หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

หน้าหลัก สารบัญ

สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่บล็อก "ออแพร์ไนซ์ในอเมริกา (Au Pair Nice in USA)"
https://aupairniceinusa.blogspot.com นะคะ
บล็อกนี้เดิมชื่อ N-Narrater แต่มีปัญหาขัดข้องบางประการเลยต้องเปลี่ยนชื่อและ url ใหม่ โดยเป็นบล็อกที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นออแพร์ในอเมริกา เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคนที่สนใจโครงการออแพร์ในอเมริกา และเป็นแนวทางใช้ชีวิตสำหรับคนที่กำลังเป็นออแพร์อยู่แล้ว อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตออแพร์ในอเมริกาอย่างมีความสุข และได้รับประสบการณ์ที่มีค่ากลับไปอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ และประสบการณ์ใช้ชีวิตในอเมริกาด้วย
เนื้อหาในบล็อกนี้จะแบ่งตามหมวดหมู่ไว้  ได้แก่





สามารถคลิกเลือกหมวดหมู่ได้ที่ภาพ หรือแถบสีดำด้านบนเลยค่ะ 
ขอขอบคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกคนที่คอยติดตาม ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน รวมถึงทุกๆ คนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ดีๆ ทำให้เราสามารถเขียนเป็นบทความแต่ละเรื่องขึ้นมาได้ ต้องขอขอบคุณจากใจจริงๆ 💗 เราจะพยายามเขียนเรื่องใหม่ๆ ให้อ่านเรื่อยๆ จนกว่าเราจะจบโครงการ 
ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ที่เฟสบุคแฟนเพจ 👍 ออแพร์ไนซ์ในอเมริกา ได้เลยนะคะ



 ⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇷

!! ประกาศจากผู้เขียน !!

เนื่องจากเพื่อนออแพร์ไทยในสวีเดนมีเหตุต้องกลับไทยก่อนกำหนด และผู้เขียนไม่มีเวลาทำเพจ จึงขออนุญาตปิดเพจ "ออแพร์น้อยในต่างแดน - Diary of Little Au Pairs" ลง ขอโทษทุกคนที่ติดตามนะคะ แต่สัญญาว่าจะทำบล็อกนี้ต่อไปจนกว่าจะจบโครงการ หรือไม่มีเรื่องจะเขียน


Diary of Little Au Pairs


 ⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇷

!! ประกาศจากผู้เขียน !!  March 2020

ช่วงนี้เกิดโรคระบาด COVID 19 ไปทั่วโลก ทางสหรัฐอเมริกาได้ระงับโครงการนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อเป็นการจำกัดวงแพร่ระบาดของโรค สามารถติดตามข่าวได้ทางเว็บไซต์ https://j1visa.state.gov/programs/au-pair



รักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ

ด้วยความเป็นห่วงจาก... ออแพร์ไนซ์ในอเมริกา (Au Pair Nice in USA)

 ⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇸🔺⇷🔺⇷

3 บทความล่าสุด อัพเดตก่อนใคร








วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

Diet restriction - เมื่อโฮสต์มีข้อจัดในการรับประทานอาหาร


"เรื่องอาหาร ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ" ในการเลือกแมตช์กับโฮสต์แฟมิลี่ 

https://dailyfoodtoeat.files.wordpress.com/2018/05/dietary-restrictions-blog.jpg


ข้อจำกัดในการรับประทานอาหารนี้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของหลักปฏิบัติทางศาสนา ไลฟ์สไตล์ หรือปัญหาสุขภาพก็ตาม 
ออแพร์จะต้องถามให้ละเอียดก่อนที่จะตกลงแมตช์กับโฮสต์ 

อย่างเช่น โฮสต์ที่เป็น Vegan ไม่ทานเนื้อเลย แต่บางบ้านจะอนุญาตให้ออแพร์ซื้อเนื้อเข้ามาทำอาหารทานเฉพาะสำหรับตัวออแพร์เองได้ แต่บางบ้านจะเคร่งครัดมากๆ จนออแพร์อยู่ไม่ไหวต้องขอรีแมชก็มี

ประเภทของข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร ได้แก่

1. แพ้อาหาร (Food allergy) เช่น 

คนที่ร่างกายแพ้กลูเตน จะรับประทานอาหารที่เป็น "Gluten free" 


https://i0.wp.com/images-prod.healthline.com/hlcmsresource/images/AN_images/gluten-free-diet-1296x728.jpg?w=1155&h=1528

Gluten free คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ปราศจากโปรตีนกลูเตน ซึ่งเป็นสารที่พบอยู่ในธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวทริทิเคลี รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากแป้งสาลีหรือธัญพืชเหล่านี้ด้วย เช่น ซอสถั่วเหลือง เบียร์ ผลิตภัณฑ์จากมอลต์ ขนมปัง พาสต้า เค้ก หรือน้ำสลัด เป็นต้น

หลายคนยังเชื่อว่าอาหาร Gluten Free มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ลดน้ำหนัก บรรเทาอาการจากโรคซึมเศร้า ปวดศีรษะ อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือช่วยให้รู้สึกกระฉับกระเฉง เป็นต้น 

สำหรับคนทั่วไป สามารถรับประทานอาหารประเภท Gluten Free ได้ แต่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำหรือทดแทนอาหารมื้อปกติ เพราะอาจนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหารและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากการขาดสารอาหารสำคัญ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารประเภท Gluten Free เป็นประจำจึงควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเสมอ

นอกจากนี้ การแพ้อาหารชนิดอื่นๆ ที่พบบ่อย เช่น 

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/560000010963401.JPEG


แพ้ไข่ (Egge free) จะต้องระวังในเบเกอรี่มากๆ เพราะมีไข่เป็นส่วนประกอบแทบทุกอย่าง และบะหมี่ เป็นต้น
แพ้อาหารทะเล (Shellfish free) เช่น ปู กุ้ง กั้ง หอย ปลาหมึก เป็นต้น 
แพ้ปลา (Fish free) แตกต่างจากการแพ้อาหารทะเล ต้องสอบถามให้แน่ชัดว่าแพ้ปลาชนิดใด
แพ้ผลิตภัณฑ์จากถั่วต่างๆ  เช่น ถั่วปากอ้า (broad bean /fava bean) ในผู้ป่วยที่เป็น Sicken cell anemia, ถั่วลิสง (peanut), ถั่วเหลือง (แพ้กลูเตนในถั่วเหลือง) เป็นต้น * ข้อสังเกต Bean , Pea, และ Nut แปลว่าถั่วเหมือนกัน แต่ในภาษาอังกฤษ ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันที่เมล็ดและฝัก คนที่แพ้Bean อาจสามารถกิน Nut ได้
แพ้ผลิตภัณฑ์จากนม (Dairy free) เช่น นมวัว ชีส เนย โยเกิร์ต มาการีน ไอศกรีม ซึ่งโฮสต์อาจเลี่ยงไปทานผลิตภัณฑ์นมจากพืชแทน
อื่นๆ เช่น แพ้ข้าวโพด, แพ้ผักผลไม้, แพ้งา, แพ้กะทิ, แพ้สัตว์ปีก เป็นต้น


❗❗ สำหรับออแพร์ที่มีโฮสต์พ่อแม่ หรือเด็กๆ ที่แพ้อาหาร 
ควรสอบถามโฮสต์ให้แน่ใจก่อนว่าอะไรที่สามารถรับประทานได้และไม่ได้โดยเด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพ้อาหาร ซึ่งรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารกที่ยังไม่สามรถสื่อสารได้ หรือเด็กเล็กๆ ที่ยังเลือกอาหารทานเองไม่ได้ จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

https://www.policymed.com/wp-content/uploads/2017/08/The-EpiPen-Whistleblower-Saga-Comes-to-a-Close.png

พวกนี้จะมี "Epi-pen" หรือเข็มฉีด Epinephrine หรืออีกชื่อคือAdrenaline อัตโนมัติ ใช้ในการช่วยชีวิตหรือบรรเทาปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลัน (Anaphylaxis)ในกรณีฉุกเฉิน ก่อนรีบไปพบแพทย์โดยเร็ง สามารถศึกษาวิธีใช้ Epi-pen ได้ที่ http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/801/Anaphylaxis


