หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เรื่องเงินๆ ทองๆ กับออแพร์

ตั้งแต่การใช้เงินดอลลาร์ รายรับ-รายจ่าย และวิธีโอนเงินกลับไทย

สกุลเงินตรา

          สหรัฐอเมริกาใช้สกุลเงิน us dollar ($) ซึ่ง $1 = 32-37 บาท แล้วแต่สภาวะเศรษฐกิจ ส่วนตัวเราชอบตีง่ายๆ ว่า 30 หรือ 35 บาทจะได้คิดเลขง่ายๆ เพราะตอนมาใหม่ๆ จะติดนิสัยแปลงราคาทุกอย่างเป็นเงินบาท แล้วก็จะรู้สึกอู้หู แพง ไม่กล้าซื้อ อยู่ๆ ไปใช้จ่ายเสมือนตัวเองเป็นเศรษฐี 😁

แนะนำการใช้ธนบัตร และเหรียญดอลลาร์คร่าวๆ 

รูปจาก https://th.wikipedia.org/

          ธนบัตรที่ใช้บ่อยๆ ก็คือ $1, $5, $10, $20 เนื่องจากที่นี่นิยมใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต/เดบิตกัน เวลาพกเงินก็จะพกกันน้อยๆ ไม่เกิน $50 เพื่อความปลอดภัยจากขโมย มิจฉาชีพ เราพกแค่ $10-$20 เองไว้สำหรับไปงานแฟร์ Food truck หรือซื้ออะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมเครื่องดื่มจากตู้Vending machine
          ธนบัตร $2 หายากมาก ไม่เคยเจอเลย บางคนเจอก็เก็บไว้เป็นที่ระลึกไม่ยอมใช้
          ธนบัตร $50, $100 ใช้ยาก บางทีไปซื้อของ พนักงานจะยกขึ้นส่องดูว่าเป็นธนบัตรปลอมไหม แล้วเวลาซื้อบัตรรถไฟที่ตู้แล้วหยอดธนบัตรไป จะได้เงินทอนออกมาเป็นเหรียญ ดังนั้น ไม่ควรหยอดธนบัตรใบใหญ่ๆ นะ
          เวลาได้ธนบัตรมา พยายามใช้ธนบัตรใบเก่าๆ ก่อน เพราะเวลาฝากเงินที่ตู้ ATM มันไม่ยอมรับธนบัตรเก่าๆ ยับยู่ยี่ (แต่สามารถใช้จ่ายซื้อของได้) เห็นหลายคนเวลาจะกลับไทยต้องมาขอแลกกับออแพร์ที่ยังไม่กลับ

รูปจาก https://th.wikipedia.org/

          เหรียญที่นี่มีสกุลเงินเป็น cent เสมือนสตางค์บ้านเรา 100 cents = 1 dollar คนที่นี่ก็ไม่ค่อยใช้เหรียญกัน ใช้แต่บัตรเครดิตกับธนบัตร จะใช้เหรียญแค่เวลาจ่ายเงินที่จอดรถหรือขึ้นทางด่วนบ้าง (แต่เดี๋ยวนี้ด่านทางด่วนไม่ค่อยมีให้หยอดเหรียญแล้ว จะเป็นแบบสแกนหน้ารถเอา) เวลาได้เหรียญมาก็โยนทิ้งขว้าง หรือไม่ก็ใส่ขวดโหลไว้จนเต็ม นับๆดูแล้วก็หลายสิบดอลลาร์อยู่ บางทีเราก็นับๆ เหรียญแล้วมัดไว้เป็น 1 ดอลแล้วก็เอาไปซื้อขนมเล็กๆ น้อยๆ หรือบางทีเวลาซื้อของจะพยายามจ่ายเศษที่เป็นเซนต์ ไม่งั้นเวลาทอนเงินมาจะได้เหรียญเพิ่มขึ้นอีก หนักกระเป๋า ตอนจะกลับไทยก็แลกเหรียญคืนไม่ได้ด้วย
* อัพเดตใหม่ พอดีไปเจอตู้แลกเหรียญมา แต่คิดค่าธรรมเนียมนิดหน่อย
(ติดตามช่อง The Foo ของพี่ปายได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UCPgbq18UvNpwmx2Y8dqWCLA)

