ต่อมากกว่า 30 วัน ควรดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนวีซ่าหรือสถานะอย่างน้อย 3 เดือนก่อนวันจบโครงการออแพร์ เพื่อป้องกันปัญหาอยู่เกินกำหนด (overstay)
  • ปัจจุบันใบขับขี่สำหรับออแพร์จะมีวันหมดอายุตามใบDS-2019 การต่ออายุใบขับขี่สำหรับเดือนเที่ยวมีคนเคยทำได้* ใช้เอกสารทั้งหมดเสมือนการทำใบขับขี่ครั้งแรก ได้แก่ Passport, VISA, DS-2019, I-94, SSN, ใบขับขี่ทุกใบที่มี, จดหมายเข้าร่วมโครงการจากเอเจนซี่, proof of residence เช่นจดหมายจากทางการที่ส่งมาที่อยู่บ้าน หรือ statement จากธนาคาร เพิ่มเติมคือต้องอธิบายให้เจ้าหน้าที่ DMV เข้าใจว่าออแพร์มีสิทธิอยู่ต่อในอเมริกาในเดือนเที่ยวได้อย่างถูกกฏหมาย เจ้าหน้าที่อาจติดต่อไปทางเอเจนซี่ต้นสังกัดออแพร์เพื่อตรวจสอบวันที่ที่ออแพร์สามารถอยู่ต่อได้ให้แน่ใจ หรือใครมีใบขับขี่สากลก็ใช้ใบขับขี่สากลเหมือนนักท่องเที่ยวปกติเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 การเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกา
👉 ออแพร์สายเที่ยว(event) และดีลส่วนลดสำหรับกิจกรรมสนุกๆ
👉 สอบใบขับขี่ฟลอริด้า part 2 (สอบข้อเขียน)


ที่มา
https://www.cicdgo.com/work-and-travel-usa/grace-period/
https://www.immi-usa.com/j1-visa/j1-visa-extension/
http://usainternship.com/what-is-j1-visa-grace-period/#ixzz5k8Sy6z5H
http://help.culturalcare.com/au-pair/knowledge-base/travel-policy-and-documents/
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Kachamas Limphutthapong