2. Vegetarian / Vegan  (อาหารมังสวิรัติ)  

จะพบมากในชาวยุโรป เพื่อรักษาสุขภาพ เพราะเชื่อว่าเนื้อแดงทำให้ร่างกายเกิดโรค เช่น มะเร็ง โรคอ้วน โรคภูมิแพ้ เป็นต้น บางบ้านเคร่งครัดมาก แม้แต่ไข่ก็ไม่แตะ จะรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก

https://blog.busuu.com/wp-content/uploads/2019/02/how-to-say-vegan-vegetarian-different-languages.jpg


ความแตกต่างของ vegerarian และ vegan

🍏Vegetarian อาหารมังสวิรัติ เป็นอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ แต่ยังมีนม ไข่ ชีสได้

🍏Vegan หรืออาหารมังสวิรัติบริสุทธิ์ เป็นอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด ทานได้เฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืชเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะระมัดระวังด้านอาหารแล้ว คนที่เป็นวีแกนยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์โดยอ้อม เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ด้วยความเชื่อเรื่องการไม่เบียดเบียนสัตว์อีกด้วย อย่างไรก็ตามอาหารวีแกนไม่ได้ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุนเหมือนผักต้องห้ามของอาหารเจแต่อย่างไร

ออแพร์ไทยอาจจะไม่ชิน เพราะคนไทยน้อยคนมากที่จะเป็นมังสวิรัติ บางคนคิดว่าเป็นข้อดี ถือเป็นการลดน้ำหนักไปในตัว แต่พออยู่ไปสักพักรู้สึกว่าไม่ไหว เพราะกินผักไม่อิ่ม ไม่อยู่ท้อง บางบ้านยืดหยุ่นหน่อย มีโปรตีนเกษตรให้ทาน (โปรตีนเกษตรที่อเมริการสชาติเหมือนเนื้อสัตว์เลย แถมยังมีสารพัดรูปแบบ อร่อยมาก) หรือบางบ้านอนุญาตให้ออแพร์ซื้อเนื้อสัตว์มาทำทานเองส่วนตัวได้


3. Organic food 

https://wellness.healthtian.com/wp-content/uploads/2013/05/Organic-Foods.jpg

อันนี้ไม่ใช่ข้อจำกัดอะไร เป็นแค่ไลฟ์สไตล์ของโฮสต์บางคนที่จะเลือกซื้อเฉพาะอาหารออแกนิกเท่านั้น เพราะดีต่อสุขภาพ เนื่องจากอาหารออแกนิกคืออาหารที่มีกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติ ปลอดสารพิษ เช่น เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในระบบเปิด นมวัวที่ได้มาจากแม่วัวที่ได้ฟังเพลงผ่อนคลายความเครียดทุกเช้า ผักผลไม้ที่ไม่มียาฆ่าแมลง เป็นต้น แต่ราคาจะสูงกว่าอาหารทั่วไปมาก หากบ้านไหนที่โฮสต์ซื้อแต่อาหารออร์แกนิกแล้วถือว่าโชคดีมากๆ เลย ไม่ใช่ว่าโฮสต์ทุกบ้านจะกินอาหารออแกร์นิกนะจ๊ะ

4. Keep Kosher 

คำว่า "kosher" (โคเชอร์) หมายถึง "เหมาะสม" หรือ "ยอมรับได้"  
อาหารโคเชอร์ คือมาตรฐานอาหารยิว (Jewish) หรือผู้นับถือศาสนายูดาย ซึ่งมีหลักคัชรูท (Kashrut) เป็นข้อกำหนดเรื่องอาหารที่กำหนดไว้ในคัมภีร์โตราห์ (Torah) ว่าสิ่งใดรับประทานได้/ไม่ได้ การเตรียมอาหารและรับประทานต้องทำอย่างไร คล้ายหลักการอาหารฮาลาล แต่มีข้อกำหนดยิบย่อยมากๆ ใครที่มีโฮสต์เป็นชาวยิวที่Keep kosherแบบเคร่งครัดก็จะลำบากหน่อย


หลักพื้นฐานของอาหารโคเชอร์ มีดังนี้


https://www.thespruceeats.com/thmb/Lwj-WmAOIa03wU76PkyPjkpdK1I=/1500x1000/filters:no_upscale():max_bytes(150000):strip_icc()/introduction-to-kosher-food-2122519_FINAL-5baa4282c9e77c00259399e2.png

1.  ✅เนื้อสัตว์ที่บริโภคได้ เช่น วัว แกะ แพะ กวางไบซัน ปลา ไก่ เป็ด ห่าน และไก่งวง ทั้งนี้สัตว์ดังกล่าวจะต้องฆ่าตามหลักของยิว
     ❌สัตว์ที่บริโภคไม่ได้ เช่น หมู กุ้ง ล๊อบสเตอร์ หอยนางรม หอยลาย ปู ไม่เป็นโคเชอร์
     ❌ห้ามบริโภคส่วนของสัตว์ เครื่องใน ไข่ นม หรือเลือดของสัตว์จำพวกนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

2.  ✅ ผักและผลไม้ เป็นโคเชอร์ บริโภคได้ แต่ต้องตรวจสอบให้ดี 
     ❌ไม่ให้มีหนอนและแมลงมาตอม เพราะหนอนและแมลงไม่ใช่โคเชอร์

3.  เนื้อสัตว์ เนื้อวัว เนื้อไก่ ไม่สามารถบริโภคพร้อมผลิตภัณฑ์นมได้ เพราะจะมีผลต่อระบบการย่อย 
     ❌ปลาและไข่สามารถบริโภคด้วยกันได้ 
     ❌ห้ามปรุงและเสริฟเนื้อสัตว์และปลาด้วยกันด้วย
     ✅ อนุญาตให้รับประทานผลิตภัณฑ์นมกับไข่ด้วยกันได้

4.  ✅ ผลิตภัณฑ์องุ่นที่เป็นโคเชอร์ต้องผลิตโดยคนยิวเท่านั้น ดังนั้นจะห้ามดื่มไวน์และผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่ไม่ใช่คนยิว

5. ของใช้ ภาชนะต่างๆ รวมทั้ง หม้อ กระทะ จาน ช้อน ส้อม มีด และของที่ใช้ปรุงอาหารอื่นๆ ต้องเป็นโคเชอร์ด้วย 
     ❌ ถ้าใช้ปรุงอาหารที่เป็นเนื้อแล้ว ห้ามใช้กับผลิตภัณฑ์นม ถ้าภาชนะใช้กับผลิตภัณฑ์นมก็ห้ามนำไปใช้กับเนื้อ 
     ❌ถ้าภาชนะต่างๆ ใช้กับอาหารที่ไม่โคเชอร์แล้ว ห้ามใช้กับอาหารโคเชอร์อีก 
ซึ่งเป็นข้อกำหนดเฉพาะอาหารร้อน นอกจากนั้น ฟองน้ำ ผ้าเช็ดจาน เตา อ่างล้างจาน เครื่องล้างจาน ต้องแยกกันด้วย เป็นต้น



อาหารโคเชอร์จะมีตราสัญลักษณ์รับรอง ดังภาพ


https://www.godairyfree.org/wp-content/uploads/2006/05/Understanding-Kosher-Labels-Helpful-for-Dairy-Free-Living.jpg

จากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสกับครูสอนภาษาอังกฤษชาวยิว และจากออแพร์หลายคนที่มีโฮสต์เป็นชาวยิวในอเมริกาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเคร่งครัดเท่าไร กินได้ทุกอย่าง ออแพร์ก็จะอิ่มหมีพีมันกันเลยทีเดียว เพราะเรื่องอาหารการกินชาวยิวเต็มที่มากๆ แถมยังมีงานเทศกาลเฉลิมฉลองบ่อยครั้ง แต่ถ้าเป็นบ้านที่เคร่งครัดถือว่าต้องปรับตัวอย่างมากเลยทีเดียว

https://images.heb.com/is/image/HEBGrocery/prd-small/morton-coarse-kosher-salt-001444915.jpg

