https://cdn1.vectorstock.com/i/thumb-large/29/25/mother-and-father-with-children-happy-family-vector-9922925.jpg
ปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณาก่อนแมตช์ (match) กับโฮสต์
👉อ่านต่อที่ https://aupairniceinusa.blogspot.com/2018/04/choosehostfamily.html
2. ตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบของออแพร์
อย่างที่บอกอยู่เสมอคือเราต้องแม่นเรื่องกฏนะคะ จะได้ไม่ถูกโฮสเอาเปรียบ
(1) ออแพร์ทำงานไม่เกินวันละ 10 ชม. รวมกันไม่เกินสัปดาห์ละ 45 ชม. ทำน้อยกว่านี้ได้ แต่ทำเกินไม่ได้จ้า ผิดกฏ
การนับชั่วโมงการทำงานคือนับทุกเวลาที่เราต้องทำงาน และเวลาที่เราอยู่กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะนอนกลางวัน (nap) เพราะถ้าเราต้องอยู่บ้านกับเด็ก ออกไปไหนไม่ได้ ก็ถือว่านั่นอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของเราอยู่ คือเวลาทำงานค่ะ
ออแพร์บางคนต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียน ถ้าโรงเรียนอยู่ไกลกว่า 5-10 นาที เราควรนับเป็นชั่วโมงทำงานค่ะ ตัวอย่างเช่น ต้องขับรถไปโรงเรียน 30 นาที ตอนขับไปส่งถึงโรงเรียนตอน 8:00 am ส่งเสร็จได้พัก ออแพร์จะไปไหนก็ได้ บางคนก็อาจนับชั่วโมงทำงานสุดถึงแค่ 8:00 am ตอนบ่ายต้องไปรับน้องให้ทัน 3:00 pm แสดงว่าต้องออกจากบ้านเวลา 2:30 pm ก็นับเวลาทำงานตั้งแต่ 2:30 pm เป็นต้นค่ะ แต่บางบ้านโฮสต์ที่ดีๆจะนับเวลาเผื่อในการขับรถส่งเด็กทั้งไปและกลับให้เลย
(2) มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1.5 วัน วันไหนก็ได้ติดกัน ไม่จำเป็นต้องตรงเสาร์อาทิตย์ ตัวอย่างเช่น ทำงานถึงเย็นวันพุธ ได้หยุดวันพฤหัสเต็มวันและวันศุกร์ครึ่งวันเช้า เริ่มทำงานอีกทีศุกร์บ่าย เป็นต้น
(3) การนับชั่วโมงทำงาน นับเป็นสัปดาห์ๆ ไป จบ ไม่มีการเอาชั่วโมงทำงานสัปดาห์นี้ไปทบสัปดาห์หน้า เช่น สัปดาห์นี้ทำงานแค่ 30 ชั่วโมง จะเอา 15 ชั่วโมงไปเพิ่มให้สัปดาห์หน้าาทำงาน 60 ชั่วโมงไม่ได้นะคะ
(4) ใน 1 เดือนต้องได้หยุดวันเสาร์อาทิตย์ (Full weekend) อย่างน้อย 1 ครั้ง
(5) วันหยุดพักร้อน (Vacation) รวมวันหยุดที่หยุดปกติทุกสัปดาห์แล้ว 14 วัน/ปี และได้เงินรายสัปดาห์ปกติเหมือนตอนทำงาน ซึ่งจะได้หยุดวันไหนก็แล้วแต่ตกลงกับโฮสต์ ถ้าจะให้ยุติธรรมเลยคือให้โฮสต์เลือก 1 สัปดาห์ ออแพร์เลือก 1 สัปดาห์ และขอให้โฮสต์แจ้งล่วงหน้าด้วยนะคะ เพราะเวลาจองงตั๋วกระทันหันมันแพงมากกกก โฮสต์บางบ้านก็จะแบ่ง Vacation เป็นย่อยๆ อันนี้ขึ้นอยู่กับตกลงกัน