          การใช้เหรียญถือเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเราเลย ทุกวันนี้ก็ยังใช้ไม่คล่อง ทุกเหรียญจะมีตัวหนังสือเขียนบอกมูลค่าของเหรียญไว้ แต่ตอนใช้จริงก็ไม่ค่อยจะได้อ่านเท่าไรเพราะรีบจ่าย มัวแต่นับเหรียญ เกรงใจคนต่อคิวด้านหลัง

          เหรียญที่แยกง่ายสุดคือ 1 เซนต์เพราะเป็นเหรียญที่มีสีทองแดง กับเหรียญ 1 ดอลลาร์ แต่ไม่ค่อยเจอเพราะจะใช้เป็นธนบัตร 1 ดอลลาร์มากกว่า

          เหรียญสีเงินจะทำให้เราสับสนสุด แยกได้โดยขนาด ใหญ่สุดคือ 50 เซนต์ > 25 เซนต์ > 5 เซนต์ > 10 เซนต์

          แต่ละเหรียญจะมีชื่อเล่นเพื่อให้เรียกง่าย สั้น กระชับ ส่วนคำว่า Buck ไม่ได้ใช้เฉพาะกับเหรียญ แต่ใช้แทนคำว่าดอลลาร์เลย เช่น 20 bucks = $20

          ตอนมาใหม่ๆ จะมีปัญหาฟังคนขายพูดราคาไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะที่มีเศษ เพราะเขาจะพูดแบบย่อๆ เช่น ราคา $35.62 เขาจะไม่อ่านว่า Thirty-five dollars and sixty-two cents แต่เขาจะบอกว่า Thirty-five, sixty-two ฟังบ่อยๆ ค่อยๆ ชิน

การบริหารการเงินสำหรับออแพร์

(รูปจาก https://sites.google.com/site/businesscomputersubjects/_/rsrc/1482059208900/karna-porkaerm-khxmphiwtexr-ma-prayukt-chi-kab-kar-brihar-kar-ngein/15645097_1223090807782279_393054184_n.jpg)

          จริงๆ ก็ตามหลักสากลทั่วไป คือแบ่งเงินเป็นส่วนๆ แล้วแต่เป้าหมายการมาออแพร์ของแต่ละคน บางคนมาเที่ยว บางคนชอบช้อปปิ้ง บางคนชอบตระเวนชิมร้านอาหาร บางคนอยากเก็บเงิน ดังนั้นเงินที่แบ่งไว้แต่ละส่วนของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราบริหารการเงินดีๆ ไม่ใช้เงินเกินงบที่ตั้งไว้ๆ แบ่งบางส่วนไว้เก็บออม รับรองว่ามีเงินเหลือจริงๆ บางคนส่งเงินกลับไทยเดือนละเป็นหมื่นบาท
ที่สำคัญต้องมีวินัย แล้วก็บันทึกรายรับ-รายจ่าย จะใช้แอพลิเคชั่น หรือโปรแกรมExcel หรือจะจดลงสมุดธรรมดาก็ตามสะดวกเลยจ้า
       
          ออแพร์ส่วนใหญ่มีรายได้ $195.75/สัปดาห์ (ยกเว้นบางเอเจนซี่ที่มีออแพร์แบบพิเศษจะได้เงินมากหน่อย แต่ขอไม่พูดถึง) สมมุติเราตีเป็นตัวเลขกลมๆว่า รายรับ $200 / สัปดาห์ = $800 / เดือน
👉 ทำไมออแพร์ในอเมริกาได้เงินแค่ $195.75 ต่อสัปดาห์
          รายจ่ายของออแพร์ตามอุดมคติคือ $0 ถ้าทำได้ เพราะกินฟรี อยู่ฟรีกับโฮส แต่ชีวิตมันไม่ได้มีแค่นั้น เราต้องออกไปเที่ยว ไปเจอสังคม