เรารู้จักแต่ Kosher salt เห็นมีใช้ประกอบอาหารกันแทบทุกบ้านแม้ว่าจะไม่ได้เป็นชาวยิวก็ตาม ต่างจากเกลือทั่วไปคือมีเกล็ดที่ใหญ่กว่า เค็มน้อยกว่า และละลายตัวภายในระยะเวลาสั้น ๆ และรสสัมผัสก็ยังกระจายตัวเข้าไปในอาหารได้รวดเร็วด้วย


5. Halal

อาหารฮาลาล หรือเรียกง่ายๆ คืออาหารของชาวมุสลิม หรือกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ดูจะเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยสุดในบรรดาข้อจัดทางอาหารทั้งหมด เพราะเราเรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าคนอิสลามไม่กินหมู จะกินเนื้อวัวแทน  


https://rainbowbeach.info/wp-content/uploads/2019/12/Halal-Food.jpg


อาหารมุสลิมต้องไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม คือ ไม่มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น เนื้อหมู น้ำมันหมู หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากหมู รวมถึงเลือดสัตว์ไม่ว่าชนิดใด อาหารที่มาจากพืชที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด และอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายและ เป็นพิษ เป็นต้น

คำว่า “อาหารฮาลาล” หมายถึง อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามบัญญัติอิสลามโดยคนที่จะปรุงอาหารประเภทนี้ต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น และยังต้องมีวิธีการปรุงที่สะอาด ส่วนผสมก็ต้องสะอาด ไม่เน่า หรือไม่ส่อว่าอาจมีเชื้อโรค เพราะหลักการอิสลามอนุมัติให้มุสลิมบริโภคสิ่งที่ “อนุมัติ และสภาพดีมีคุณค่า” เช่น เนื้อสัตว์ต้องได้รับการเชือดโดยมุสลิม มีการกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้าขณะเชือด มีวิธีการเชือดถูกต้องตามหลักการอิสลาม เป็นต้น โดยสังเกตได้ที่เครื่องหมายฮาลาล

https://image.shutterstock.com/image-vector/halal-sign-design-certificate-tag-260nw-576779845.jpg


ตอนเป็นออแพร์อยู่ที่อเมริกา 2 ปี 

โชคดีที่เราและโฮสต์แฟมิลี่ไม่มีข้อจำกัดในการทานอาหารเลย ทานได้ทุกอย่าง ออร์แกนิกบ้างไม่ออแกร์นิกบ้างปนกันไป แต่สิ่งที่ถือเป็นอาหารแปลกๆ ที่เราได้กินครั้งแรกเลย คือ หอยสังข์ (Conch) อาหารขึ้นชื่อของหมู่เกาะบาฮาม่า

https://blog.madurodive.com/wp-content/uploads/2015/10/Optimized-IMG_2354.jpg

เพราะอยู่ฟลอริด้าอยู่ใกล้บาฮาม่า จึงมีหอยสังข์เยอะมาก เมนูยอดนิยมได้ แก่ Fried conch หอยสังข์ชุบแป้งทอด, conch salad, conch chowder ซุปมะเขือเทศหอยสังข์ เป็นต้น อร่อยดีนะ เนื้อออกหนึบๆ แต่พอกินเสร็จแล้วมาเดินริมหาดเห็นน้องอยู่ในกระดองก็สงสาร งื้ออออ


แถมท้าย 

ฝรั่งส่วนใหญ่จะไม่รับประทานปลาทั้งตัว ไม่ทานเป็ดและห่าน ไม่ทานเครื่องในสัตว์ ตีนไก่ คอไก่ ตูดไก่ เลือดสัตว์ รวมถึงอาหารกลิ่นแรงบางอย่าง เช่น กะปิ ชะอม ปลาร้า 

ถ้าจะทานก็จะทานปลาที่หั่นเป็นชิ้นเรียบร้อยแล้วมากกว่า เห็นฝรั่งหลายๆคนเลยที่แกะปลาไม่เป็น และตกใจเวลาเสิร์ฟปลาทั้งตัวให้ทาน รวมทั้งเวลาไปซื้อปลาที่โกรเซอรี่ คนขายส่วนใหญ่จะสับปลาเป็นชิ้นๆ ให้ ห้ามแทบไม่ทัน เพราะตั้งใจจะเอาไปทอด/นึ่งทั้งตัว
ส่วนเครื่องในสัตว์เขามองว่าไม่ใช่อาหาร ไม่น่ารับประทาน จะแตกต่างจากคนเอเชียและตะวันออกกลางที่คุ้นเคยดีกับการทานสัตว์ทั้งตัวไม่เว้นแม้แต่อวัยวะภายในของสัตว์ < แต่ก็มีโฮสต์บางบ้านที่ไม่ถือ อยากลองทานทุกอย่างที่ออแพร์ทำให้โดยไม่รังเกียจ อย่างน้องออแพร์ที่รู้จักก็สรรหาวัตถุดิบจากเอเชียนมาร์เก็ตไปทำอาหารแปลกๆใหม่ๆให้โฮสต์ทาน เช่น แกงส้มไข่ปลา, ต้มยำตีนไก่ โฮสต์ก็บอกว่าอร่อยดี โฮสต์เคยถามด้วยว่าปกติเรากินแมลงมั้ย เพราะโฮสต์มองว่ามันน่ากลัว แต่คนไทยกินเป็นปกติ ขนาดตั๊กแกนปาทังก้า หรือปลาช็อคเกอร์ที่เคยเป็นปัญหาทำลายระบบนิเวศของไทย คนไทยยังจับกินเรียบไม่พอแถมยังสั่งนำเข้าจากต่างประเทศอีก อยากให้โฮสต์มาลองที่เมืองไทยจัง 55




แหล่งอ้างอิงข้อมูล







วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

hostmomฉัน เป็นชาวโปแลนด์

สวัสดีค่ะ วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ "การเป็นออแพร์ให้โฮสต์แม่ชาวโปแลนด์" 1 ปีเต็มกันค่ะ (โฮสต์พ่อเป็นชาวเปอร์เซียค่ะ อ่านบทความประสบการณ์การเป็นออแพร์กับโฮสต์เปอร์เซียได้ที่นี่)

https://www.crossed-flag-pins.com/shop/media/image/af/19/00/Flag-Pins-Poland-Thailand.jpg

มาทำความรู้จักชาวโปแลนด์กันค่ะ

ชาวโปแลนด์ที่เราได้รู้จักระหว่างที่เป็นออแพร์ในอเมริกามีอยู่ 3 คนด้วยกัน ได้แก่ โฮสต์มัม(บ้านแรก), เพื่อนออแพร์ (ปีแรก), และครูอาสาสอน ESL ที่ห้องสมุด (ปีสอง) ทั้ง 3 คนเป็นผู้หญิงหมดเลยนะคะ ดังนั้นจะเล่าในมุมมองของเราที่มีต่อชาว Polish ผู้หญิงเท่านั้นค่า

ก่อนอื่นขอแนะนำคร่าวๆ เกี่ยวกับภูมิหลังของประเทศโปแลนด์สักนิด ด้วยความรู้จากGoogleและหนังสือที่เคยอ่านมา เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น (ผิดพลาดประการใดต้องขออภัย)

Poland คือประเทศหนึ่งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป มีพื้นที่ติดกับประเทศเยอรมัน เช็ค ยูเครน เบราลุส และอื่นๆ มีพื้นที่ใหญ่กว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านเรา 2 เท่า

https://image.dek-d.com/contentimg/2012/pay/pay2/europe_map3(1).gif

โปแลนด์ถือเป็นประเทศเกิดใหม่ที่ได้แยกตัวออกมา เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โปแลนด์อยู่ฝ่ายผู้ชนะทำให้ได้พื้นที่ของประเทศเพิ่ม ทำให้กลายเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นได้ไม่นาน ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันแพ้ ทำให้โปแลนด์ถูกเฉือนแบ่งพื้นที่ให้ประเทศอื่นๆ จนเหลือเท่านี้ และด้วยประเทศโปแลนด์อยู่ตรงกลาง เหมือนเป็นทางผ่านให้เหล่ากองทัพและผู้หลบหนีลี้ภัยเวลาเยอรมันจะไปตีกับรัสเซีย ผลเลยทำให้โปแลนด์กลายเป็นประเทศยากจนจนถึงปัจจุบัน ผู้คนก็เลยอพยพกันไปอยู่ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ครอบครัวโฮสต์แม่เราก็ถูกย้ายมา Philadelphia, USA ตั้งแต่เด็กๆ ส่วนเพื่อนออแพร์เราก็ชอบพูดว่า "ฉันจะไม่กลับไปอยู่ประเทศตัวเองอีก" (พูดแบบนี้อาจทำให้บางคนกลัวการไปโปแลนด์ แต่จริงๆประเทศเค้ามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากๆ เลยค่ะ)