ถ้าสมมุติตกลงเรื่อง Vacation เรียบร้อยแล้ว แต่โฮสต์ไปเที่ยวต่างรัฐ ต่างเมืองในวันอื่นๆ นอกเหนือจากวันที่ตกลงกันไว้แล้วไม่เอาออแพร์ไปด้วย ถือว่านั่นคือ Extra vacation ของออแพร์ค่ะ และโฮสต์ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายสัปดาห์ปกติ เพราะโฮสต์ไม่อยากเอาออแพร์ไปเอง ออแพร์ไม่ได้ขอ โฮสต์อาจจะมาขอว่าให้สัปดาห์นั้นเป็น Vacation แทนวันที่ออแพร์เลือกไว้ได้ไหม ถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนก็บอกไปเลยว่าไม่ได้ Plan เที่ยวทุกอย่างไว้หมดแล้ว ไม่ต้องเกรงใจค่ะ
เราชอบถามโฮสต์ว่าถ้าออแพร์ต้องไป Vacation ใครจะเลี้ยงเด็ก อันนี้ช่วยให้เราประมาณได้ว่าเราควรบอกโฮสต์เรื่อง Vacation ของเราล่วงหน้านานเท่าไร เพราะถ้าโฮสต์ต้องลางานมาเลี้ยงลูก เราก็ควรจะแจ้งล่วงหน้านานๆ บางทีโฮสต์ก็จะบอกเองว่าให้แจ้งล่วงหน้าเมื่อไร
(6) วันหยุดนักขัตฤกษ์ (Holiday) ไม่มีกฏว่าออแพร์จะได้หยุด แต่ถ้าโฮสต์น่ารักก็จะให้ออแพร์ได้หยุดค่ะ เช่น 4th of July, Labor day
(7) วันที่ออแพร์ป่วย โฮสต์ห้ามหักเงินนะคะ ต้องจ่ายปกติ ไม่มีกำหนดว่าลาป่วยได้กี่วัน แต่ถ้าหลายวันมากๆ มีผลกระทบกับโฮสต์ โฮสต์ต้องเสียเงินจ้างพี่เลี้ยง (Nanny) ด้วย แล้วยังต้องเสียเงินให้ออแพร์ที่ลาป่วยด้วยหลายวัน โฮสต์คงพิจารณาเปลี่ยนออแพร์ค่ะ หรือถ้าป่วยหนักมาก เอเจ้นซี่จะพิจารณาให้ออกจากโครงการและกลับประเทศค่ะ
(8) กรณีบางบ้านโฮสต์จำเป็นต้องให้ออแพร์ทำงานเกิน 45 ชั่วโมง และออแพร์ยินยอม (ผิดกฏแต่ก็แอบทำได้นะคะ แบบไม่ให้ที่ปรึกษาและเอเจ้นซี่รู้) โดยต้องตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะจ่าย Extra / OT ชั่วโมงละเท่าไร ซึ่งไม่ควรน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ
👉 คลิกดูรายละเอียดค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละรัฐได้ที่นี่
(9) อันต่อมาคือพิจารณาว่าตารางงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ดูความเป็นไปได้ด้วย เพราะบางบ้านมีเด็กหลายคน ต่างวัยกัน แล้วอย่าลืมว่าออแพร์รับผิดชอบแค่เฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และงานบ้านเล็กน้อยที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้น
บางบ้านให้ออแพร์ทำทุกอย่าง เป็นทั้งพี่เลี้ยงเด็กด้วย ครูสอนภาษาด้วย ทำอาหารให้ทุกคนในบ้านด้วย ทำความสะอาดบ้านทุกวันด้วย อย่างใช้ให้ออแพร์เสื้อผ้าโฮส หรือล้างจานชามให้โฮสต์ทุกมื้อทั้งๆ ที่ออแพร์ก็ไม่ได้กินด้วย หรืองานบางอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจโครงการและความเห็นแก่ตัวของโฮส อย่างเช่น ให้ออแพร์ดูดฝุ่นทั้งบ้านเพราะเด็กเดินไปทั่วทั้งบ้าน (อ้างว่าเป็นงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก) ให้ล้างของเล่นเด็กทุกวัน (อาทิตย์ละครั้งพอว่า) ให้ล้างจานและซักผ้าด้วยมือเท่านั้น เป็นต้น แบบนี้เราจะรีบปฏิเสธทันที