รายจ่ายออแพร์ ประมาณจากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา
  1. ค่าอาหาร เวลาไปกินอาหารนอกบ้านตกมื้อละ $10-25 เข้า Starbuck ทีก็ $3-10 ไอศกรีม/เค้กชิ้นนึง $5-10 ก็จำกัดไว้ว่าอาทิตย์ละครั้งเป็นอย่างมากพอ พยายามกินอาหารกับโฮส หรือตกลงกับโฮสให้เรียบร้อยก่อนแมชเลยว่า สมมุติเราไม่ชอบกินอาหารของเค้า หรืออยากซื้ออะไรจากgreocery store, asian market เองจะเบิกได้ไหม บางบ้านให้บัตรเครดิตมาใช้เลย หรือให้งบมาเลยว่าอาทิตย์ละเท่าไร เ
  2. ค่ารถ ถ้าอยู่ในเมืองก็จะเดินทางด้วยรถบัส รถไฟ เที่ยวละ $2-3 หรือถ้าขับรถก็ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ประมาณค่ารถคิดเป็น $20-30 ต่อเดือน ทางที่ดีควรตกลงกับโฮสให้เรียบร้อยว่าจะซัพพอร์ตค่าเดินทางไปเรียน ไปมีทติ้งอย่างไร แล้วใช้รถสำหรับไปไหนส่วนตัวได้ไหม ค่าน้ำมันคิดอย่างไร
  3. เก็บเงินไว้สำหรับจ่ายภาษี $20-30 / สัปดาห์ เพราะบางคนต้องจ่ายทั้ง Federal Tax และ State Tax
    👉 2018 Paying Tax for Au Pair (Step by step)
    👉 State tax
  4. Shopping เราไม่ค่อยชอบซื้อของแแบรนด์เนม ส่วนใหญ่เราก็จะซื้อแค่ช่วงเทศกาลหรือที่จำเป็นจริงๆ เช่น รองเท้าเราจะซื้อจาก Payless shoesless คู่ละประมาณ $15-20 เสื้อผ้าซื้อจาก Marshalls, Macy's, Ross Dress by less, T.J. Maxx, Forever 21 เสื้อผ้าธรรมดาตกตัวละ $15-20 จริงๆ เสื้อผ้าแบรนด์ก็จะมีตรงที่ Clearance อยู่ แล้วเราชอบไปดูตรงเสื้อผ้าเด็กวัยรุ่นเพราะมันจะถูกกว่าเสื้อผ้าผู้ใหญ่ และเวลาซื้อออนไลน์จะชอบมีโปรโมชั่นให้ว่าซื้อครั้งแรกลด 10% เป็นต้น อื่นๆ เราไม่ซื้อ อะไรที่แพงเกิน $50 ไม่ซื้อเลย หรือถ้าเดือนนี้ช้อป เดือนหน้าจะไม่ช้อป ช่วงที่เสียเงินเยอะๆ ก็จะเป็นช่วงคริสต์มาส กับวันเกิดโฮสต์คิดส์
    สมมุติว่าตั้งงบสำหรับช้อปปิ้งไว้ $30/เดือน ของขวัญให้โฮสไว้ว่าไม่เกิน $100-150 / ปี
  5. Vacation รวมค่าตั๋วเครื่องบินที่พักต่างๆ เที่ยวแบบประหยัดก็ครั้งละ $300-2000 / ปี ขึ้นอยู่กับระยะทาง และระยะเวลาที่เที่ยวด้วย
  6. ค่าเรียน พยายามหาที่เรียนที่เก็บครบ 6 หน่วยกิตแต่ไม่เกิน $500 ที่โฮสต์ให้ แต่ออแพร์บางคนก็หาที่เรียนไม่ได้จริงๆ ต้องจ่ายเพิ่ม $100-300 / ปี
  7. ค่าโทรศัพท์ อย่างต่ำ $50 / เดือน อันนี้แนะนำว่าควรขอให้โฮสออกให้ตั้งแต่ก่อนแมชค่ะ เป็นเรื่องจำเป็นมาก
  8. อื่นๆ ของใช้จิปาถะ ถ้าโฮสต์ออกให้ก็ประหยัดไป เช่น ผ้าอนามัย โลชั่น ครีมกันแดด เป็นต้น
รวมรายจ่ายทั้งหมด ตกเดือนละ ประมาณ $250 - 600 ก็ยังมีเงินเก็บอีก $200-550 ต่อเดือน เลยทีเดียว จากประสบการณ์ส่วนตัว เราใช้เงินเดือนละ $300-600 ก็ยังพอมีเงินเก็บส่งให้ที่บ้าน
 เงินเก็บนี้บางคนก็เก็บเอง หรือเอาไว้ในChecking account เฉยๆ (ไม่ได้ดอกเบี้ยจากการฝากเงิน) แต่บางคนก็เปิด Saving account ขึ้นมาอีกบัญชีสำหรับเก็บเงินโดยเฉพาะ และรับดอกเบี้ยด้วย

แล้วก็ใครที่ตั้งใจจะต่อปีสอง ก็ต้องเตรียมเก็บเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆหน่อย เพราะปีสองก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งค่าโครงการ ค่าประกันสุขภาพ ค่าโหลดกระเป๋า ค่าส่งพัสดุ(สำหรับคนที่ของเยอะ เอาโหลดใต้ท้องเครื่องไม่ไหว) ก็เป็นจำนวนเงินมากเหมือนกัน

ถ้าอยากมีเงินเก็บเพิ่มทำยังไง ? 