ลักษณะของผู้หญิงโปแลนด์ที่เราเคยเห็น ส่วนใหญ่จะมีผิวขาวมาก ออกไปทางขาวซีด สีผมมีหลากหลายตั้งแต่บลอนด์ทองจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ตาโต จมูกโด่ง รูปร่างผอมเพรียวสูงโปร่ง ตามแบบชาวยุโรป
และที่สังเกตเห็นคือ ลักษณะคางที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงโปแลนด์คือจะแหลมและยื่นออกมาเล็กน้อย ถ้าไม่ยิ้มคือหน้าดุเลย

https://i.pinimg.com/236x/99/3f/3c/993f3c0542c42254f7e79ac84c50d5ee--polish-people-regional.jpg

คนโปแลนด์มีภาษาเป็นของตัวเองคือภาษา Polish ทั้งภาษาพูดและเขียน ซึ่งเขาค่อนข้างภูมิใจในภาษาของตนเองมาก เคยมีครั้งนึงคุยกับโฮสต์แม่เรื่องภาษาไทยมีพยัญชนะหลายตัว และขอให้โฮสต์เขียนภาษาโปแลนด์ให้ดูหน่อย ซึ่งในความรู้สึกเรา เราว่ามันคล้ายๆ ภาษาอังกฤษแหละ (ประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่ตัวอักษรคล้ายๆ ภาษาอังกฤษหมดเลยในความคิดเรา) แค่มีจุด/ขีดเพิ่ม หรือออกเสียงต่างไป แต่โฮสต์หันมามองหน้าและพูดว่า "มันไม่เหมือนภาษาอังกฤษ เขามีภาษาโปแลนด์ของเขา ตัวอักษรเค้ามากกว่าภาษาอังกฤษ"
(โอเค ขอโทษค่ะ ไม่เหมือนก็ไม่เหมือน)

https://i.pinimg.com/originals/d1/f1/17/d1f1170c69ee20acd280498236dd0015.gif

ภาษาโปแลนด์ยากนะ โฮสต์แม่เคยสอนคำเดียว คำว่า cześć แปลว่าสวัสดีในภาษาโปแลนด์ แล้วเลิกสอนเราไปเลย เพราะเราออกเสียงไม่ได้ 5555 

อยากให้ฟังเวลาคนโปแลนด์คุยกัน ภาษาโปแลนด์เป็นภาษาที่พูดเร็วและรัวมากกกกกกกกกกกกกก พอโฮสต์แม่ย้ายมาอยู่อเมริกา ก็เลยพูดภาษาอังกฤษเร็วมากกจนบางครั้งโฮสต์พ่อต้องถามว่า "What did you say?" ตั้งหลายรอบ ก็เลยต้องบอกโฮสต์ว่าให้พูดช้าๆหน่อย ภาษาอังกฤษฉันไม่ค่อยดี ฉันฟังไม่เข้าใจ ตอนแรกๆ ถึงกับให้โฮสต์เขียนโน้ตหรือส่งเมสเสจมาแทนเลย เพราะฟังไม่รู้เรื่องจริงๆ (ปีแรก ภาษาอังกฤษเราแย่มาก)


https://www.youtube.com/watch?v=9F_Iyb0c1X4


ลักษณะนิสัยคนโปแลนด์

เหมือนชาวยุโรปค่ะ คือจะไม่ได้Friendly หรือจู่ๆยิ้มให้/ทักทายคนไม่รู้จักแบบชาวอเมริกัน ตอนไปอยู่กับโฮสต์ช่วงแรกๆ คือกังวลมาก คิดว่าตัวเองทำอะไรให้โฮสต์ไม่พอใจ ทำไมโฮสต์ไม่ยิ้มเลย หน้าดุมากตลอดเวลา แต่พออยู่ไปสักพัก โฮสต์ไว้ใจเรามากขึ้นเค้าก็จะค่อยๆ เปิดเอง เริ่มคุยเล่น ยิ้มให้

จริงๆ เราว่าชาวโปแลนด์นิสัยน่ารักมากเลยนะคะ อ่อนหวาน สุภาพใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนโรแมนติกมาก อย่างเช่น เวลาโฮสต์ไปGrocery จะอะไรที่เราชอบกินมาให้โดยสังเกตเอา ไม่ได้ถาม และมันเป็นสิ่งที่เราชอบกินจริงๆ ทำให้เราเซอร์ไพรส์มาก ตอนคริสมาสต์โฮสต์ก็ซื้อของให้หลายอย่างโดยแต่ละอย่างโฮสต์พิถีพิถันเลือกจริงๆ อย่างเช่น กำไลข้อมือ โฮสต์เลือกสีเงินให้ ซึ่งในสายตาฝรั่งคนผิวคล้ำเหมาะกับเครื่องประดับทองมากกว่า แต่โฮสต์แม่บอกว่าเราไม่เคยใส่อะไรสีทองเลย เราจะใส่แต่สีเงินตลอด ก็เลยเลือกสีเงินให้ โดยกำไลมี 2 วง วงหนึ่งเป็นจี้รูปเปลือกหอยกับธงชาติอเมริกา สื่อถึงรัฐฟลอริด้าที่เราอยู่ และอีกวงเป็นจี้รูปพระโพธิสัตว์ สื่อถึงประเทศไทย (ช่างคิด แต่วินาทีนั้นคือเราแบบ นรกจะกินหัวมั้ย 555) แต่ก็appreciateโฮสต์มากๆเลย

อีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจ ชาวโปแลนด์มีความรับผิดชอบสูงมาก ทำอะไรเป็นระเบียบแบบแผน เป็นขั้นตอน วางแผนชัดเจนตลอด จริงจังกับเรื่องต่างๆ 

เราก็ไม่เคยเลี้ยงน้อง/หลานมาก่อนนะ พอได้มาเป็นออแพร์รู้สึกเลยว่าการเลี้ยงลูกเป็นอะไรที่วุ่นวาย เราแทบไม่มีเวลาส่วนตัวเลย แล้วถ้ายิ่งต้องเลี้ยงลูกด้วยแล้วไปทำงานนอกบ้านด้วย แต่โฮสต์แม่แสดงให้เราเห็นเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องยากถ้าจะทำ โฮสต์แม่ให้เวลากับลูกเต็มที่มากๆ คิดถึงอนาคตมองการณ์ไกลและเตรียมพร้อมไว้ตลอด ถ้าใครเลี้ยงทารกจะรู้ว่าเด็กโตเร็วมาก และทุกเดือนเด็กก็จะเปลี่ยนไป เราต้องมีของเล่น มีอุปกรณ์อะไรที่เหมาะกับเด็กวัยแต่ละเดือนใหม่ๆ ตลอด ซึ่งโฮสต์แม่หาเตรียมให้เราพร้อมโดยไม่ต้องรอ ยังไม่รวมถึงงานบ้าน งานครัว งานซ่อมหลอดไฟ ไปซื้อของเข้าบ้าน งานปาร์ตี้ต่างๆ ที่โฮสต์แม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวและเลี้ยงลูกไปด้วย แถมยังไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองให้แข็งแรงและดูดีอยู่เสมอ (แค่หลังคลอด 4 เดือน โฮสต์มัมกลับมาหน้าท้่องแบนราบ มี 11 line แล้วอ่า พูดแล้วก้ก้มลงมองพุงย้อยๆ ของตัวเอง) เรียกได้ว่า จริงจังกับทุกอย่าง ตอนงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ก็จะซื้อของมาประดับตกแต่งบ้าน โรแมนติกไปอีก

