หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2562

ไอเดีย Keep in touch with host family ง่ายๆ

        ออแพร์บางคนจะมีปัญหาว่า match กับโฮสต์ล่วงหน้านาน 3 เดือน 6 เดือนก่อนบิน ก่อนแมตช์ก็อิเมล์ หรือโทรคุยกับโฮสต์บ่อยมาก เพราะต้องสัมภาษณ์และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่หลังจากแมตช์แล้วไม่รู้จะคุยอะไรดี โฮสต์เองก็เงียบหายไป

pixabay.com

        ต้องบอกก่อนว่าโฮสต์ส่วนใหญ่ที่ต้องการออแพร์เพราะเขางานยุ่งมาก ไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้(เลยต้องจ้างเราไง) ตอนก่อนแมตช์เค้าต้องใช้เวลาอย่างมากในการหาและสัมภาษณ์ออแพร์หลายคน เวลาแต่ละประเทศก็ต่างกันอีก ไหนจะต้องทำงานอีก เป็นช่วงที่ยุ่งมากๆเลย ดังนั้นพอเค้าแมตช์เรียบร้อยแล้ว เค้าก็เลยกลับไปใช้ชีวิตปกติของตัวเอง หรือกำลังจัดการความเรียบร้อยเตรียมพร้อมรับออแพร์ใหม่เข้าบ้านอยู่ ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เค้าจะคุยกับเราน้อยลง

         แต่เราก็ไม่อยากให้เค้าหายไปเลย อยากชวนคุยแต่ก็ติดตรงภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง นอกจากถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไปแล้วก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี?

มาลองดู 8 ไอเดีย keep in touch with host family ง่ายๆ คุยบ้างนานๆที ไม่ต้องบ่อยแต่ได้ใจโฮสต์เต็มๆ

1. อวยพรเนื่องในเทศกาลสำคัญ เช่น วันเกิดเด็ก วันคริสมาสต์ วันสำคัญทางศาสนา วันหยุดฮอลิเดย์สำคัญต่างๆ ทั้งของฝั่งไทย อเมริกา และของ original country ของโฮสต์ (กรณีโฮสต์ไม่ได้เกิดในอเมริกา) เช่น วันตรุษจีน วันสงกรานต์ ฯลฯ

         โดยอาจะเขียนคำอวยพร ส่งรูปการ์ดน่ารักๆ ไปให้ หรือออแพร์อาจส่งรูปกิจกรรมที่ทำในวันสงกรานต์ ลอยกระทง วันเกิด ไปให้โฮสต์ พร้อมเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่ได้ทำในวันสำคัญของไทย อาหารไทย ชวนมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น นอกจากจะดู nice & sweet แล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัวด้วย

https://www.officeholidays.com/countries/usa/index.php

        นอกจากนี้ยังมีวันฮอลิเดย์เฉพาะรัฐ เช่น 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวัน Texas Independence Day หรือ วันจันทร์ที่สามของเดือนเมษายนจะเป็นวัน Patriots Day ที่ฉลองกันเฉพาะในรัฐ Maine และ Massachusetts เป็นต้น
        👉 ดู Federal&State Holiday เพิ่มเติม

ตัวอย่างคำถาม
What did you do in...........holiday?
Did you celebrate............day?
How was your..................day?
What activities do American people do in..................holiday?
What kind of special food do people eat in....................in USA?

2. ถามถึงกิจกรรมที่เด็กๆและโฮสต์ทำในช่วงโรงเรียนปิดเทอม
         โฮสต์ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ ช่วงนี้ อาจพาไปเที่ยว หรือสมัครคลาสต่างๆ summer camp ให้ เราก็ชวนคุยถึงกิจกรรมที่โฮสต์กับเด็กๆ ทำว่าเป็นไงบ้าง สนุกไหม ชอบไหม ยิ่งเด็กเล็กจะชอบเล่าเรื่องมากๆ
https://www.edarabia.com/school-holidays-united-states/
*ตารางวันหยุดของแต่ละโรงเรียน แต่ละวัยอาจจะแตกต่างกันไปเล็กน้อย 

3. เมื่อออแพร์ หรือโฮสต์กำลังไปหรือกลับมาจากการท่องเที่ยวพักผ่อน
         ถ้าออแพร์ได้ไปเที่ยวไหน สามารถส่งรูปถ่ายและเล่าเรื่องราวความประทับใจในทริปให้โฮสต์ฟัง อาจถามว่าโฮสต์เคยมาเที่ยวที่นั่นไหม ชวนโฮสต์มาเที่ยวเมืองไทย มาลองอาหารไทย
         ถ้ารู้ว่าโฮสต์ไปเที่ยว ก็ชวนคุยได้ว่าไปที่ไหน ไปนานเท่าไร เป็นอย่างไรบ้าง อากาศที่นั่น ได้ทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ประทับใจ ไปที่นั่นบ่อยไหม กลับเมื่อไร เด็กๆ ชอบไหม จะกลับเมื่อไร ช่วยส่งรูปให้ดูบ้าง เป็นต้น

4. ถามคำถามเพิ่มเติม
         ออแพร์สามารถถามคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโฮสต์ เด็ก บ้าน เมือง/รัฐที่อยู่ สภาพอากาศ หน้าที่ความรับผิดชอบ ตารางงาน หรือแม้กระทั่งขอให้โฮสต์ช่วยส่งคู่มือกฏระเบียบต่างๆ ข้อควรรู้สำหรับออแพร์มาให้อ่านล่วงหน้าก่อนจะบินไป

5. ชวนคุยเรื่องที่ชอบ งานอดิเรกที่เหมือนกัน เช่น หนังที่ชอบ ตัวการ์ตูน สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ งานศิลปะต่างๆ อาจพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รูปภาพ, ถามว่าได้ดูภาคใหม่ของหนังเรื่องนี้หรือยัง, สิ่งที่เหมือน-แตกต่างในการเลี้ยงสุนัขในอเมริกากับไทย, ขอคำแนะนำในการดูแลสวน เป็นต้น

6. อัพเดทข้อมูลของออแพร์ เช่น วันนี้ฉันกำลังจะไปร่วม workshop เตรียมความพร้อมก่อนบินกับเอเจนซี่ เจอเพื่อนๆ มากมาย มีคนจะบินพร้อมฉันด้วย มีคนที่จะไปอยู่รัฐเดียวกับฉันกี่คน, ฉันสัมภาษณ์วีซ่าผ่านแล้ว ตื่นเต้นที่จะได้พบคุณและเด็กๆ มาก, ฉันกำลังไปซื้อของและจัดกระเป๋า มีอะไรที่ฉันจำเป็นต้องเอาไปบ้าง, หรือวันนี้ฉันมางานเลี้ยงส่งของฉันกับเพื่อนที่บริษัท, ฉันกำลังฝึกขับรถและภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เป็นต้น เล่ารายละเอียดและความรู้สึกให้โฮสต์ฟัง