ตัวอย่างตารางงานที่เราไม่ชอบมากๆ คือ ตารางงานแบบโฮสต์เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย นับทุกนาทีไม่ให้ขาดให้เกิน 45 ชั่วโมง หรือให้ตื่นเช้ามาก แล้วพักกลางวัน 1 ชั่วโมง แล้วทำงานต่อจนครบ 10 ชั่วโมง เพราะออแพร์จะไปไหนไม่ได้เลย เหมือนไม่ได้พักเลยด้วย แค่กินข้าวเสร็จก็หมดเวลาเดี๋ยวต้องทำงานต่ออีกละ
(10) อย่าลืมว่าต้องมีเวลาให้ออแพร์ไปเรียน และไป Meeting แต่ละเดือนด้วย โฮสต์จะมาอ้างว่าต้องดูแลเด็กไม่ได้ ต้องให้เวลากับออแพร์ในการเรียนและมีทติ้ง
(11) ที่ไม่ชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ตารางงานเปลี่ยนบ่อย ไม่แจ้งล่วงหน้า เอเจ้นซี่ชอบโฆษณาให้โฮสต์ว่าข้อดีของออแพร์คือ Flexible
มีเพื่อนออแพร์ที่โฮสต์ให้ทำงานสัปดาห์ละไม่ถึง 30 ชั่วโมง แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกอาทิตย์ เพราะโฮสต์ทำงานเป็นกะ ซึ่งถือว่าได้อย่างเสียอย่าง ตอนแรกๆ เพื่อนก็มีความสุขดี พออยู่ๆไป ด้วยหน้าที่การงานของโฮสต์ ทำให้โฮสต์ไม่มีเวลาดูแลลูก จึงให้ออแพร์ทำงานเพิ่มขึ้นๆ สูงสุด 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เพื่อนไม่แฮปปี้แล้ว เพราะ 45 ชั่วโมงนี่ถือว่างานหนักเลยนะมากกว่ากฏหมายแรงงานของอเมริกาอีก แล้วตารางานยังเปลี่ยนบ่อย บางครั้งไม่รู้ล่วงหน้าเลยด้วยซ้ำ จะนัดเพื่อนไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ จู่ๆวันนี้โฮสต์กลับเร็วให้เลิกเลย แล้วเอาเวลาไปโปะวันเสาร์อาทิตย์แทน ทั้งๆที่โฮสต์ให้หยุด Full weekend แค่เดือนละครั้งเท่านั้น
อีกกรณีหนึ่ง เพื่อนออแพร์คนนี้ได้หยุดทุกวันเสาร์อาทิตย์เป็นประจำ แต่ตารางงานเปลี่ยนทุกสัปดาห์และโฮสต์ไม่ยอมบอกตารางงานของสัปดาห์ถัดไปจนวินาทีสุดท้าย บางครั้ง ดึกๆดื่นๆวันอาทิตย์เพิ่งจะส่งข้อความมาบอกว่าพรุ่งนี้ทำงานกี่โมง เป็นแบบนี้ทุกสัปดาห์
เราจะชอบตารางงานที่ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เราจะถามโฮสว่าตารางเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน (How often do you change the schedule?) ถ้าต้องการเปลี่ยนสามารถบอกล่วงหน้าได้นานแค่ไหน (If you need to change my shcedule, how long can you tell me in advance?)