ส่วนครูสอนภาษาอังกฤษชาวโปแลนด์ที่เรารู้จักก็เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง และทำงานเป็นระเบียบแบบแผนเช่นกัน เป็นครูที่เราชอบมากที่สุดในบรรดาครูอาสาที่ห้องสมุด เพราะครูจะเตรียมแผนการสอนมาทุกครั้ง สอนได้เข้าใจมากๆ และคุมเวลาได้ดี แถมกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ก็น่าสนใจไม่ซ้ำกันเลย (ผิดกับครูอาสาบางท่านที่เรารุ้สึกว่าเค้าไม่ได้ตั้งใจสอนเท่าไร เหมือนมาคุยเล่น ซึ่งตอนแรกๆ เราก็โอเคได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษ แต่พอหลายๆ สัปดาห์ก็รู้สึกว่เราจะคุยกันแต่เรื่องเดิม ไม่ได้พัฒนาอะไรก็เลยเลิกเรียนไปเอง)

ซึ่งนิสัยของชาวโปแลนด์เรารู้สึกประทับใจมาก (Feminism ก็มา ฉันไม่ต้องมีผู้ชายก็ได้ ฉันทำเองได้ทุกอย่าง 555 ก็เลยโสดจนทุกวันนี้)

แต่ลักษณะนิสัยที่ไม่ค่อยไว้ใจใครถ้าไม่สนิท และเป็นคนละเอียดมากๆแบบนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะโฮสต์รักลูกมาก และไม่ไว้ใจออแพร์ง่ายๆ จนทำให้ออแพร์คนใหม่ที่มาต่อจากเราอยู่ได้ไม่ครบปี เพราะรู้สึกกดดันที่โฮสต์เฝ้าจับตามองตลอดเวลา


พูดถึงวัฒนธรรมชาวโปแลนด์ 

อยู่ที่อเมริกาเราไม่ค่อยได้เรียนรู้วัฒนธรรมโปแลนด์เท่าไร เพราะด้วยทำเลที่อยู่ตอนนั้น และเป็นปีแรกของการมาอเมริกาด้วย ก็เลยได้แต่เรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกัน แต่ที่จำได้คือ อาหารโปแลนด์แสนอร่อยที่โฮสต์แม่ นานๆ จะมีเวลาทำให้กินบ้าง และบางทีโฮสต์ยายก็ทำ/ซื้อส่งมาให้ ได้แก่

Pierogi (เพียโรกี) คือ เกี๊ยวโปแลนด์ อร่อยมาก มีหลายไส้ เช่น ไส้ผัก ไส้เนื้อ ไส้ชีส เป็นต้น เมนูนี้ให้สามผ่านเลย
https://food.fnr.sndimg.com/content/dam/images/food/fullset/2014/2/6/1/CC_emeril-polish-pierogies-recipe_s4x3.jpg.rend.hgtvcom.826.620.suffix/1483736764692.jpeg

Barszcz หรือซุปบีทรูท ก็จะเอาเกี๊ยว Pierogi เนี่ยแหละใส่ลงไปด้วย เป็นอาหารเรียกน้ำย่อย เราไม่ค่อยชอบจานนี้เท่าไร เพราะเราไม่ชอบบีทรูท แต่กินได้


https://liemgthailand.com/wp-content/uploads/2019/02/2562-02-21-10_10_21-Barszcz-Google-Search.png

Gołąbki แปลว่า "little pigeons" คือกำหล่ำปลียัดไส้เนื้อและข้าว ในซอสมะเขือเทศนั่นเอง จานนี้อร่อยยยยย

https://www.opowiastka.com/wp-content/uploads/2018/04/go%C5%82%C4%85bki.jpg

Żurek อันนี้ก็อร่อย โฮสต์ทำให้กินครั้งเดียวตอนวันอีสเตอร์ เพราะเป็น traditional food for Easter season เป็นซุปเปรี้ยวที่กินกับไส้กรอกและไข่ต้ม อันนี้ก็อร่อยยยยยย

https://cdn.tasteatlas.com/Images/Dishes/dc65330f62944b5aa45b514f9db24f4f.jpg?w=600&h=450

ประเพณีของชาวโปแลนด์อย่างหนึ่งที่เราจำได้ คือ 

การแบ่งขนมปังเวเฟอร์บางๆ ที่เรียกว่า "opłatek" ให้กันและกันในคืนวันคริสมาสต์อีฟ

https://aleteiaen.files.wordpress.com/2018/12/WEB3-OPLATEK-CHRISTMAS-EVE-TRADITION-FotoKatolik-CC-BY-SA-2.0.jpg?quality=100&strip=all&w=620&h=310&crop=1

โดยเวเฟอร์นี้ทำมาจากแป้งและน้ำ ทำให้เป็นแผ่นบางๆ และพิมพ์รูปเกี่ยวกับคริสตศาสนา เช่น รูปพระแม่มารีอุ้มพระเยซูคริส เป็นต้น โดยคนที่อาวุโสสุดในบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อจะหักแบ่งเวเฟอร์นี้ให้กับคนในครอบครัวและคนอาวุโสรองลงมาก็จะทำแบบเดียวกันจนครบทุกคน เพื่อเป็นการขอโทษและขอบคุณสำหรับปีที่ผ่านมา และอวยพรให้มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา แล้วจึงกินชิ้นเวเฟอร์นั้นเพื่อเป็นการรับคำอวยพร หลังจากนั้นก็จะร่วมรับประทานอาหารมื้อพิเศษเล็กๆ กันภายในครอบครัว ถือเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยความหมาย 

ปิดท้ายด้วย นามสกุลชาวโปแลนด์ที่เห็นปุ๊บรู้ปั๊บ 

เพราะมักจะลงท้ายด้วยคำว่า -ska, -ski รวมถึง -cki, -dzki, และ -cka/-dzka เช่น Borkowski, Czerwinski, Kalinowski, Nowakowski , Walczak เป็นต้น

https://ih1.redbubble.net/image.85871838.9853/pp,550x550.jpg



















วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563

ประสบการณ์การเป็นออแพร์กับโฮสต์เปอร์เซีย

สวัสดีค่ะ หายหน้ากันไปนานเลย แบบว่าจบโครงการออแพร์ในอเมริกามาจะครบ 1 ปีแล้ว เดี่ยวนี้โลกก็หมุนไปเร็วมาก จนไม่รู้จะเขียนอะไรเกี่ยวกับออแพร์แล้ว เพราะข้อมูลไม่อัพเดท

ตามสัญญา วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์การเป็นออแพร์กับโฮสต์เปอร์เซีย 2 ปีเต็ม
โดยปีแรก โฮสต์พ่อเป็นชาวเปอร์เซียเกิดที่อิหร่าน แต่ไปเติบโตที่แคนาดา และย้ายมาอยู่อเมริกาตอนโตแล้ว ส่วนโฮสต์แม่เป็นยุโรปค่ะ

ส่วนปีที่สอง โฮสต์อีกบ้าน เป็นชาวเปอร์เซียเกิดที่อิหร่านทั้งคู่ คนแม่ย้ายไปอยู่แคนาดาตั้งแต่เด็กๆเลย และย้ายมาอเมริกาตอนโตแล้ว ส่วนคนพ่อคือเกิดและเติบโตที่อิหร่านเลย แล้วค่อยมาอยู่อเมริกาตอนได้ทุนแลกเปลี่ยนเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง


ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก "ชาวเปอร์เซีย" กันก่อน

ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ชาวเปอร์เซีย ปัจจุบันคือชาวอิหร่านเท่านั้น แต่ถ้านับเอาอาณาจักรเปอร์เซีย ยุคโบราณ นอกจากพื้นที่ตุรกี อียิปต์แล้ว ยังกินอาณาเขตเข้าไปในยุโรป อีกนิดหน่อย

พูดให้ง่ายๆ เห็นภาพชัดเจน ชาวเปอร์เซียก็คือแขกขาวนั่นเอง (ในสมัยโบราณจะใช้คำว่า แขกเทศ) ส่วนใหญ่จะมีผิวขาว หรือคล้ำเล็กน้อยคล้ายๆ ผิวคนไทย หน้าตาคมเข้ม จมูกโด่ง ที่สำคัญผมดก ขนดกมาก ขนาดโฮสต์คิดส์ที่เราเลี้ยงเกิดมาก็ผมเต็มหัว ขนคิ้วหนาเตอะ แล้วส่วนใหญ่ชาวเปอร์เซียจะมียีนผมหยัก ไม่ค่อยเจอใครผมตรง แล้วก็มีบางคนผมสีทอง หน้าตาไปทางคนยุโรป อย่างโฮสต์แม่บ้านที่สองของเรา (เพราะอย่างที่บอกไปว่า เปอร์เซียโบราณมีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงยุโรปด้วย ก็เลยได้ยีนผมสีทองมา แต่บางคนก็จะหน้าตาออกไปแนวแขกอินเดีย