7. ชวนคุยเรื่องข่าวสารบ้านเมือง ในที่นี้ก็สามารถคุยได้ทุกอย่าง ยกเว้น "ข่าวการเมือง" เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้เช่น การแข่งกีฬา Superbowl คุณได้ดูการแข่งนี้ไหม คุยเชียร์ทีมไหน, สภาพอากาศ ภัยพิบัติ ช่วงนี้ฝนตกหนักไหม ฉันได้เห็นข่าวพายุหิมะ คุณเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม?
         👉 Super Bowl คืออะไร

8. คิดถึง ขอดูรูปหน่อย
         สำหรับใครที่ไม่รู้จะคุยอะไรจริงๆ ก็แค่ทักไปถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป บอกว่าคิดถึง ไม่ได้คุยกันสักพักแล้ว ตื่นเต้นที่จะใกล้บินแล้ว อยากอัพเดทชีวิต ขอดูรูปเด็กๆ หน่อยได้ไหม เบบี้โตขนาดไหนแล้ว กิน-นอนเก่งไหม เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 ขั้นตอนการเป็นออแพร์
👉 สัมภาษณ์กับโฮสต์แฟมิลี (Au Pair Interview)
👉 สัมภาษณ์วีซ่าออแพร์ อเมริกา (แบบละเอียด)
👉 ตัวอย่าง คำถาม-คำตอบ สัมภาษณ์วีซ่าออแพร์ อเมริกา
👉 ใกล้เดินทางแล้ว ออแพร์จัดกระเป๋าอย่างไรดี
👉 ไอเดียของฝากให้โฮสต์แฟมิลี่ 



วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงใน Resume / CV

         การเป็นออแพร์ในอเมริกา นอกจากได้ท่องเที่ยว และฝึกภาษาอังกฤษแล้ว การได้มาใช้ชีวิตที่นี่ยังเปรียบเสมือนใบเบิกทางในการหางานต่อในอนาคต เพราะสังคมมองว่า เราได้ผ่านเมืองนอกเมืองนามา ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เป็นปี และบริษัทย่อมต้องการพนักงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะการทำงานในต่างประเทศ ที่ต้องเจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม หากนำจุดเด่นข้อนี้ใส่ลงไปในใบสมัครงานด้วยก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น
         👉 10 เหตุผล ทำไมนายจ้างถึงต้องการคนที่เคยเป็นออแพร์


         การใส่ประสบการณ์การเป็นออแพร์ลงไปใน Resume / CV อย่าใส่เพียงแต่หัวข้อ หรือบอกแค่ว่าเคยเป็นออแพร์ที่ไหน เมื่อไร แต่ให้ใส่รายละเอียดคร่าวๆ ของสิ่งที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ท้าทายความสามารถ สิ่งที่ได้พัฒนา และความสำเร็จที่ได้รับขณะเป็นออแพร์ลงไปด้วย เช่น

1. ความสามารถด้านภาษา การเป็นออแพร์ในอเมริกาช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารกับชาวต่างชาติ นอกจากนี้บางคนยังได้ทักษะภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ภาษาสเปน ฯลฯ ตัวอย่างการใส่ความสามารถด้านภาษาใน Resume
  • Thai (Native speaker), English (Upper-intermediate), Spanish (Beginning)
  • Highly proficient in spoken and written English
  • Good/excellent command of spoken and written English
  • Fluent in spoken and written English
  • Ability to communicate effectively in English
  • Cross-cultural communication skills (i.e., an ability to communicate effectively with people who have different cultural expectations and references)
  • Effectively communicating across cultures
  • Public speaking
2. ทักษะการทำงาน
  • High responsibility
  • Adaptability and flexibility
  • Able to work under pressure and stress
  • Very discipline
  • High self-discipline and organization
  • Increased confidence 
  • Energetic and creative
  • Self-motivative
  • Critical thinking
  • Problem-solving skills
  • Collaborating
  • Time management and organizational skills
  • Good at working independently
  • Able to work as part of a team
  • Multitasking
3. ทักษะทางสังคม วัฒนธรรม
  • Open to new things
  • Improved intercultural communication skills 
  • Perseverance
  • The ability to adapt to new surroundings
  • Global awareness
  • Adapting to a new cultural and/or professional environment

4. การอบรม/ประกาศนียบัตรต่างๆ ที่เคยเรียนที่นี่ลงไป โดยใส่ ชื่อ Certification, วันที่ได้รับ หรือหมดอายุ และชื่อสถาบันหรือสถานที่ที่อบรม เช่น
  • ESL Certification
  • Complete 4 credits of ……….
  • Experiences in…….
5. ประสบการณ์อื่นๆ ที่เคยทำขณะอยู่ที่อเมริกาลงไปด้วยก็ได้ เช่น งานอาสา งานประกวด การแสดงต่างๆ เว็บไซต์/บล็อก/ยูทูปที่เคยทำ เป็นต้น *ถ้าประสบการณ์ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับงานที่สมัครก็ไม่ต้องใส่ หรือจะใส่แบบย่อๆ ลงไปในส่วนของประสบการณ์อื่นๆ (Additional activities) ก็ได้
ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)
https://resumegenius.com/blog/volunteer-work-on-resume

💢หมายเหตุ นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่ยกมาให้เห็นภาพเท่านั้น
- ควรใช้รูปแบบ resume ที่ได้มาตรฐาน
- ใส่ความสามารถหลัก/ประสบการณ์ที่มีให้ตรงตามลักษณะงานที่กำลังสมัคร 
- ใส่ตามความเป็นจริง สามารถอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบตามทักษะ/ความสามารถที่ใส่ลงใน Resume ได้ (หากคนสัมภาษณ์งานถามรายละเอียดเพิ่มเติม)

👶สำหรับคนที่ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กต่อ เช่น พี่เลี้ยงเด็ก ครูปฐมวัย หรือออแพร์ในประเทศอื่นๆ สามารถเขียนประสบการณ์ ความสามารถ หน้าที่รับผิดชอบ และสิ่งที่ได้รับจากการเป็นออแพร์ในอเมริกาลงไปตรงๆ ได้เลย พร้อมแนบประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมโครงการ รางวัลหรือใบประกาศนียบัตรรับรองการเสนอชื่อเป็น Au Pair of The Year และอาจขอให้โฮสต์ช่วยเขียนจดหมายรับรองประสบการณ์การทำงาน (Childcare reference / recommendation letter) ให้

ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)
https://www.livecareer.com/resume-search/r/au-pair-83514834bf8648c6851db127c117e6ea

ตัวอย่าง Childcare reference/ recommendation letter

👷ส่วนใครที่จะกลับไปทำงานด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการดูแลเด็ก ก็สามารถประยุกต์ใส่ทักษะด้านภาษาและทักษะการทำงานที่มีลงไปใน Resume ได้ ส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยอาจใส่ในส่วนของ "ประสบการณ์อื่นๆ หรือประสบการณ์ต่างประเทศ" 
* ถึงแม้ว่างานที่จะสมัครนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเลย Resumeที่ดีไม่ควรเว้นช่องว่าง (Gap year) ไว้ เพราะแสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ/ความรู้ความสามารถของตัวเองอยู่ตลอด ไม่ได้อยู่เฉยๆ และทำให้ Resume ของเราดูมีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น
ตัวอย่าง (กดที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้)


https://www.gooverseas.com/blog/how-use-your-gap-year-improve-your-resume

Useful link
ที่มา
https://www.goabroad.com/articles/jobs-abroad/career-benefits-of-being-au-pair
https://www.aupair.net/au-pair-stay-useful-resume/
https://www.studentjob.co.uk/blog/1991-how-to-use-your-time-as-an-au-pair-to-boost-your-cv
https://www.gooverseas.com/blog/how-use-your-gap-year-improve-your-resume
https://caffeinatedchapters.com/2018/11/06/can-you-put-au-pairing-on-your-resume/
https://www.bunac.org/uk/blog/bunac-blog/travel-tips/writing-about-work-abroad-experience-on-a-cv
https://resumegenius.com/blog/volunteer-work-on-resume

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

จบโครงการออแพร์ เตรียมตัวกลับไทย

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง ในฐานะผู้ถือวีซ่าชั่วคราว (Temporary non-immigrant visa) ระยะเวลาที่เป็นออแพร์ในอเมริกา 1-2 ปีนี้ได้ประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย เมื่อจบโครงการแล้วบางคนเลือกเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตัวเอง และคงไม่ได้กลับมาอเมริกาอีกสักพัก


ทบทวนสิ่งที่ต้องทำก่อนเดินทางกลับประเทศ
1. มีอะไรที่อยากทำอีก
         มีอะไรที่อยากทำหรือมีที่ที่อยากไปในอเมริกาแล้วยังไม่ได้ทำ/ไปก็ทำซะ ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ จะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียดายทีหลัง

2. ตกลงวันทำงานวันสุดท้ายกับโฮส ใช้เวเคชั่นให้หมด
         ต้องคุยกับโฮสต์และLCC ตกลงกันให้ดีว่าจะทำงานถึงวันไหน แล้วจะได้รับค่าจ้างอย่างไร เพราะวันจบโครงการออแพร์บางคนอยู่ระหว่างกลางสัปดาห์
         อีกเรื่องคือวันลาพักร้อนหรือ Vacation ถือเป็นสิทธิของเราที่จะได้หยุดงานและไปเที่ยวโดยได้รับค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ บางคนเลือกที่จะเก็บไว้ใช้ 1-2 อาทิตย์ก่อนจบโครงการเพื่อเที่ยวและเตรียมตัวกลับไทย
         บางคนอาจมีช่วง Overlap time คาบเกี่ยวระหว่างออแพร์ใหม่ อาจต้องช่วยสอนงานให้ แต่ตามกฏแล้วออแพร์ไม่จำเป็นต้องมีช่วง overlap นี้ทุกคน และจะมีได้ก็ต่อเมื่อโฮสต์มีห้องว่างให้ทั้งออแพร์เก่าและออแพร์ใหม่แยกกัน
     
3. เคลมประกันให้ครบ
         ใครที่เคยไปหาหมอ หรือรับการรักษาพยาบาลใดๆ ระหว่างเป็นออแพร์ อย่าลืมทำเรื่องเคลมเงินให้เรียบร้อยก่อนกลับ เพราะบางครั้งอาจใช้เวลานาน

4. ส่งหลักฐานการเรียน
         สำหรับใครที่เรียนครบ 6 เครดิตอย่าลืมส่งหลักฐานการเรียนให้กับทางเอเจนซี่ เพราะจะได้รับใบประกาศนียบัตรการเข้าร่วมโครงการออแพร์ในอเมริกาไว้เป็นที่ระลึกและเป็นเครื่องรับรองความสำเร็จของตัวเอง โดยส่วนใหญ่จะได้รับใบประกาศนียบัตรหลังกลับจากไทยแล้ว

5. ยกเลิกสมาชิกต่างๆ
         เผื่อบางคนมีสมัครสมาชิกเสียรายเดือนอะไรไว้ อย่าลืมยกเลิกก่อนกลับไทยนะ

4. จองตั๋วเครื่องบิน
         ทางเอเจนซี่จะส่งอิเมล์มาถามประมาณ 3 เดือนก่อนจบโครงการว่าจะอยู่ต่อเดือนเที่ยวไหม หรือจะกลับประเทศไทยเลย แล้วให้ทำเรื่องจองตั๋วเครื่องบินกลับ โดยส่วนใหญ่จะให้บินวันธรรมดา และต้องบินจากสนามบินที่ใกล้บ้านโฮสต์ไปยังประเทศไทยเท่านั้น (บางเอเจ้นซี่ยกเลิกการขอตั๋วต่างสนามบิน หรือแวะไปลงประเทศอื่นๆ ที่ต้องการก่อนกลับไทย) นอกจากนี้ ออแพร์ยังสามารถขอจองตั๋วเครื่องบินกลับรอบเดียวกับเพื่อนได้ สำหรับใครที่แพ้อาหาร หรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งเอเจ้นซี่ด้วย *ตรวจสอบรายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเอเจ้นซี่

5. เก็บของ
         ทยอยเก็บของที่ไม่ใช้ ไม่จำเป็น ส่งต่อหรือขายต่อ จะได้มีพื้นที่กระเป๋าสำหรับใส่ของฝากกลับไทย ของบางอย่างเราส่งพัสดุทางเรือกลับไทยเอา เพราะจะเกินน้ำหนักกระเป๋าที่โหลดได้
          👉 เสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว เอาไปไว้ไหนดี