(12) ที่ต้องระวังอีกอย่างคือ โฮสต์ที่ใส่ตารางงานมามั่วๆ ให้มันไม่เกิน 45 ชั่วโมงพอ ใส่เหมือนกันทุกวัน ไม่ใส่รายละเอียดงานให้ ตัวอย่างเช่น 7:00am – 4:00 pm Monday – Friday : Take care 2 kids and do light households จบ แบบนี้ต้องซักให้ละเอียดเลยว่าหน้าที่ตั้งแต่ 7โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็นต้องทำอะไรบ้าง ตารางงานบางครั้งก็เปลี่ยนแปลงตามเด็ก เช่น เดือนนี้เด็กปิดเทอม เดือนนั้นมีคลาสเสริม เราต้องถามให้ละเอียดมากๆ ช่วงเด็กปิดเทอมอยู่บ้านเป็นอะไรที่เหนื่อยที่สุดแล้ว
(13) และด้วยวัฒนธรรมของฝรั่งคือจะมีวันที่พ่อแม่ไปเดทกันสองต่อสอง ให้ออแพร์ดูแลลูกอยู่บ้าน ที่เรียกว่า Date Night ส่วนใหญ่จะเป็นคืนวันศุกร์ เราจะต้องถามเผื่อไว้ด้วยว่าโฮสต์ไปเดทไนท์บ่อยแค่ไหน ถ้าให้ออแพร์ดูเด็กระหว่างที่โฮสต์ไปเดทจะนับชั่วโมงทำงานอย่างไร หน้าที่ที่ต้องทำก็จะต่างไปจากตอนกลางวันด้วย โฮสต์ต้องอธิบายว่าออแพร์ต้องทำอะไรบ้าง โฮสต์จะกลับกี่โมง
(14) สุดท้าย ถ้าโฮสต์มีความจำเป็นต้องกลับบ้านช้าหรือให้ออแพร์ทำงานเกินชั่วโมง เช่น กรณีเด็กป่วยไม่ได้ไปโรงเรียน ออแพร์ต้องดูแลเด็กทั้งวันจนกว่าโฮสต์จะกลับบ้าน จะให้หักลบชั่วโมงทำงานของวันอื่นอย่างไร เช่น วันต่อไปเริ่มงานช้า หรือเลิกงานเร็วขึ้นได้ไหม หรือว่าจะจ่ายเป็นextraเท่าไร (ทำ OT ผิดกฏนะคะ แต่แอบทำไม่ให้เอเจ้นซี่รู้ได้) หรือว่าไม่เกินแน่นอนเพราะมีญาติ/พี่เลี้ยงประจำคอยดูแล
หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเรา บางคนบอกว่าเราควรถามทุกอย่างให้เคลียร์ ถ้าให้โฮสต์พิมพ์มาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ยิ่งดี เวลาทำงานแต่ละวันก็ให้บันทึกชั่วโมงทำงานไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง
แต่บางคนก็เห็นว่าไม่ควรถามขนาดนี้ เพราะอะไรอลุ่มอล่วยได้ก็ควร เพราะอยู่กันเป็นครอบครัว โฮสต์อาจจะมองว่าเราเอาแต่ได้ไม่ยอมเสียเปรียบหรือเปล่า
ในความคิดเรา เราคิดว่าแต่ละคนจะมีเทคนิคการถามคำถามเหล่านี้ที่ทำให้ไม่ดูน่าเกลียดจนเกินไป และการป้องกันดีกว่าต้องมาแก้ไขภายหลัง คำถามพวกนี้เป็นการประเมินด้วยว่าโฮสต์เข้าใจโคงการดีแค่ไหน และแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยอมให้เขามาเอาเปรียบง่ายๆ นะ มีโฮสต์หลายบ้านที่ละเมิดกฏพวกนี้โดยอ้างว่า “Part of Family” และมีออแพร์หลายคนที่ยอมให้โฮสต์เอาเปรียบเพราะความกลัว กลัว LCC จะว่าว่าไม่อดทน กลัวว่าโฮสต์จะรีแมช กลัวว่าโฮสต์จะเปรียบเทียบกับออแพร์คนเก่า กลัวว่าโฮสต์จะไม่ช่วยเรื่องเปลี่ยนวีซ่า ฯลฯ ทนจนจบโครงการ แล้วทำให้โฮสต์เข้าใจว่าสิ่งที่โฮสต์ทำนั้นถูกต้อง เป็นปัญหาให้ออแพร์คนใหม่อีก
บทความที่เกี่ยวข้อง