ชาวเปอร์เซีย ผู้หญิงก็สวย ผู้ชายก็หล่อ ยืมรูปมาจากละครบุพเพสันนิวาส และเว็บ https://th.phoneky.com/wallpapers/

ด้วยความเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต จึงมีทั้งภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง โดยชาวเปอร์เซียจะพูดภาษาฟาร์ซี (Farsi) ไม่ใช่ภาษาเปอร์เซียนนะ หลังจากที่อยู่บ้านโฮสต์เปอร์เซียมา 2 ปี ได้ภาษาฟาร์ซีมาไม่กี่คำ เช่นคำว่า Salaam (อ่านว่า ซาลอม ลากเสียงยาวหน่อย) แปลว่า สวัสดี เวลาทักทายกันก็จะจับมือหรือสวมกอดกัน พร้อมกับชนแก้มกันขวา-ซ้าย บางครอบครัวก็ชนแก้มกันสามรอบ ขวา-ซ้าย-ขวา

คำว่าขอบคุณ คือ Mersi (อ่านว่า เมอซี/ เมิสซี) 

ส่วนคำว่า Joon (จูน) แปลว่าที่รัก ใช้ต่อท้ายชื่อคน


และก็มีตัวอักษรเป็นของตัวเองด้วย โดยจะมีลักษณะเป็นเส้นและจุด คล้ายตัวอักษรในภาษาอาหรับ
แต่โฮสต์บอกว่าคนอิหร่านทุกคนไม่ใช่ชาวเปอร์เซียนะ เพราะมีทั้งชาวอาร์เมเนีย ชาวอาหรับ ฯลฯ หลายประเภทมาก และภาษา/ตัวอักษรก็แตกต่างกันไป อาจจะมีบางคำที่เหมือนกัน แต่จังหวะการพูด ชาวเปอร์เซียจะชอบพูดแบบลากคำ (เสียงยาน) กว่า ซอฟต์กว่า (อันนี้โฮสต์บอกมา เราเองยังแยกไม่ออก)


ส่วนทางศาสนา ชาวเปอร์เซียจะนับถือลัทธิ โซโรอัสเตอร์ หรืออิสลาม โซโรอัสเตอร์ โดยจะเน้นความเรียบง่าย และบูชาไฟ กินหมูได้จ้า

มีวันปีใหม่เป็นของตนเอง โดยในแต่ละปีจะแตกต่างกันไปไม่ตรงวัน เพราะไม่ได้ใช้ปฏิทินสุริยคติเหมือนปฏิทินสากล แต่จะอยู่ช่วงประมาณ 20 หรือ 21 มีนาคม และมีการนับศักราชของตนเอง โดยจะเรียกวันปีใหม่ว่า โนรูส (Nowruz) โดย No มีความหมายว่า ใหม่ และ rouz แปลว่า วัน เป็นงานเฉลิมฉลองวันแรก
ของเดือนแรกในปฏิทินอิหร่าน และตรงกับวันวสันตวิษุวัต (ฤดูฝน) พอดี 

โดยวันปีใหม่เปอร์เซียนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ การเริ่มต้นใหม่ และการถือกำเนิดใหม่ของธรรมชาติ โดยในคืนก่อนวันปีใหม่จะมีการตั้งโต๊ะบูชา (คล้ายเทศกาลสารทไทย สารทจีน) โดยมีของมงคลที่มีความหมายวางบนโต๊ะ และจุดเทียนตามฤกษ์ โดยดูแลไม่ให้เทียนดับ จนเข้าสู้วันปีใหม่

https://media.npr.org/assets/img/2016/03/20/nowruz-turmericsaffron_new-79a80147865e225587877aee6ddb7f82f8b64ef1-s1600-c85.jpg
บนโต๊ะจะมีของที่มีความหมายมงคล เช่น หญ้า หมายถึงความเจริญงอกงาม ชีวิตใหม่, ไข่ หมายถึง การถือกำเนิด (เหมือนเทศกาลอีสเตอร์), ปลาทองในโหลแก้ว เปรียบเสมือน ชีวิต, กระจก สะท้อนถึงอดีต และสิ่งชั่วร้าย, ขนมหวานของชาวเปอร์เซียที่ทำจากน้ำตาลและถั่ว, แอ้ปเปิ้ล, และบางบ้านก็จะวางเหรียญและเงินไว้ด้วย เพื่อขอให้ปีใหม่ร่ำรวย เป็นต้น

ที่ตลกคือ โฮสต์เล่าว่ามีปีนึงซื้อโหลใส่ปลาทองมาเพื่อวันปีใหม่ แต่โหลเตี้ยไป หลังจากปีใหม่ไม่นานปลาทองก็กระโดดออกจากโหลมาตาย ปีนี้เลยต้องซื้อปลาทองมาใหม่ 

ไฮไลท์ของวันปีใหม่คือ มีการแจกแต๊ะเอีย โดยคนที่อาวุโสที่สุดในบ้าน นั่นคือโฮสต์พ่อนั่นเอง ชอบจังเทศกาลนี้ 5555  การเฉลิมฉลองยังไม่จบแค่นี้ เมื่อถึงวันที่ 13 ของปีใหม่เปอร์เซีย จะเป็นวันออกจากบ้าน คือทุกคนจะออกจากบ้านเพื่อไปรวมตัวกับเพื่อนๆ และครอบครัว โดยจะพบว่าในสวนสาธารณะเต็มไปด้วยชาวเปอร์เซียมาตั้งแคมป์ ปิ้งบาร์บีคิว ทานอาหารและร้องเพลง เต้นรำร่วมกัน และจะนำหญ้าที่ตั้งไว้บนโต๊ะบูชาไปโยนทิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย (ห้ามเก็บไว้) 


เรื่องอาหารการกิน 

ชาวเปอร์เซียรับประทานข้าวเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะนิยมทานข้าวBasmati ของอินเดีย คือเป็นเม็ดรีๆยาวๆ บางครั้งก็มีการใส่ใบdrill ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่ว ลูกเกด และเครื่องเทศลงไป เช่น Saffron ทำให้ข้าวมีสีสันน่ารับประทาน โดยจะทานคู่กับKebab, แกงหรือสตูว์ (ซึ่งมีลักษณะคล้ายแกงอินเดีย คือมีส่วนผสมของถั่ว แต่ไม่มีกลิ่นฉุน และไม่เผ็ด), สลัดที่โรยเฟต้าชีส, และโยเกิร์ต (เป็นโยเกิร์ตรสเค็ม ไม่ใช่โยเกิร์ตผลไม้) และจะนิยมรับประทานเนื้อแกะ ชีวิตนี้ก็เพิ่งเคยกินโยเกิร์ตกับข้าวเป็นครั้งแรกนี่แหละ บอกเลยว่าอาหารเปอร์เซียอร่อยมากนะ แต่ไม่เผ็ดเลย

https://irandoostan.com/dostcont/uploads/2017/11/Travel-to-Iran-Iran-tours-Gheymeh-Nesar.jpg


https://www.destinationiran.com/wp-content/uploads/2011/01/Iranian-Food-Restaurants.jpg

วิธีการหุงข้าวของชาวเปอร์เซียก็จะมีวิธีเฉพาะ คล้ายการ "ย่างข้าว" โดยทาน้ำมันบางๆ ไว้ที่ก้อนหม้อและหุงจนข้าวก้นหม้อกรอบ บางครั้งก็ไหม้เกรียมไปเลย กลายเป็น Crispy rice  บางครั้งก็จะฝานมันฝรั่งบางๆ วางลงไปที่ก้อนหม้อก่อนใส่ข้าวลงไปหุงด้วย เรียกว่า Tahdig หรือบางครั้งก็ใช้ขนมปังเปอร์เซียนใส่ลงไปแทนมันฝรั่ง อร่อยดี เป็นของโปรดของเราเลย

https://blogger.googleusercontent.com/img/proxy/AVvXsEh-KEXLDDClwWUy2IBJONZGm7moQYAbgYe5aS_BsgPJsr4QtwFEvdM7T5iVQfoR2ucUH_YI6JvzfpnEQoX-ocncFwYn6v44u6JqlN1k8HvBZy8FnARtIL041BvF0Pg3HhVI4zmnuhTHA4Z8sICah6qD4lLaR6A5Xqs0i5hQONuT0A3FJrYZP4lKU0coSkJTKv4oKwQ9CSlb=