(รูปจาก https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTsmveBG64Plyvw6l5FYwDEP5_0qi9Y07tUa2l1duf6XmdVRas9)

1. ลดรายจ่าย
  • ลดรายจ่ายโดยเฉพาะเรื่องช้อปปิ้ง และการกินข้าวนอกบ้าน จะช่วยประหยัดได้เยอะเลย
  • ใช้คูปอง ใช้บัตรนักเรียนลดราคา
               👉 ออแพร์สายเที่ยว(event) และดีลส่วนลดสำหรับกิจกรรมสนุกๆ
  • เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ และซื้อจากร้านที่ถูกกว่า เช่น เราชอบกินเลย์มาก เราเลือกซื้อเลย์ที่ Dollar tree (ร้านทุกอย่าง $1) แทน CVS เพราะถูกกว่า หรือซื้อชุดเดรส ชุดแฟนซีจากร้านขายเสื้อผ้ามือสอง เช่น Goodwill บางครั้งซื้อทางออนไลน์จะถูกกว่า
              👉แหล่ง Shopping ในอเมริกา
  • เวลาจะไปเที่ยวจองตั๋วเครื่องบินและที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน หรือถ้ามีเพื่อนออแพร์ที่สามารถให้ที่พักเราได้ก็จะประหยัดได้มาก Road Trip ก็ไม่แพงอย่างที่คิดเพราะหารกันออก
  • คนที่ไม่มีรถขับ พยายามเผื่อเวลาออกจากบ้านเช้าหน่อย ใช้รถสาธารณะ เช่น บัส รถไฟ หรือเดิน ปั่นจักรยานแทน ถ้าจำเป็นต้องเรียกTaxi ใช้ UberPool หรือ LyftShare จะถูกกว่านั่งคนเดียว
              👉 การเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกา
  • เวลาไปข้างนอกเราจะพยายามพกของกินจากบ้านไป เช่น แซนวิช โยเกิร์ต กล้วย แอ้ปเปิ้ล ซีเรียลบาร์ จะได้ประหยัด
  • บางคนจะตั้งค่าจำกัดวงเงินในบัตรเดบิต/เครดิต หรือบัญชีธนาคารไว้ไม่ให้ถอนเงินหรือใช้เงินได้มากกว่าจำนวนที่กำหนด
2. เพิ่มรายได้
จริงๆ ตามกฏหมายออแพร์ไม่สามารถ OT หรือทำเกินเวลา หรือไปรับทำงานพิเศษที่อื่นได้ ถ้าใครทำก็ขอให้เป็นความลับ อย่าให้เอเจนซี่รู้
  • OT / Extra money มีตั้งแต่ $8-20 / ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่รัฐไหน เลี้ยงเด็กกี่คน แต่ต้องได้ขั้นต่ำ 1.5 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ
  • Cash back จากการซื้อของออนไลน์ผ่านแอพ เช่น Ebates, Ibotta หรือใครที่ใช้ Bank of America จะมีให้กด Deal เพื่อรับ Cash back หลังใช้จ่ายผ่านบัตร เป็นต้น
  • ส่งต่อเสื้อผ้า ของใช้มือสองที่ไม่ใช่แล้ว
              👉 เสื้อผ้าไม่ใช้แล้ว เอาไปไว้ไหนดี
  • รับจ้างดูโฆษณา หรือตอบแบบสอบถาม
  • ทำงานศิลปะ DIY ขาย
  • ขายรูปถ่าย รับจ้างแปลเอกสาร
  • ทำ Vlog อัพโหลดลง Youtube

การส่งเงินกลับไทย ที่นิยมกัน ได้แก่ 


  1. โอนเงินผ่าน Transferwise, MoneyGram, PayPal
  2. โอนผ่านธนาคารในอเมริกา, Western Union
  3. ผ่านคนรับฝากโอน
Useful link: การโอนเงินจากอเมริกามาไทย
รีวิว transferwise บริการ โอนเงินจากต่างประเทศมาไทย เรทดีสุดในตอนนี้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น