6. ซื้อของฝาก
          เช่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือ ขนมต่างๆ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ นาฬิกา ของที่ระลึก พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น โปสการ์ด เป็นต้น *ระวัง ถ้าจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับไทย เพราะขนาดกำลังไฟฟ้าที่อเมริกาต่างจากไทย ซื้อแล้วอาจไม่สามารถใช้ที่ไทยได้

7. อำลา ให้ของที่ระลึก
         บอกลาเพื่อนๆ และโฮสต์แฟมิลี่ อาจนัดวันทานอาหารค่ำมื้อพิเศษหรือมีงานเลี้ยงอำลาเล็กๆ น้อยๆ บางคนก็อาจจะทำของที่ระลึกให้ เช่น อัลบั้มรวมรูป แลกEmail Fcebook Instragram Skype สำหรับติดต่อถึงกัน และพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ตลอดปีของการเป็นออแพร์ที่ผ่านมา
8. เช็คตั๋วเครื่องบิน
          ตรวจสอบชื่อนามสกุลและข้อมูลส่วนตัวของตนเอง ถ้าไม่ถูกต้องให้รีบแจ้งเอเจนซี่
          ตรวจสอบสายการบิน วันเวลา ต้องต่อเครื่องที่ไหน กี่ครั้ง ขึ้น-ลงที่สนามบินใด *การต่อเครื่องที่ยุโรป ถ้าlayoverเกิน 1 ครั้ง หรือระยะเวลาต่อเครื่องนานเกิน 24 ชม หรือออกจากสนามบินจะต้องมีTransit Visa ด้วย ถ้าไม่อยากเสียค่าทำวีซ่าก็ควรแจ้งเอเจ้นซี่ให้เปลี่ยนตั่ว
          ตรวจสอบน้ำหนักและจำนวนกระเป๋า อาหารบนเครื่อง และอย่าลืมแจ้งครอบครัวที่ไทยไว้ด้วย
         ก่อนเดินทางอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ควรเข้าไปตรวจเช็ค Flight information อีกครั้ง ในเว็บของการสายกิน โดยนำรหัสการจอง (Booking Number) หรือ Flight number ใส่ และอาจกรอกข้อมูล Passenger ไว้ รวมถึงเช็คสภาพอากาศของประเทศที่ต้องไปต่อเครื่องและประเทศไทยเพื่อที่จะได้เลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม
         สำหรับใครที่ต้องการ upgrade ที่นั่งจาก Economy เป็น Business หรือ First Class สามารถทำได้เองโดยติดต่อสายการบิน หรือทำผ่านเว็บไซต์สายการบิน โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แลกกับขนาดที่นั่ง พื้นที่วางขาที่กว้างขึ้น และอาจได้น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มขึ้น
         *ใกล้ๆ เดินทางควรเช็คอีกรอบเผื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลง และนัดหมายกับที่บ้านไว้ว่าจะมารอรับที่ประตูไหน กี่โมง

9. วางแผนสิ่งที่จะทำในไทย 1 สัปดาห์แรก และเตรียมรับมือกับ reverse cultural shock
         สิ่งที่ต้องทำในระยะแรก เช่น ซื้อซิมโทรศัพท์, เที่ยว/พบปะกับครอบครัว ญาติ เพื่อน, สอบTOEIC, ตรวจสุขภาพ, สมัครงาน/สมัครเรียน เป็นต้น
          Reverse cultural shcok คือ สภาวะที่รู้สึกไม่มีความสุข/ไม่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาระยะหนึ่ง ต้องใช้เวลาและการปรับตัวทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทัศนคติ

10. โอนเงินกลับไทย ปิดบัญชี
         สำหรับคนที่ต้องการโอนเงินกลับประเทศไทย (wire transfer) ควรโอนก่อนปิดบัญชีอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เผื่อกรณีมีปัญหาจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารและแก้ไขได้สะดวก เอกสารที่ต้องใช้คือ Passport คิดค่าธรรมเนียมในการโอนประมาณ $45 แล้วแต่ธนาคาร และต้องรู้ Swfit code ของธนาคารที่ไทยที่ต้องการโอนเงินไปด้วย ควรตรวจสอบทางเว็บไซต์หรือโทรสอบถามธนาคารก่อน หรือหากต้องการโอนผ่านแอพลิเคชัน เช่น TransferWise หรือ Paypal ก็สามารถทำได้ มีค่าธรรมเนียมและระยะเวลาที่ได้รับเงินแตกต่างกันไป                 
         หากต้องการปิดบัญชี (Close Account) ควรหยุดซื้อของออนไลน์ หรือจ่ายเงินผ่านบัตรเดบิต/เครดิต หรือทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนปิดบัญชี เพราะว่าบางครั้งรายการที่ทำยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังขึ้นอย่า Pending หรือ Processing อยู่ ธนาคารก็จะไม่สามารถปิดบัญชีให้ได้ ต้องรอทุกรายการเสร็จสมบูรณ์ ยอดเงินในบัญชีนิ่งก่อน เอกสารที่ใช้ปิดบัญชีคือ Photo ID อย่างเดียว เมื่อปิดบัญชีแล้ว ธนาคารก็จะคืนเงินที่เหลือในบัญชีมาให้เป็นเงินสด

11. ทำความสะอาดห้องนอน คืนของ
          คืนซิมโทรศัพท์ บัตรรถไฟ กุญแจบ้าน กุญแจรถ ฯลฯ ที่โฮสต์ให้ยืมใช้ระหว่างเป็นออแพร์ให้เรียบร้อย หรือส่งต่อให้ออแพร์คนใหม่ใช้ ของที่ไม่สามารถขนกลับทางเครื่องบินหมด สามารถนำไปบริจาคหรือส่งพัสดุทางเรือกลับได้

"การจากลา ไม่ได้หมายความว่า...จะไม่เห็นหน้ากันตลอดไป 
ยังเก็บทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่ไว้ในความทรงจำ
คิดถึงเมื่อไรก็โทรหาโฮสต์ เด็ก และเพื่อนๆได้"

บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 ปีเดียวไม่พอ อยู่ต่อเลยได้ไหม (Extend Au Pair's program)
👉 เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา


วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562

ปีเดียวไม่พอ อยู่ต่อเลยได้ไหม (Extend Au Pair's program)