ที่เราชอบกินอีกอย่างหนึ่งคือ ขนมปังของชาวเปอร์เซีย อร่อยมาก ทำมาจากข้าวบาร์เล่ย์ มีหลายแบบ แบบโรยงา แบบบางกรอบ แบบคล้ายๆ แป้งตอร์ติญญ่า 

https://www.tappersia.com/wp-content/uploads/2020/01/nan55.jpg


เคยไปที่Persian market เห็นเค้าอบขนมปังร้อนๆ แผ่นเบอเร่อ ทุกคนจะซื้อแล้วมาตัดๆ เป็นชิ้นเท่าฝ่ามือ และแช่ตู้เย็นเก็บไว้ บางทีก็จะกินคู่กับข้าวและเคบับ หรือว่าบางทีก็กินเป็นอาหารเช้า โดยทาเฟต้าชีสและราดน้ำผึ้ง อร่อยมากๆ 

https://c8.alamy.com/comp/K6KG6A/fars-province-shiraz-iran-18-april-2017-shop-at-the-bakery-the-baker-K6KG6A.jpg


https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcT4e8_RIieh8QP_vlfGdnzLNegR-D9c8tQb-WSOUCefpksurfTi&usqp=CAU

ส่วนขนมหวานของชาวเปอร์เซีย วัตถุดิบส่วนใหญ่ทำมาจากถั่วชนิดต่างๆ โดยเฉพาะพิตาชิโอ้ ไม่ใส่แป้งเลย มีรสชาติหวานๆ ถือว่าเป็นขนมที่เฮลตี้ต่อสุขภาพ แต่เราไม่ค่อยชอบเท่าไร กินแล้วไม่ละมุน หวานปะแล่มๆ มีอันที่เราชอบอยู่ไม่กี่อย่าง แต่จำชื่อไม่ได้แล้ว และทานคู่กับน้ำชาของเปอร์เซีย ซึ่งหอมมาก และไม่หวานเลย ไม่มีคาเฟอีนด้วย กินแล้วบำรุงสุขภาพและผ่อนคลาย

https://i.pinimg.com/originals/f1/6e/bb/f16ebb0f159fbf4a3ae6a54fbf167aef.jpg


นิสัยเฮลตี้อีกอย่างของชาวเปอร์เซียคือ ชอบทานผลไม้มาก ทุกๆ บ้านจะมีตะกร้าใส่ผลไม้สด พร้อมมีดเล่มเล็กและจานวางไว้ เวลาแขกมาบ้านก็จะแจกมีดกับจานให้คนละชุด และก็ปอกผลไม้กินกันเองเลย กินทีเยอะด้วย นอกจากผลไม้ ก็จะมีแตงกวาวางไว้ในตะกร้าให้ด้วย กัดกินกันสดๆเลย


สำหรับวัฒนธรรมที่เรารู้สึกแปลกๆ ไม่เหมือนใครคือเวลาเชิญแขกชาวเปอร์เซียมารับประทานอาหารร่วมกันที่บ้าน หลังทานอาหารเสร็จผู้ชายก็จะแยกกันไปคุยเม้าท์มอยกับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็จะจับกลุ่มเม้าท์มอยกับผู้หญิง 

มาถึงเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ ลักษณะนิสัยของชาวเปอร์เซีย


** ขอบอกก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาเขียนเพื่อสร้างความแตกแยก หรือดูหมิ่น หรือracist ใครค่ะ แต่เขียนจากความรู้สึกและประสบการณ์ของเราตลอด2 ปีในอเมริกาเองเพียงฝ่ายเดียว บางเรื่องอาจจะไม่จริงสำหรับใครบางคน และชาวเปอร์เซียทุกคนไม่ได้เป็นอย่างที่เราเจอทุกคนค่ะ อาจมีการใช้คำที่ไม่สุภาพแต่เป็นไปเพียงเพื่ออรรถรสและให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้นค่ะ**

ลักษณะนิสัยของโฮสต์เปอร์เซียที่เราได้พบเจอ เราว่าคล้ายๆ คนเอเชีย

1. จะเป็นพวกชอบพูดคุย ช่างซักช่างถาม 

2. ชอบเต้นรำ ชอบเสียงดนตรี ทั้งผู้หญิงผู้ชาย

3. สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเปอร์เซียไม่ค่อยทำอะไร มีหน้าที่ทำงานหาเงินดูแลครอบครัว แต่ก็แล้วแต่คนด้วย เพราะบางคนก็ทำงานบ้าน ทำอาหารได้ แต่บางคนไม่แตะงานบ้านเลย และเจ้าอารมณ์มากๆ เวลาทะเลาะกันชอบตะคอกใส่เสียงดังลั่นบ้าน ไม่ค่อยจะขอโทษก่อน ทิฏฐิสูง

4. รักครอบครัวตัวเองมาก ถึงแม้จะบอกว่าtreats au pair like part of family แต่แตกต่างจากโฮสต์ปู่ย่า ตายายมาก ที่จะเอ็นดูเรา รักเรามาก อารมณ์เหมือนเมืองไทย ที่คนแก่มักจะเอ็นดูเด็ก ยิ่งถ้ามีสัมมาคารวะ ดูแลหลานเค้าดียิ่งรักตายเลย เวลาอยู่กับโฮสต์ปู่ย่าตายายก็จะมีอาหารอร่อยๆ ให้ทานเหลือเฟือ ขนาดเคี้ยวตุ้ยๆ อยู่ในปากก็ยังจะบ่นว่าเราไม่ยอมกินเลย ตักใส่จานเราแทบกินไม่ทัน


5. ค่อนข้างขี้เหนียว ถ้าเทียบกับฝรั่งที่มีค่าเงินสูงกว่า อันนี้เราวิเคราะห์เอง เนื่องจากประเทศอิหร่านประสบปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีการคอรัปชั่นและสงครามกลางเมือง ครอบครัวที่มีอันจะกินก็พากันอพยพออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่ก็อพยพไปแคนาดากัน ค่าเงินของอิหร่าน 1 rial = $0.000024 อารมณ์เหมือนเงินบาทไทยVSเงินกีบลาว ถึงแม้ว่าครอบครัวโฮสต์จะรวยและไปเติบโตที่แคนาดา แต่ช่วงที่อพยพก็มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอยู่บ้าง ทั้งการปรับตัวด้านภาษา ความเป็นอยู่ และชาวเปอร์เซียชอบอยู่ด้วยกันเองเป็นสังคมคนเปอร์เซีย การเลี้ยงดูวัฒนธรรมธรรมเนียมต่างๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดมาอย่างเข้มข้น

จบไปแล้วกับเรื่องราวประสบการณ์การเป็นออแพร์ให้โฮสต์เปอร์เซีย ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก ช่วยให้เราเปิดโลกมากขึ้น ได้รู้จักชาวเปอร์เซีย ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้ลองทานอาหารรสชาติใหม่ๆ ที่ถ้าอยู่เมืองไทยคงไม่รู้จัก


แหล่งอ้างอิงข้อมูล http://anyflip.com/codsc/mdjg/basic/51-66







วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

Stuck at home with kids from COVID-19

สำหรับออแพร์แล้ว โรคระบาด COVID 19 อาจไม่น่ากลัวเท่า การที่โรงเรียนปิดและต้องอยู่บ้านกับเด็กๆและโฮสต์ที่ work form home 1 เดือนเต็ม !! (หรืออาจนานกว่านั้นหากยังไม่สามารถควบคุมโรคได้)


วันนี้เรามีไอเดีย กิจกรรมที่ทำกับเด็กๆ ขณะติดอยู่บ้านเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด19 ระบาด มานำเสนอ ไปดูกันเล้ยยยย !!

