วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

Spring Forward, Fall Back ปรับเวลาในอเมริกา

ในประเทศอเมริกาที่กว้างใหญ่ นอกจากจะแบ่งเป็นหลาย Time Zone ให้สับสนกันแล้ว ยังมีการใช้ระบบการปรับเวลา (Daylight Saving Time หรือ DST) ปีละ 2 ครั้งอีกด้วย


(https://pixabay.com/en/pocket-watch-time-of-sand-time-3156771/)

การปรับเวลา (Daylight Saving Time หรือ DST) คืออะไร?
          ในวันอาทิตย์ เวลา 2:00 AM 2 วันต่อปี เพื่อปรับเวลาในเวลาตีสอง โดยปรับไปข้างหน้า 1 ชั่วโมงในฤดูใบไม้ผลิ (Spring Forward) และปรับย้อนกลับ 1 ชั่วโมงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Fall Back) มีเพียงรัฐ Arizona (ยกเว้น Navajo), Hawaii, American Samoa, Guam, the Northern Mariana Islands, Puerto Rico และ the United States Virgin Islands ที่ไม่มีการปรับเวลา DST

ทำไมต้องปรับเวลา?
          เพราะว่าในประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และไม่ได้อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และบางประเทศในแอฟริกา ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งปี ทำให้ช่วงฤดูร้อนจะรู้สึกพระอาทิตย์ขึ้นเร็ว และตกช้า มีเวลาระหว่างวันที่ยาวนานกว่าฤดูหนาวที่เช้าแล้วยังรู้สึกมืดอยู่ และพระอาทิตย์ตกดินเร็ว การปรับเวลาเพิ่มขึ้น และลดลงนี้จึงช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างเช่น

  • สมมุติในฤดูร้อน พระอาทิตย์ขึ้น 5:00 AM ก่อนปรับเวลาผู้คนตื่นนอนเวลา 6:00 AM แต่หลังปรับเวลาไปข้างหน้า 1 ชม. เวลานอนจึงหายไป 1 ชั่วโมง ผู้คนต้องตื่นเร็วขึ้น (เสมือนตื่น 5:00 AM) ทำให้มีเวลาทำกิจกรรมระหว่างวันมากขึ้น
  • ในฤดูหนาว พระอาทิตย์ขึ้น 7:00 AM เด็กนักเรียนต้องมายืนรอรถโรงเรียนตั้งแต่ 6:30 AM ฟ้ายังมืดอยู่เลย แถมอากาศก็หนาว ดังนั้นการปรับเวลาย้อนหลังไป 1 ชั่วโมง ทำให้ผู้คนมีเวลานอนมากขึ้น (เสมือนออกมารอรถตอน 7:30 AM ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว)
ใครคือผู้คิดค้นแนวคิดการปรับเวลานี้?
          ในปีค.ศ.1905 William Willett ชาวอังกฤษได้เสนอแนวคิดให้ปรับนาฬิกาไปข้างหน้า 80 นาที ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลากับแสงแดดในฤดูร้อนมากขึ้น แต่เขาก็เสียชีวิตลงก่อนที่จะได้เห็นความฝันของเขาเป็นจริง
          สิบปีต่อมา วันที่ 30 เมษายน 1916 ประเทศเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้ระบบปรับเวลานี้ ตามมาด้วยประเทศอังกฤษในอีก 2 อาทิตย์ถัดมา

ทำไมต้องปรับเวลาตอนตีสองวันอาทิตย์?
          เพราะเวลา 2:00 AM คือช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนอนหลับ หากปรับตอนเช้าวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ อาจจะเกิดความโกลาหล และทำให้ไปทำงาน หรือไปโรงเรียนสายได้
          ทั้งนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และนาฬิกาดิจิตอล จะปรับเวลาให้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากเป็นนาฬิกาอะนาล็อค เจ้าของนาฬิกาก็ไม่จำเป็นต้องตื่นมาปรับเวลาตอนตีสอง แต่ให้ปรับไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอนเลย หรือบางคนจะชอบปรับตอนเที่ยงคืน ทีนี้ก็เข้านอนได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวตื่นผิดเวลา

สำหรับปี 2019 วันที่ปรับเวลาคือ?
วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2019 ปรับไปข้างหน้า 1 ชั่วโมง (เวลา 1:59 AM แล้วกระโดดไปเป็น 3:00 AM)
วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2019 ปรับถอยหลัง 1 ชั่วโมง (เวลา 1:59 AM แล้วกลับกลายเป็น 1:00 AM)



แหล่งอ้างอิง
https://www.timeanddate.com/time/change/usa/new-york
http://www.sereechai.com/index.php
https://www.history.com/news/8-things-you-may-not-know-about-daylight-saving-time
https://gogoamerica.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น