Time flies วันเวลาผ่านไปรวดเร็วราวกับบินได้ หลายๆ คนพอได้เป็นออแพร์ในอเมริกาไปสักระยะแล้วมีความรู้สึกชอบและผูกพันกับคนที่นี่ หรืออยากลองไปอยู่ในรัฐใหม่ๆ ที่แตกต่างดูบ้าง  อยากจะต่อโครงการออแพร์ปีสองเพื่ออยู่ต่ออีกสักหน่อย

pixabay.com

ขั้นตอนการต่อปีสอง
1. เมื่อเป็นออแพร์ได้ 6 เดือน เอเจนซี่จะส่งอิเมล์มาถามเกี่ยวกับการต่อปีสอง แต่เรายังไม่จำเป็นต้องให้คำตอบตอนนี้ แต่ละเอเจนซี่จะระบุวันเดดไลน์ว่าสามารถทำเรื่องต่อปีสองได้ช้าที่สุดเมื่อไร (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 เดือนก่อนจบโครงการปีแรก)
Au Pair Extension Deadline 2018-2019
         เหตุผลที่ส่งอิเมล์มาถามก่อนล่วงหน้านานเพราะออแพร์จะได้มีเวลาตัดสินใจ เก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อและซื้อประกันสุขภาพของปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ รวมถึงให้ออแพร์และโฮสต์แฟมิลี่ได้มีเวลาที่จะหาออแพร์/โฮสต์ใหม่ (สำหรับออแพร์ที่ไม่ต่อบ้านเดิม) ก็จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์กับออแพร์/โฮสต์ใหม่ล่วงหน้านานขึ้น
          * แต่การออนไลน์ต่อปีสองล่วงหน้านานๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป จากประสบการณ์ส่วนตัว เราออนไลน์หาบ้านปีสองล่วงหน้า 5-6 เดือนเพราะเราคิดว่ายิ่งออนไลน์เร็ว ก็มีสิทธิได้สัมภาษณ์และเลือกโฮสต์เยอะๆ แต่โฮสต์ที่ต้องการออแพร์ในเดือนที่เราจบปีแรกก็ยังไม่มาสัมภาษณ์เราตอนนี้ แล้วใจก็จะคิดอยู่ตลอดว่ายังไม่ต้องรีบแมชต์หรอก รอได้บ้านดีกว่านี้ เลยเหมือนเสียเวลาสัมภาษณ์ไปเปล่าๆ หลายเดือนจนเริ่มขี้เกียจและเบื่อจะสัมภาษณ์ โฮสต์ที่อยากได้ออแพร์ช่วงที่เราจบปีแรกก็จะมาตอนท้ายๆ 1-2 เดือนก่อนเราจบโครงการ

2. ตัดสินใจว่าอยากจะต่อปีสอง 6, 9 หรือ 12 เดือน กับโฮสต์บ้านเดิมหรือบ้านใหม่ อยากได้โฮสต์และเด็กแบบไหน อายุเท่าไร กี่คน อยู่รัฐไหน ฯลฯ เหมือนตอนเลือกบ้านปีแรกเลย และอย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยว่าจะทำงานถึงวันสุดท้ายเมื่อไร (กรณีต่อปีสองบ้านใหม่)
รายละเอียดโครงการปีสอง
* การต่อปีสอง 9 เดือน แต่ละเอเจนซี่มีกฏระเบียบแตกต่างกัน

         ต่อปีสองกับบ้านเก่า ข้อดีคือ มีความคุ้นเคย รู้จักนิสัยใจคอ โฮสต์เชื่อใจ ไว้วางใจ และเด็กๆ สนิทสนมกับออแพร์แล้ว บางคนเลือกอยู่ต่อบ้านเดิมเพราะเพื่อนหรือแฟน หรือรู้สึกคุ้นเคยกับเมืองที่อยู่ มีความสุขดี ข้อเสีย ออแพร์หลายคนเบื่อแล้วอยู่ไม่จบโครงการ หรือโฮสอาจมีความเกรงใจน้อยลง ละเมิดกฏ ใช้งานเกินเวลา
        ต่อปีสองกับบ้านใหม่ สำหรับใครที่ประสบการณ์ปีแรกไม่ค่อยดี หรือโฮสต์มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ก็ย้ายบ้านเถอะ ข้อดีคือ ได้ไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ และสถานที่ใหม่ๆ รู้จักเพื่อนมากขึ้น ตื่นเต้น ท้าทาย ข้อเสีย ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับโฮสต์บ้านเก่า เป็นต้น

3. บอกโฮสต์แฟมิลี่และที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ให้ทราบ 
         ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังเป็นออแพร์ได้สักระยะ ประมาณ 6-9 เดือน เพราะถ้าเร็วไป ทั้งโฮสต์และออแพร์อาจจะยังไม่มีข้อมูลตัดสินใจ และอาจเปลี่ยนใจทีหลัง
ตัวอย่างเช่น ออแพร์คนหนึ่งตัดสินใจต่อปีสองกับบ้านเดิม แต่หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ออแพร์ไม่อยากอยู่กับบ้านนี้ต่อแล้วอยากย้ายบ้าน แต่ทำเรื่องต่อปีสองไปเรียบร้อยแล้ว แถมโฮสต์จ่ายเงินค่าต่อปีสองให้ด้วย ออแพร์จึงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะบอกโฮสต์ว่าเปลี่ยนใจอยากต่อปีสองกับบ้านใหม่
          วิธีการพูดคุยกับโฮสต์เพื่อบอกว่าอยากต่อปีสอง ถ้าบ้านไหนที่โฮสต์เป็นคนเอ่ยปากถามก่อนก็จะง่าย โดยเฉพาะถ้าโฮสต์อยากให้ออแพร์ต่อปีสองกับเขา ยิ่งถ้าออแพร์ใจตรงกันด้วยแล้ว บางทีโฮสต์จ่ายค่าต่อโครงการให้เลยด้วย แต่ถ้าโฮสต์ไม่ได้บอกว่าจะจ่ายให้ ลอง "แสร้ง" ถามที่ปรึกษาท้องถิ่น (LCC) ว่าถ้าต่อปีสองกับบ้านเดิมออแพร์ต้องจ่ายค่าโครงการไหม หรือโฮสต์เป็นคนจ่ายให้ ถ้าที่ปรึกษาใจดี เค้าจะช่วยคุยกับโฮสต์แฟมิลี่ให้จ่ายให้ หรืออย่างน้อยจ่ายให้ครึ่งนึง แต่อย่าเสียใจถ้าเขาไม่ได้จ่ายให้ เพราะเป็นความรับผิดชอบของออแพร์ที่จะต้องจ่ายค่าต่อปีสองเองอยู่แล้ว
         แต่ถ้าโฮสต์ไม่ถามสักที หรือออแพร์อยากต่อปีสองกับบ้านใหม่ ก็มีวิธีถามไม่ยาก ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และความสนิทสนมระหว่างออแพร์กับโฮสต์ บางบ้านอาจคุยได้เลยตอนเวลาว่างๆ หลังเลิกงานหรือระหว่างกินข้าวเย็น แต่บางบ้านก็ชอบให้นัดหมายเวลาแล้วมานั่งคุยกันอย่างจริงจังถึงความต้องการ ความรู้สึก ข้อดี และความคาดหวังในปีสองของแต่ละฝ่าย
          ตัวอย่างคำถาม เราจะเกริ่นว่า My Au Pair year's going to end up soon (หรือระบุเดือนไปเลย). What's about your plan after this? เขาอาจจะมีคำตอบมาว่าอยากให้เราอยู่กับเขาต่อ หรือบอกว่ายังไม่รู้ ไม่แน่ใจ ดังนั้นเราก็บอกความต้องการของเราไปเลย เช่น I had a great year staying here with you (I love you and ........ ชื่อเด็ก ชอบอะไรที่นี่บ้าง มีความสุขที่อยู่บ้านนี้ ฯลฯ), but I love to travel and get new experience in different place so... I think I'll extend my year with new family (in California). เป็นต้น
          อย่าเสียใจถ้าโฮสต์ไม่ต้องการต่อปีสองกับเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่ดี แต่อาจมีบางอย่างที่เค้าคาดหวังมากกว่านี้ เช่น ต้องการคนที่ขับรถแข็งกว่านี้ เป็นต้น
          อย่าลืมตกลงกับโฮสต์ให้เรียบร้อยด้วยว่าจะทำงานและอยู่กับบ้านเดิมจนถึงเมื่อไร
         * ถึงจะต่อปีสองกับบ้านเดิม ก็อย่าลืมถามเกี่ยวกับตารางงานและหน้าที่ความรับผิดชอบในปีสองด้วย เพราะเด็กโตขึ้น หรือโฮสต์เปลี่ยนงาน มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงที่ออแพร์ควรรู้ก่อนตัดสินใจต่อบ้านเดิมกับเขา