1. Set a schedule

เพราะการอยู่บ้านเลี้ยงเด็กแบบนี้ ไม่ใช่การพักผ่อน มันคือวันทำงานของออแพร์ และยิ่งหากเด็กที่เลี้ยงเป็นเด็กวัยเรียน พลังงานเหลือล้น พูดเก่ง เลือกเก่ง เบื่อง่ายด้วยแล้ว ออแพร์ควรมีแผนกิจกรรมของแต่ละวัน โดยอาจวางแผนร่วมกับเด็กๆ และโฮสต์ 

สามารถset schedule กิจกรรมที่จะทำแต่ละวันโดยอิงจากเทศกาลต่างๆ ที่กำลังมาถึง เพื่อไม่ให้แต่ละวันน่าเบื่อเกินไป เช่น ทำพายในวัน Pi day แต่งกายสีเขียวในวัน St.patrick day และดูหนังกันในวัน World theatre day เป็นต้น

2. Start the day with exercise


การออกกำลังกาย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับโรคร้าย และเป็นการเผาผลาญพลังงานที่ดี


3. Home school



เพราะเด็กๆ ต้องหยุดเรียน โฮสต์บางบ้านอาจกังวลเรื่องการเรียนที่หยุดชะงัก ออแพร์และโฮสต์สามารถเซ็ตเวลาเรียนได้ โดยเรียนจากบทเรียนในหนังสือ หรือการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต มีคอร์สออนไลน์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น 


4. Teach about COVID 19


ให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับโรค COVID 19 อย่างง่ายๆ และวิธีป้องกันตนเอง วิธีการล้างมือที่ถูกต้องและนานอย่างน้อย 20 วินาที ซึ่งเท่ากับความยาวของเพลง Happy birthday พอดี

5. Cooking


ให้เด็กๆได้เป็นลูกมือทำอาหาร กับเมนูง่ายๆ เช่น แพนเค้ก คุ้กกี้ แซนวิช ซุป ออมเล็ต ช่วยให้เด็กๆเพลิดเพลิน และเจริญอาหารด้วย หมดเวลาไปอีกครึ่งวัน

6. Virtual Museum Tours  /Visual field trip (Video)

สามารถพาเด็กๆ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง สวนสัตว์ ฟาร์ม อุทยานแห่งชาติ ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก หรือแม้กระทั่งไปเยือนดาวอังคาร ! ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ด้วยมุมมองเสมือนจริง 360 องศา


สามารถคลิีกได้ที่link ด้านล่างนี้เลย

👉 https://docs.google.com/document/d/1SvIdgTx9djKO6SjyvPDsoGlkgE3iExmi3qh2KRRku_w/preview?fbclid=IwAR3S2l-NR4GvGZ4nZA9NJLPBDVlf4MyeB-74phPZuQiI7K62gLRbOAzKihg&pru=AAABcQdF0R8*FG4Wzepp76ZA91MU9r7YGQ


7. Do some art and craft


กิจกรรมศิลปะอย่างวาดรูป ระบายสี ประดิษฐ์สิ่งของ ปั้นดินน้ำมัน และการพับกระดาษ (พับจรวด รถแข่ง กบ แล้วมาแข่งกัน) ยังเป็นกิจกรรมยอดนิยมของเด็กๆ ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และสมาธิได้ดี ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เด็กๆสามารถทำได้ด้วยตนเอง ออแพร์ก็อาศัยจังหวะนี้ได้ปลีกตัวไปทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆหรือพักเหนื่อย (แต่ยังkeep an eye on the kidsนะ) สามารถดูไอเดียกิจกรรมศิลปะง่ายๆที่เหมาะกับเด็กๆได้ที่ Pinterest เลย


8. Do gardening


ใครมีพื้นที่หลังบ้าน อาจชวนเด็กๆไปรดน้ำต้นไม้ ตัดแต่งกิ่ง ปลูกผัก ทำสวน เก็บดอกไม้ ให้ได้มีกิจกรรมนอกบ้านบ้าง คลายความอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน

9. Play sport


ถ้าบ้านโฮสต์ใครไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวาง กีฬานี้อาจเป็นกีฬาง่ายๆ ที่ใช้พื้นที่ไม่มาก หรือใช้อุปกรณ์ที่ผลิตเอง เช่น โยนบอล กระโดดเชือก โยนโบว์ลิ่ง โยนห่วง ฯลฯ หรือจะเป็นเกมกีฬาพื้นบ้านของไทย อย่างแปะแข็ง ลิงชิงบอล ก็สนุกและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปด้วย

10. Play Hide and seek / treasure hunt


เกมเล่นซ่อนแอบ เป็นเกมง่ายๆที่สนุกและโปรดปรานของเด็กๆ ช่วยเผาผลาญพลังงานได้ดี นอกจากนี้ยังดัดแปลงเป็นเกมล่าสมบัติ หรือล่าไข่แบบegg hunt ในวันEaster Day เป็นต้น อาจสร้างบรรยากาศด้วยการแต่งเรื่องราว และมีแว่นขยายให้เด็กๆได้จำลองการเป็นนักสืบ

11. Storytelling /Puppet show/ Shadow play


ขาดไม่ได้เลยกับการอ่านหนังสือ และเพิ่มความน่าสนใจด้วยการเล่านิทานหุ่นมือ เด็กๆ จะตื่นตาตื่นใจไปกับละครเงา ที่ทำได้ง่ายๆ เพียงอยู่ในห้องมือ นำผ้าบางๆมาขึงเป็นฉาก และใช้ไฟฉายทำให้เกิดเงา การเลื่อนหุ่นเข้าใกล้/ถอยห่างทำให้เงาขยายใหญ่ขึ้น/เล็กลง รับรองว่าเด็กๆจะสนุกเพลิดเพลินกันแน่นอน

12. Music time (Sing & Dance)


ปลดปล่อยอารมณ์ไปกับเสียงเพลง และการเต้นเข้าจังหวะแบบไม่ต้องแคร์ใคร

13. Do household together

สอนให้เด็กๆ รู้จักเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ และช่วยทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น ล้างจาน พับผ้า ช่วยฝึกให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบ และแบ่งเบาภาระงานของออแพร์ด้วย

14. Card game/Boardgame


การนั่งล้อมวงเล่นเกมกระดานหรือการ์ดด้วยกันเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สนุก และได้พักสายตาจากหน้าจอโทรทัศน์และโทรศัพท์ สามารถเล่นด้วยกันได้หลายคน และยังฆ่าเวลาได้ดี เพราะแต่ละเกมใช้เวลาพอสมควรเลย

15. watch movie

บางครั้งก็ต้องมีช่วงเวลารีแลกซ์บ้าง ดูหนังด้วยกัน ใช้เวลาครอบครัวด้วยกัน พักเหนื่อยจากกิจกรรมใช้แรงงาน

16. Play Bubble

เชื่อว่าไม่มีเด็กคนไหนไม่ชอบลูกโป่งฟองสบู่ แถมยังทำเองได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้น้ำยาล้างจานหรือสบู่ผสมน้ำ และใช้ลวดดัดเป็นห่วง


17. hop-scotch / Foot hand



กิจกรรมทางกายอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเผาผลาญพลังงานได้ดีคือ เกมตั้งเต และเกมมือเท้า ช่วยฝึกการทรงตัว และประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตา มือ และเท้า เป็นเกมโปรดตอนเด็กๆ ของเราเลย


18. Backyard Picnic / Camping

ถูกจำกัดบริเวณ ก็ตั้งแคมป์ในสวนหลังบ้านซะเลย เปลี่ยนบรรยากาศซะหน่อย


19. Make a funny video / Write a diary


เนื่องจากการ Lockdown ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ในชีวิตของใครหลายคน เราอาจจะบันทึกวิดีโอ หรือให้เด็กๆ เขียนไดอารี่กิจกรรมที่ทำประจำวัน หรือแม้กระทั่งการอัดคลิปวิดีโอสั้นๆ เพื่อความสนุกสนาน เช่น การใช้แอพพลิเคชัน Tik tok ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียสำหรับทำกับเด็กๆ




Hope everything's gonna be better soon!