4. เก็บเงินค่าต่อโครงการและประกันสุขภาพปีสอง และเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิต
         ออแพร์ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบ 6 หน่วยกิตและส่งหลักฐานการเรียนในทางเอเจนซี่อย่างน้อยประมาณ 1 เดือนก่อนจบโครงการถึงมีสิทธิต่อปีสองได้
         ค่าต่อโครงการปีสอง ประมาณ $395 ซึ่่งครอบคลุมประกันสุขภาพพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าใครอยากได้ความคุ้มครองเพิ่ม สามารถซื้อประกันเสริม ประกันกีฬาผาดโผน เป็นต้น ซึ่งราคาแตกต่างกันไปตั้งแต่ $250-$500

5. ทำเรื่องขอต่อโครงการปีสอง ก่อนจบโครงการล่วงหน้าประมาณ 2-3 เดือน
          บางเอเจนซี่ให้ออแพร์สามารถทำเรื่องต่อปีสอง (กรอก extension application) และออนไลน์หาโฮสต์ได้ก่อนจ่ายค่าต่อโครงการ (ประมาณ $367) แต่บางเอเจนซี่จะให้จ่ายก่อน หลังจากนั้นจึงอัพเดตโปรไฟล์ โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นออแพร์ในปีแรก หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับ สิ่งที่ได้ทำและเรียนรู้/พัฒนา เหตุผลที่ต่อปีสองและเปลี่ยนบ้าน รวมทั้งความคาดหวังต่อบ้านใหม่ในอนาคต บางเอเจนซี่สามารถให้ออแพร์ระบุเจาะจงลงในโปรไฟล์ได้เลยว่าอยากไปอยู่รัฐไหน (แต่โอกาสในการหาโฮสต์ก็จะน้อยลงไปด้วย) เมื่อกด submit application แล้ว จะได้รับอิเมล์ยืนยันจากเอเจนซี่ว่า โปร์ไฟล์ของเราสามารถออนไลน์หาโฮสต์แฟมิลี่ได้แล้ว
         * คำเตือน ถ้าไม่อยากได้โฮสต์แบบไหน อย่าใส่ความสามารถด้านนั้นหรือเขียนอะไรเกี่ยวกับสิ่งนั้นลงไป เช่น เราไม่อยากได้โฮสต์คนจีนเลยแต่เราดันใส่ลงไปในประวัติว่า พูดจีนได้นิดหน่อย ก็เลยมีแต่โฮสต์จีนติดต่อมา และใส่ไปว่าตอนปีแรกเคยอยู่กับโฮสต์ที่เป็นชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) พอปีสองก็มีแต่โฮสต์แขกมาทั้งนั้นเลย เป็นต้น
         ส่วนวิดีโอแนะนำตัว สามารถถ่ายและอัพโหลดใหม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำใหม่ก็ได้ ส่วนใหญ่ออแพร์ที่ต่อปีสองก็ใช้วิดีโอเดิม เพราะยังไงก็มีโฮสต์ที่สนใจออแพร์ที่ต่อปีสองจำนวนมากอยู่แล้ว (เหมือนฉันสวยเลย เนื้อหอมมาก มีแต่โฮสต์แย่งกัน)
         สำหรับคนที่ต่อปีสองบ้านเดิมก็ไม่จำเป็นต้องอัพเดตโปรไฟล์หรือวิดีโอแนะนำตัวใหม่เลย สบายไปอีก

6. สัมภาษณ์ และแมตช์
         ในขั้นตอนนี้ เหมือนย้อนกลับไปตอนปีแรกอีกครั้ง เพิ่มเติมคือโฮสต์จะชอบถามถึงประสบการณ์ความรู้สึกของปีแรก และเหตุผลที่เปลี่ยนบ้าน และความคาดหวังต่างๆ (เหมือนที่อัพเดตในประวัตินั่นแหละ) มีถามเพิ่มเติมด้วยว่าประทับใจ ไม่ประทับใจ หรือมีอะไรที่ยาก ท้าทายตลอดการเป็นออแพร์ในปีแรก โฮสต์เก่าเป็นอย่างไร อาจจะขอคุยกับโฮสต์เก่าด้วย
        แต่ความรู้สึกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเปลี่ยนไปจากปีแรก เพราะเราจะเนื้อหอมมาก ใครๆ ก็อยากได้ออแพร์ที่อยู่ในประเทศแล้ว เราจะรู้สึกเราเป็น "ผู้เลือก" มากกว่า "ผู้ถูกเลือก" และเนื่องจากเรามีประสบการณ์และเข้าใจเกี่ยวกับกฏของโครงการออแพร์อย่างดีแล้ว ทำให้เราเป็นต่อในการเจรจาต่อรองกับโฮสต์ใหม่ อย่างเช่น เรื่องซิมโทรศัพท์มือถือ ตามกฏโฮสต์ไม่จำเป็นต้องจ่ายให้ออแพร์ ตอนปีแรกเราก็จะเกรงใจไม่กล้าถาม แต่พอปีสองเราก็ถามได้ตรงๆ เลย และโฮสต์ก็ยินดีจ่ายเพราะเค้าอยากได้ออแพร์ที่ต่อปีสองกันมากๆ ดังนั้น จงถามทุกๆ เรื่องให้ละเอียด ต่อรอง ให้โฮสต์พิมพ์มาในอิเมล์ได้ยิ่งดี และเลือกแมตช์กับบ้านที่ดีที่สุด
           คนที่ไม่มีใบขับขี่ ขับรถไม่ได้ หรือว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ต้องกังวลว่าจะหาบ้านไม่ได้ เพราะโอกาสในการแมตช์มีมากกว่าออแพร์ปีแรกมาก
         * ถ้าสัมภาษณ์กับโฮสต์แล้วโดนปฏิเสธเพราะภาษาอังกฤษเราไม่ดีก็ไม่ต้องเสียใจนะว่าอยู่อเมริกามาปี 1 แล้ว ภาษายังไม่ดี เราก็เคยโดนปฏิเสธ แต่ก็ดีแล้ว เพราะเราฟังบ้านนั้นพูดไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นที่สำเนียงด้วย เราก็เลือกไปอยู่กับบ้านที่คุยแล้วสบายใจดีกว่า
         ขั้นตอนหลังจากนี้ก็จะคล้ายๆ ปีแรก คือกำหนดวันว่าจะบินวันไหน เอเจนซี่จะจองตั๋วเครื่องบินให้ ออแพร์แจ้งให้โฮสต์บ้านเก่ารู้ ไปเที่ยวและทำสิ่งที่อยากทำก่อนย้ายบ้าน ทะยอยเก็บของ และใช้เวลาที่เหลืออยู่กับโฮสต์บ้านเดิมให้มีความสุข

7. วีซ่า และใบ DS-2019 ใบใหม่ 
         สำหรับออแพร์ที่ต่อปีสอง เนื่องจากสถานการณ์การขอวีซ่ามาอเมริกาในปัจจุบันยากมาก มีอัตราการถูกปฏิเสธวีซ่าสูงมากๆ ไม่แนะนำให้ออแพร์เดินทางออกนอกประเทศอเมริกาตอนใกล้จบโครงการปีแรก หรือเดินทางออกนอกประเทศอเมริกาในปีสอง(ยกเว้นไปแคนาดา และเม็กซิโกได้) เพราะวีซ่า J-1 หมดอายุตามวันที่จบโครงการในปีแรก ถ้าออแพร์ออกนอกประเทศ จะต้องกลับไป renew วีซ่าใหม่ที่ประเทศไทย ซึ่งโอกาสผ่านยากมากๆ
         ออแพร์ที่ต่อปีสอง แล้วไม่ได้กลับไป renew วีซ่า สามารถเป็นออแพร์อยู่ในอเมริกาได้อย่างถูกกฏหมาย เพราะจะได้รับใบ DS-2019 ใบใหม่ที่ระบุวันจบโครงการของปีสอง โดยใบDS-2019 ใบใหม่จะถูกส่งไปที่บ้านโฮสต์ใหม่ เมื่อได้รับแล้วให้ตรวจสอบความถูกต้องและเซ็นต์ชื่อที่ด้านล่างของใบ
        บางครั้ง เอเจนซี่จะส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่เป็นข้อมูลบ้านเก่าแต่ขยายวันที่จบโครงการมาให้ที่อยู่บ้านเก่าก่อนย้าย เพื่อพกไว้เป็นเอกสารยืนยันการเข้าร่วมโครงการ(เพราะวีซ่าและใบDS-2019 ใบเก่าหมดอายุแล้ว) แล้วจึงส่งใบDS-2019 ใบใหม่ที่อัพเดตข้อมูลทุกอย่างแล้วไปให้ที่อยู่บ้านใหม่
ขั้นตอนการ renew visa 
* เตือนอีกครั้ง ไม่รับรองว่าจะผ่าน เพราะช่วงนี้โดนปฏิเสธวีซ่าเยอะเหลือเกิน บางคนกลับไปรีนิววีซ่าตอนเหลือเวลาอีก 3 เดือนจบโครงการปีแรก ไม่ผ่าน แถมโดนยกเลิกวีซ่า 3 เดือนที่เหลืออยู่อีก ต้องออกจากโครงการเลย โฮสต์จึงต้องหาออแพร์ใหม่แล้วส่งของใช้ของออแพร์กลับมาให้ที่ไทยทางไปรษณีย์
** แนะนำให้ติดต่อเอเจนซี่และแจ้งโฮสต์ก่อน
  • กลับไปรีนิวได้เมื่อไร? ตอบ ก่อนDS-2019 หมดอายุอย่างน้อย 3 เดือน
  • วิธีกรอกเอกสารและนัดหมายสัมภาษณ์
  1. กรอก DS-160 ที่ลิ้งค์ https://ceac.state.gov/genniv/  (ดูวิธีการกรอก) กรอกเสร็จแล้วกดSubmit แล้วปริ้นท์ออกมา
  2. จ่ายค่าSEVIS สามารถเชคเลข SEVIS ได้ที่ https://www.fmjfee.com/i901fee/index.html และปริ้นท์ออกมา
  3. นัดวันสัมภาษณ์ ที่เว็บ https://cgifederal.secure.force.com/ 
  4. จ่ายเงิน $160 (ให้ญาติที่ไทยจ่ายให้ก็ได้) จ่ายเสร็จรอเงินขึ้นในระบบ จากนั้นจะนัดวันสัมภาษณ์ได้
  5. บินกลับไทยไปสัมภาษณ์  เอกสารที่เตรียมไปวันสัมภาษณ์ ได้แก่
1.ใบยืนยันนัดสัมภาษณ์
2.แบบฟอร์ม DS-160
3.Passport
4.รูปถ่ายวีซ่า 2x2 นิ้ว 1 ใบ
5.แบบฟอร์ม DS-2019 ใบใหม่
6.แบบฟอร์ม I-901 หรือใบค่า SEVIS fee (ปริ้นท์ได้ที่นี่)
7.ใบ Transcript (จากมหาวิทยาลัย) 
เอกสารที่เตรียมไปเพิ่ม
1. I-94
2. จดหมายจากเอเจนซี่
3. จดหมายยืนยันจากโฮสต์ว่าเราอยู่กับเขาและทำงานกับเขาจริงๆนะ
4. ตั๋วเครื่องบิน
บทความที่เกี่ยวข้อง



ที่มา 
https://www.aupaircare.com/stories/top-3-tips-having-extension-conversation
ขอบคุณคุณ Gaiin Savagez ที่แบ่งปันประสบการณ์การรีนิววีซ่าเมื่อ พฤศจิกายน 2017

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562

เดือนเที่ยว (travel grace period) ออแพร์ในอเมริกา

ออแพร์ในอเมริกา นอกจากจะมีวันลาพักร้อน 14 วันแบบได้เงินค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ (Paid vacation) แล้ว หลังจบโครงการยังสามารถอยู่ท่องเที่ยวต่อ(หรือเตรียมตัวกลับประเทศ)ในอเมริกาได้สูงสุด 30 วันอย่างถูกกฏหมาย (travel grace period) แต่ในระหว่างนี้ถือว่าออแพร์คนนั้นไม่ได้อยู่ในสถานะวีซ่า J-1 อีกต่อไป ระหว่าง 30 วันนี้ จะไม่สามารถทำงานได้


pixabay.com


สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเดือนเที่ยวของออแพร์ (travel grace period)

  • เอเจนซี่ออแพร์จะส่งอิเมล์มาถามความจำนงในการอยู่ต่อเดือนเที่ยวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก่อนจบโครงการ
  • ควรซื้อประกันสุขภาพ (Health insurance) สำหรับคนที่ต้องการอยู่ต่อเดือนเที่ยวนี้ เพราะค่ารักษาที่นี่แพงมาก และบางเอเจนซี่จะไม่ออกตั๋วบินกลับไทยให้ถ้าไม่ซื้อประกัน
  • เดือนเที่ยวจะเริ่มนับจากวันแรกหลังจบโครงการออแพร์ตามที่ระบุไว้ในใบ DS-2019
  • ออแพร์แต่ละคนจะมีเดือนเที่ยวนี้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น คือหลังจบปีแรก หรือหลังจบปีสอง(extend program) ไม่ว่าจะต่อ 6, 9 หรือ 12 เดือน
  • ระยะเวลาที่อยู่ต่อได้อย่างถูกกฏหมายสูงสุดคือ 30 วัน
  • ระยะนี้ออแพร์ไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถือวีซ่า J-1 แล้ว แต่มีสถานะคล้ายผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยว และได้รับการดูแลและคุ้มครองจาก the United States Citizenship and Immigration Services ตามกฏหมาย
  • เดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะภายในอเมริกาแผ่นดินใหญ่ (mainland USA) และนั่งเครื่องบินแบบ direct flight ไปยังHawaii และ Alaska เท่านั้น (ไม่สามารถล่องเรือไปได้ เพราะเรือมักจอดแวะยังท่าเรือนอกอเมริกา) ถ้าออกนอกประเทศอเมริกาไปแล้วจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก ถือว่าสิ้นสุดโครงการและเดือนเที่ยวเลย
  • ในเดือนเที่ยวนี้ห้ามทำงานหรือว่าสมัครเรียนที่โรงเรียนใดๆ เด็ดขาด ถือว่าผิดกฏหมาย
  • ควรออกจากประเทศก่อนวันสุดท้ายของเดือนเที่ยวหมดลง เพื่อป้องกันกรณีไฟลท์เครื่องบินที่บินกลับประเทศล่าช้า (delay) จนทำให้ต้องอยู่เกินกว่า 30 วัน (overstay) และจะกลายเป็นคนที่ไม่มีสถานะทันที (out of status) รวมทั้งยังมีผลต่อการขอวีซ่ากลับมาอเมริกาอีกครั้ง หรือการขอ green card ในอนาคต
  • การเดินทางท่องเที่ยวโดยเครื่องบินภายในเดือนเที่ยวนี้ใช้แค่ ID ที่ยังไม่หมดอายุ แต่เพื่อความปลอดภัยควรพกเอกสารสำคัญทุกอย่างไว้กับตัว เช่น พาสปอร์ต, ใบDS-2019, Insurance card เป็นต้น
  • สำหรับคนที่ต้องการอยู่ต่อมากกว่า 30 วัน ควรดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนวีซ่าหรือสถานะอย่างน้อย 3 เดือนก่อนวันจบโครงการออแพร์ เพื่อป้องกันปัญหาอยู่เกินกำหนด (overstay)
  • ปัจจุบันใบขับขี่สำหรับออแพร์จะมีวันหมดอายุตามใบDS-2019 การต่ออายุใบขับขี่สำหรับเดือนเที่ยวมีคนเคยทำได้* ใช้เอกสารทั้งหมดเสมือนการทำใบขับขี่ครั้งแรก ได้แก่ Passport, VISA, DS-2019, I-94, SSN, ใบขับขี่ทุกใบที่มี, จดหมายเข้าร่วมโครงการจากเอเจนซี่, proof of residence เช่นจดหมายจากทางการที่ส่งมาที่อยู่บ้าน หรือ statement จากธนาคาร เพิ่มเติมคือต้องอธิบายให้เจ้าหน้าที่ DMV เข้าใจว่าออแพร์มีสิทธิอยู่ต่อในอเมริกาในเดือนเที่ยวได้อย่างถูกกฏหมาย เจ้าหน้าที่อาจติดต่อไปทางเอเจนซี่ต้นสังกัดออแพร์เพื่อตรวจสอบวันที่ที่ออแพร์สามารถอยู่ต่อได้ให้แน่ใจ หรือใครมีใบขับขี่สากลก็ใช้ใบขับขี่สากลเหมือนนักท่องเที่ยวปกติเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง
👉 การเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกา
👉 ออแพร์สายเที่ยว(event) และดีลส่วนลดสำหรับกิจกรรมสนุกๆ
👉 สอบใบขับขี่ฟลอริด้า part 2 (สอบข้อเขียน)


ที่มา
https://www.cicdgo.com/work-and-travel-usa/grace-period/
https://www.immi-usa.com/j1-visa/j1-visa-extension/
http://usainternship.com/what-is-j1-visa-grace-period/#ixzz5k8Sy6z5H
http://help.culturalcare.com/au-pair/knowledge-base/travel-policy-and-documents/
ขอบคุณข้อมูลจากคุณ Kachamas Limphutthapong